April 27, 2024

ทีเคพาร์ค ตอกย้ำภารกิจการสร้างพื้นที่เรียนรู้ไม่สิ้นสุด เผยโฉมใหม่แอป “TK Read” ตอบโจทย์นักอ่านยุค 5G มุ่งสู่ห้องสมุดดิจิทัลระดับชาติ

สถาบันอุทยานการเรียนรู้ หรือ ทีเคพาร์ค เร่งพัฒนาพื้นที่แห่งการเรียนรู้แบบออนไลน์ สร้างแหล่งเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด เปิดตัวแอปพลิเคชัน “TK Read” เวอร์ชั่นใหม่ แพลตฟอร์มสำหรับอ่านหนังสือออนไลน์ ภายใต้แนวคิด “ห้องสมุดดิจิทัลสาธารณะที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศ” หลังสถิติพบยอดการยืมหนังสือออนไลน์ช่วงโควิด-19 เพิ่มขึ้น 160% ในปี 2564 โดยปรับฟีเจอร์ใหม่เน้นดีไซน์ทันสมัย เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ที่จะเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับนักอ่าน และ
นำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาใช้ เพื่อให้ระบบมีความเสถียร สามารถรองรับการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของนักอ่านในอนาคต พร้อมตั้งเป้ามุ่งมั่นสู่การเป็นห้องสมุดดิจิทัลระดับชาติ

นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า ในยุคที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว ได้เข้ามามีบทบาทในไลฟ์สไตล์ประจำวันของทุกคน เพียงแค่ออนไลน์ก็ทำให้เข้าถึงบริการและข้อมูลต่างๆ ได้ง่าย สะดวก ทุกที่ทุกเวลา พื้นที่การเรียนรู้กำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง เราไม่สามารถให้บริการในรูปแบบเดิมได้อีกต่อไป การปรับตัวให้ทันกับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น จึงเป็นภารกิจหลักที่เราให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ทีเคพาร์ค ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง จึงได้ปรับปรุงแอปพลิเคชันห้องสมุดดิจิทัลเวอร์ชันใหม่ จาก TK Park Online Library ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2558 สู่แอปพลิเคชัน ‘TK Read’ โฉมใหม่ ภายใต้แนวคิด “ห้องสมุดดิจิทัลสาธารณะที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดของประเทศไทย” ซึ่งจะมาช่วยตอบโจทย์พฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยจากสถิติการยืมหนังสือในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด -19 มีสถิติยืมหนังสือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10,000 ครั้งต่อเดือน ในที่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิดรุนแรงต้นปี 2563 ยอดการยืมเพิ่มขึ้นสูงหลายเท่าตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดือนเมษายน 2563 มีการยืมอีบุ๊คกว่า 90,000 ครั้ง และในปี 2564 พบว่า มียอดการยืมทั้งปีรวม 400,000 ครั้ง โดยปัจจุบัน มีการยืมกว่า 30,000 ครั้งในแต่ละเดือน และมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 – 3,000 คน

สำหรับแอปพลิเคชัน “TK Read” โฉมใหม่ได้รับการออกแบบเพื่อตอบสนองต่อเทรนด์การอ่านและไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนรักหนังสือที่นิยมอ่านในรูปแบบของออนไลน์เพิ่มมากขึ้น พร้อมให้บริการอีบุ๊ก (e-Book) ภาษาไทยจากทุกสำนักพิมพ์ชั้นนำของประเทศกว่า 3,600 เล่ม อีแมกกาซีน (e-Magazine) 27 ชื่อเรื่อง จำนวน 788 เล่ม ออดิโอบุ๊ก 111 ชื่อเรื่อง จำนวน 529 เล่ม และคอร์สออนไลน์กว่า 100 คอร์ส ซึ่งทั้งหมดจะมีการมาอัปเดตเพิ่มเติมเข้ามาในทุกเดือน โดยมีฟีเจอร์เด่นที่จะทำให้การอ่านง่ายขึ้น ได้แก่

  • Versatile – การรองรับการใช้งานได้ในทุกรูปแบบ ที่สามารถเลือกอ่านได้ทั้งในรูปแบบ PDF และ E-PUB รองรับการใช้ทุกอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเลต และ E-Reader ทั้งระบบ iOS Android หรือผ่านเว็บไซต์ทาง https://read.tkpark.or.th
  • Smart Search – การคัดหนังสือที่เหมาะสมและการค้นหาที่สะดวก โดยการแนะนำหนังสือที่เหมาะสม จากการวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์และความสนใจของนักอ่าน และค้นหาหนังสือจาก คำ หรือประโยคในเนื้อเรื่อง พร้อมการคั่นหน้าหนังสือด้วยบุ๊กมาร์กทำให้สามารถกลับมาอ่านหน้าเดิมได้ และการเชื่อมต่อข้อมูลการอ่านในทุกอุปกรณ์อัตโนมัติ สามารถกลับมาอ่านต่อเนื่อง โดยที่ไม่ต้องเพิ่มที่คั่นหน้า
  • Ease your eyes – เป็นมิตรต่อสายตา สามารถปรับขนาดตัวอักษรตามความถนัด เปลี่ยนสีพื้นหลังให้สบายตาได้ 4 โหมด ทั้งโหมดปกติ โหมดถนอมสายตา โหมดกลางคืน และโหมดสีเทา พร้อมโหมดสำหรับให้หนังสืออ่านออกเสียงเมื่ออ่านจากไฟล์ EPUB
  • Stress Free – ใช้งานสบายใจ ไม่มีค่าปรับ โดยการแจ้งเตือนกำหนดการรับหนังสือจอง และกำหนดการส่งคืน ระบบจะคืนหนังสืออัตโนมัติ และไม่พลาดทุกการเคลื่อนไหว กดติดตามนักเขียนที่ใช่ สำนักพิมพ์ที่ชอบ หมวดหมู่หนังสือที่สนใจ หนังสือเข้าใหม่เมื่อไหร่ ระบบจะแจ้งเตือนทันที เมื่อยืมแล้ว สามารถดาวน์โหลดมาเก็บไว้อ่าน ขณะออฟไลน์ได้
  • Reading Tracker – เก็บข้อมูลการอ่าน แสดงผลชั่วโมงการอ่านสะสมได้ พร้อมเก็บประวัติรายชื่อหนังสือที่อ่าน และสามารถจดโน้ตลงในหนังสือได้ทันที (เฉพาะ iOS)

“ทีเคพาร์ค ยังคงมุ่งมั่นการสร้างพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ไม่มีข้อจำกัดในการเรียนรู้ด้วยตนเอง นอกเหนือจากการขยายเครือข่ายในเชิงพื้นที่ ทีเคพาร์คยังสร้างพื้นที่การอ่านออนไลน์ ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มให้มีการยืมหนังสือที่คล่องตัว มีหนังสือถูกต้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์ และมีหนังสือเพียงพอกับความต้องการของนักอ่าน โดย TK Read นับว่าเป็นแอปพลิเคชันห้องสมุดภาษาไทยที่โดดเด่นและทันสมัยที่สุด พร้อมตั้งเป้าสู่การเป็นห้องสมุดดิจิทัลระดับชาติ ที่สามารถสนับสนุนคนไทยทั้งประเทศได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด รวมทั้งมีทิศทางชัดเจน ว่าต้องไม่ได้สร้างแค่พื้นที่ดิจิทัลที่เก็บหนังสือแต่มีเป้าหมายไปถึงการสร้างพื้นที่ทางปัญญา” นายกิตติรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

นายพัฒนา พิลึกฤาเดช ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไฮเท็คซ์ อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด กล่าวว่า ห้องสมุดหลายแห่งเริ่มมีการปรับตัวมาใช้งานห้องสมุดดิจิทัลมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด – 19 ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับการเรียนออนไลน์ การทำงานที่บ้าน ทำให้การเรียนรู้นั้นเข้าถึงยากมากขึ้น และพฤติกรรมการอ่านที่ปรับไปจากหนังสือไปสู่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ก็เป็นส่วนให้สมาชิกห้องสมุดมีความต้องการใช้ห้องสมุดดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดจากในปี 2564 ไฮเท็คซ์ให้บริหารเพียง 4 องค์กร แต่จนปัจจุบันองค์กรที่กำลังใช้งานอยู่มีมากกว่า 90 องค์กร และการเติบโตของห้องสมุดดิจิทัลที่มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท โดยการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงคือการเลือกคอนเทนต์ เนื้อหาของหนังสือให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดการเข้ามาใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ การมีระบบบริหารจัดการ ที่มีประสิทธิภาพลดภาระงานของบุคลากร สร้างให้องค์กรและสำนักพิมพ์ให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน ที่สำคัญการอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งาน โดยการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่อยู่เสมอ

ด้าน นางสาวปาริฉัตร ศาลิคุปต หรือ กิ่งฉัตร นักเขียนนวนิยายชื่อดัง กล่าวว่า ห้องสมุดดิจิทัลที่มีหนังสือลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง ได้รับการควบคุมดูแลอย่างดี มีระบบใช้งานง่าย สะดวก นับว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการการส่งเสริมการอ่าน และเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน สามารถเข้าถึงหนังสือและข้อมูลที่ดี และเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ของนักอ่านไม่ต่างจากห้องสมุดยุคก่อน อีกทั้งห้องสมุดดิจิทัล ยังเป็นพื้นที่ในการเผยแพร่ผลงานของนักเขียนที่สามารถกระจายวงกว้างได้ในเวลาที่รวดเร็ว และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้อ่านและนักเขียน