06/09/2023

ChatGPT

GM จับมือไมโครซอฟท์ เตรียมใส่ ChatGPT ใส่ในรถยนต์

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของอเมริกาอย่าง บริษัท General Motors กำลังมองหาความเป็นไปได้ในการนำ ChatGPT มาประยุกต์ใช้งานในรถยนต์ ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือ GM และ Microsoft

“ChatGPT จะอยู่ในทุกสิ่ง” Scott Miller รองประธาน GM กล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

แชตบอตสามารถใช้เพื่อเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการใช้คุณลักษณะของรถยนต์ที่ปกติพบในคู่มือเจ้าของรถ โปรแกรมฟังก์ชันต่างๆ เช่น รหัสประตูโรงรถ หรือรวมตารางเวลาจากปฏิทิน มิลเลอร์กล่าว

“การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกี่ยวกับความสามารถเพียงอย่างเดียว เช่น วิวัฒนาการของการสั่งงานด้วยเสียง แต่หมายความว่าลูกค้าสามารถคาดหวังว่ารถยนต์ในอนาคตของพวกเขาจะมีความสามารถมากขึ้นและมีความสดใหม่โดยรวมเมื่อพูดถึงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่” โฆษกของ GM กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้

ที่มา : Reuters

“อีลอน มัสก์” เตรียมตั้งทีมพัฒนา AI หวังแข่ง ChatGPT

อีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลาและทวิตเตอร์ได้ติดต่อกับบรรดานักพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการสร้างห้องปฏิบัติการวิจัยใหม่สำหรับการพัฒนา AI เพื่อเป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากแชตจีพีที (ChatGPT) ซึ่งเป็นแชตบอตของบริษัทโอเพนเอไอ (OpenAI)

รายงานดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ ChatGPT ซึ่งสามารถร่างร้อยแก้ว บทกวี หรือแม้กระทั่งเขียนโปรแกรมตามคำสั่งนั้น ได้รับความสนใจอย่างมากในซิลิคอนแวลลีย์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันจันทร์ (27 ก.พ.) ว่า นายมัสก์ได้ติดต่อกับนายอิกอร์ บาบุชกิน นักวิจัยที่เพิ่งลาออกจากหน่วยงานดีปไมนด์ เอไอ (DeepMind AI) ของบริษัทอัลฟาเบท เพื่อให้มาร่วมทีมวิจัย AI ของเขา

ทั้งนี้ นายมัสก์ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI ร่วมกับนายแซม อัลต์แมน นักลงทุนในซิลิคอนแวลลีย์ในปี 2558 ในฐานะบริษัทสตาร์ตอัปที่ไม่แสวงผลกำไรนั้น ได้ลาออกจากคณะกรรมการของ OpenAI ในปี 2561 แต่เขาได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับ ChatGPT เมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า “ดีจนน่ากลัว”

ที่มา : Reuter, Infoquest

ไมโครซอฟท์เริ่มทดลอง “ChatGPT” ในหุ่นยนต์ หวังใช้คำพูดถ่ายทอดคำสั่ง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไมโครซอฟท์ได้ทำการวิจัยเพื่อ “ดูว่า ChatGPT สามารถคิดนอกเหนือไปจากข้อความได้หรือไม่ รวมถึงก้าวสู่โลกทางกายภาพ ด้วยการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์” เป้าหมายคือเพื่อดูว่ามนุษย์จะสามารถใช้ ChatGPT เพื่อสั่งการหุ่นยนต์ได้โดยไม่ต้องเรียนรู้ภาษาโปรแกรมหรือทำความเข้าใจระบบหุ่นยนต์

ไมโครซอฟท์เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทกำลังทดสอบใช้เทคโนโลยี ChatGPT ในหุ่นยนต์ เพื่อควบคุมอุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ เช่น แขนกล โดรน และหุ่นยนต์ผู้ช่วยภายในบ้านผ่านการใช้คำพูด

ในเอกสารที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนในสัปดาห์นี้ นักวิจัยของไมโครซอฟท์ระบุว่ากำลังทดสอบ ChatGPT ในหุ่นยนต์ โดยตั้งเป้าที่จะขยายศักยภาพของ ChatGPT ไปสู่วิทยาการหุ่นยนต์หลากหลายรูปแบบ

ไมโครซอฟท์คาดหวังที่จะใช้คำพูดในการควบคุมหุ่นยนต์ เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ใช้คำพูดสั่งให้หุ่นยนต์ช่วยอุ่นอาหารกลางวัน จากนั้นหุ่นยนต์ก็สามารถนำอาหารไปอุ่นที่ไมโครเวฟได้ด้วยตัวเอง

ปัจจุบัน ChatGPT กลายเป็นโปรแกรม AI ที่เป็นกระแสไปทั่วโลกเทคโนโลยีนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยไมโครซอฟท์ได้ผสานเทคโนโลยี ChatGPT เข้ากับเสิร์ชเอนจินบิง (Bing) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ที่มา zdnet, infoquest

ไมโครซอฟท์เปิดตัว “Bing” พร้อม “Edge” ขับเคลื่อนด้วย “ChatGPT”

ไมโครซอฟท์ประกาศเปิดตัวเสิร์ชเอนจิน Bing เวอร์ชันใหม่ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI เดียวกับที่สนับสนุนแชตบอตแชตจีพีที (ChatGPT) แต่เป็นเวอร์ชันที่ได้รับการอัปเกรดแล้ว โดยไมโครซอฟท์เปิดตัว Bing พร้อมกับฟีเจอร์ใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพด้วย AI สำหรับการใช้งานบนเว็บเบราว์เซอร์เอดจ์ (Edge) โดยประกาศว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งสองชนิดนี้จะมอบประสบการณ์ใหม่เอี่ยมในการท่องเว็บและค้นหาข้อมูลทางออนไลน์

“นี่คือวันใหม่ในด้านการค้นหา” นายสัตยา นาเดลลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไมโครซอฟท์กล่าวที่งานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยเขาระบุว่า รูปแบบของเว็บค้นหาไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ AI สามารถส่งมอบข้อมูลได้ลื่นไหลและรวดเร็วกว่าวิธีการแบบดั้งเดิม

“วันนี้การแข่งขันได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยเราจะเคลื่อนไหวและเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว” นายนาเดลลากล่าว พร้อมเสริมว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องการให้การค้นหาเต็มไปด้วยนวัตกรรมสนุก ๆ อีกครั้ง เพราะนี่คือช่วงเวลาสำคัญ”

เดอะเวิร์จ (The Verge) เว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยีรายงานว่า ในการสาธิตผลิตภัณฑ์ ไมโครซอฟท์แสดงให้เห็นวิธีการทำงานของ Bing เวอร์ชันใหม่ โดยโหมดแรกแสดงให้เห็นผลการค้นหาแบบดั้งเดิมที่ปรากฏบนหน้าจอเคียงคู่กับคำอธิบายประกอบจาก AI ขณะที่อีกโหมดหนึ่งทำให้ผู้ใช้งานสามารถสนทนากับแชตบอต Bing ได้โดยตรง โดยสามารถตั้งคำถามในหน้าแชตได้เหมือนกับ ChatGPT

ไมโครซอฟท์ระบุว่า ฟีเจอร์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ขับเคลื่อนโดย GPT 3.5 ที่เป็นเวอร์ชันอัปเกรด โดยเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นโมเดลภาษา AI ของ OpenAI ที่ใช้ในการขับเคลื่อน ChatGPT โดยไมโครซอฟท์เรียก GPT 3.5 เวอร์ชันอัปเกรดนี้ว่า “โพรมีเธียส โมเดล” (Prometheus Model) พร้อมระบุว่าเป็นเวอร์ชันที่มีประสิทธิภาพเหนือ GPT 3.5 เวอร์ชันดั้งเดิมเป็นอย่างมาก ทั้งยังสามารถตอบคำถามได้ดีกว่าด้วยการใช้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและคำตอบที่มีการอธิบายประกอบ

ที่มา : searchenginejournal, infoquest

ChatGPT มาแรง ยอดเข้าเว็บทะลุ 25 ล้านครั้งต่อวัน

UBS เปิดเผยผลการวิจัยโดยอ้างอิงข้อมูลจาก Similarweb ระบุว่า ChatGPT ของบริษัท Open AI เป็นแอปพลิเคชันที่เติบโตเร็วที่สุดโดยมีผู้ใช้แตะ 100 ล้านรายแล้ว และการเติบโตจะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

รายงานวิจัยของ UBS ระบุว่า เพียงแค่ในสัปดาห์นี้ แอป ChatGPT มีผู้ใช้ 100 ล้านรายแล้วในขณะนี้ และจะเห็นการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดย UBS อ้างอิงข้อมูลสถิติของ Similarweb บ่งชี้ว่า แอป ChatGPT มีผู้เข้าเยี่ยมชมโดยเฉลี่ย 13 ล้านรายต่อวันในเดือนม.ค. หากแนวโน้มของสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงดำเนินต่อไป ก็จะมีการปรับทบทวนประมาณการดังกล่าวอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้

Similarweb ประมาณการว่า เว็บไซต์ chat.openai.com มีผู้เข้ามาเยี่ยมชมประมาณ 25 ล้านรายต่อวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และในเดือนม.ค. การเข้าชมเว็บไซต์ดังกล่าวขยายตัวโดยเฉลี่ย 3.4% ต่อวัน

ในวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมามีการเข้าเว็บไซต์ดังกล่าวสูงถึง 28 ล้านครั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บ 15.7 ล้าน

ที่มา : infoquest

มหาวิทยาลัยฝรั่งเศสห้ามใช้ ChatGPT ป้องกันการลอกผลงาน

ซิยอง โป (Sciences Po) หนึ่งในมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของฝรั่งเศสได้สั่งห้ามใช้ ChatGPT ซึ่งเป็นแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาโดย OpenAI เพื่อป้องกันการฉ้อโกงและการคัดลอกผลงาน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ChatGPT เป็นโปรแกรมฟรีที่สามารถสร้างงานเขียนต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงบทความ เรียงความ เรื่องตลก และแม้แต่บทกวี ซึ่งสร้างความกังวลในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการคัดลอกผลงาน

มหาวิทยาลัยซิยอง โปซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปารีสเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (27 ม.ค.) ว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ส่งอีเมลถึงนักศึกษาและคณาจารย์ทุกคนเพื่อประกาศการห้ามใช้ ChatGPT และเครื่องมือที่ใช้ AI อื่น ๆ ทั้งหมด

“หากไม่มีการอ้างอิงที่ชัดเจน นักศึกษาจะถูกห้ามใช้ซอฟต์แวร์สำหรับการผลิตงานเขียนหรืองานนำเสนอใด ๆ ยกเว้นเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะของหลักสูตร โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหัวหน้าหลักสูตร” ซิยอง โปเปิดเผย แม้ไม่ได้ระบุว่าจะติดตามการใช้งาน ChatGPT ได้อย่างไรก็ตาม

“ซอฟต์แวร์ ChatGPT ทำให้เกิดคำถามสำคัญสำหรับนักวิชาการและนักวิจัยทั่วโลกเกี่ยวกับการฉ้อโกงโดยทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลอกเลียนผลงาน” ซิยอง โป ระบุ

บรรดาสื่อของสหรัฐได้เปิดเผยว่า ChatGPT ได้ถูกสั่งแบนแล้วในโรงเรียนรัฐบาลบางแห่งในนิวยอร์กซิตี้และซีแอตเทิล ขณะที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐได้ประกาศแผนการที่จะแจกงานให้นักศึกษากลับไปทำที่บ้านน้อยลง และเพิ่มการเขียนเรียงความด้วยลายมือและการสอบปากเปล่ามากขึ้น

ที่มา : infoquest

ผลสำรวจระบุนักศึกษาสแตนฟอร์ด 17% ใช้ ChatGPT ทำข้อสอบและงานส่งอาจารย์

หลังจาก ChatGPT แชตบอทอัจฉริยะของ OpenAI สร้างปรากฏการณ์ เมื่อสามารถสอบผ่านใบอนุญาตทางการแพทย์ของสหรัฐ (US Medical Licensing Exam (USMLE)) และสอบผ่านข้อสอบ MBA ของโรงเรียนธุรกิจ Wharton School แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย

(more…)

ไมโครซอฟท์เตรียมทุ่ม 10,000 ล้าน ลงทุนใน “OpenAI” เพิ่ม

บริษัทไมโครซอฟท์ประกาศเมื่อวันจันทร์ (23 ม.ค.) ว่าจะทุ่มเม็ดเงินหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อลงทุนในบริษัทโอเพ่นเอไอ (OpenAI) ซึ่งเป็นผู้ผลิตแชตจีพีที (ChatGPT) โปรแกรมแชตบอตเอไอสุดล้ำ

แม้ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขการลงทุนครั้งล่าสุดนี้ แต่เว็บไซต์เซมาฟอร์ (Semafor) รายงานเมื่อต้นเดือนนี้ว่า ไมโครซอฟท์อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อทุ่มเม็ดเงินลงทุนในโอเพ่นเอไอสูงถึง 10000 ล้านดอลลาร์

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นการจับมือเป็นพันธมิตรระยะที่ 3 ระหว่างทั้งสองบริษัท หลังจากที่ไมโครซอฟท์เคยทุ่มเงินลงทุนในโอเพ่นเอไอมาแล้วในปี 2562 และ 2564 โดยไมโครซอฟท์ระบุว่า การผนึกกำลังกันครั้งล่าสุดนี้จะช่วยเร่งความเร็วในการพัฒนาเอไอและช่วยให้ทั้งสองบริษัทให้บริการเทคโนโลยีขั้นสูงในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต

OpenAI ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Azure ซึ่งเป็นบริการคลาวด์ของไมโครซอฟท์ โดยในเดือนก.ค. 2562 ไมโครซอฟท์ทุ่มเงินสนับสนุนโอเพ่นเอไอ 1 พันล้านดอลลาร์ และการทุ่มเงินลงทุนก้อนดังกล่าวส่งผลให้ไมโครซอฟท์กลายเป็นผู้ให้บริการการประมวลผลบนระบบคลาวด์เพียงรายเดียวของโอเพ่นเอไอ โดยไมโครซอฟท์ระบุเมื่อวานนี้ว่า Azure จะให้บริการในฐานะผู้ให้บริการเพียงรายเดียวของโอเพ่นเอไอต่อไป

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ระบุด้วยว่า การลงทุนครั้งนี้จะช่วยให้ทั้งสองบริษัทเข้ามามีส่วนร่วมในการประมวลผลชั้นยอด (Supercomputing) และรังสรรค์ประสบการณ์ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอรูปแบบใหม่

โอเพ่นเอไอได้รับการยกย่องจากบรรดานักวิจัยด้านเอไอว่าเป็น 1 ใน 3 บริษัทเอไอแถวหน้าของโลก โดยโอเพ่นเอไอได้ทำการพัฒนาซอฟต์แวร์เอไอที่สามารถเล่นเกมชนะมนุษย์ เช่น เกมวิดีโอโดต้า 2 (Dota 2)

ที่มา : infoquest