06/05/2023

OS สำหรับเมือง Smart City!

โดย พงษ์ ผาวิจิตร (ตีพิมพ์ในนิตยสาร Eworld ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ 2012)

ทุกวันนี้ อะไรรอบตัวเราล้วนเป็นสิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะ นับตั้งแต่กล้องอัจฉริยะ(คนบ้านเราเรียกกล้องปัญญาอ่อน แต่ความหมายที่แท้จริงคือ คนใช้แหละปัญญาอ่อน) บ้าน รถ เอทีเอ็ม จนถึงอวัยวะชิ้นที่ 33 ของคนเมืองทุกคนไม่เว้นแต่คนใบ้คือ โทรศัพท์อัจฉริยะ ที่เรียกเสียใหม่ว่า สมาร์ตโฟน ขาดเพียงแต่ เมืองอัจฉริยะที่มีระบบ OS ในการจัดการตัวเองที่เรียกว่า สมาร์ตซิตี้

ความจริงระบบ สมาร์ตซิตี้ควรจะเกิดขึ้นมานานแล้วเพราะเป็นเมกกะโปรเจ็กต์ ที่สามารถหาเสียงให้กับนักการเมืองและก็เป็นช่องทางใหม่สำหรับการคอร์รัปชั่นของบางประเทศ ที่โชคดีที่บ้านเราไม่ได้เป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น เพราะเราได้ยินนักการเมืองแสนดีของเราทุกคนว่า “ทำเพื่อประชาชน” “เสียสละเพื่อส่วนรวม” “ยอมรับเงินเดือนอันน้อยนิด” แถมเส้นทางการเข้าสู่ตำแหน่งต้องใช้เงินหลัก 100 ล้าน เพียงเพื่อปูทางเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่อย่างเก่งก็ไม่เกิน 4 ปี เนื่องจากมีโอกาสจะถูกล้มปฏิวัติ เราจึงมีนักการเมืองที่เสียสละอย่างมหาศาลจนไม่น่าจะเข้าข่ายประเทศที่มีคอร์รัปชั่น และตำรวจทุกสถานีก็ออกมายืนยันอยู่แล้วว่าไม่มีบ่อน ไม่มีอบายมุขในเขตของตน คงหาประเทศที่คนทำงานเพื่อส่วนรวมเสียสละเท่าประเทศนี้ไม่มีอีกแล้ว

สาเหตุที่ทำให้สมาร์ตซิตี้เกิดล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น จึงมีปัจจัยมาจาก 3 เรื่องด้วยกันคือ

  1. เป็นการดูถูกความสามารถของนักการเมืองว่า ไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องอาศัยตัวช่วย เฉกเช่นผู้หญิงที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมจากเต้าจะมีความรู้สึกลึกๆ ว่าขาดความสมบูรณ์ในการเป็นแม่
  2. นักการเมืองยังไม่ฉลาดพอที่จะเข้าใจระบบการทำงานของเทคโนโลยีที่สอดประสานกัน ซึ่งขัดแย้งกับพื้นฐานของการเล่นการเมืองที่ต้องทำงานไม่สอดประสานกันอย่างเป็นระบบ
  3. รอให้ infrastructure มีความพร้อมก่อนในเบื้องต้น

สำหรับปัจจัยข้อ 1 และ 3 คงไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป เนื่องจากสมัยนี้ แม่สมัยใหม่ก็ยอมรับความช่วยเหลือจากนมวัวโดยไม่เคอะเขิน และระบบ infrastructure ก็มีความพร้อมกันพอสมควรแล้ว ขนาดตู้เอทีเอ็มต่างที่ครั้งหนึ่งไม่ยอมคุยกันก็คุยกันได้ ระบบ OS ของคอมพิวเตอร์ก็เริ่มคุยกันได้ จึงเหลือเพียงปัจจัยที่สอง ซึ่งหากเป็นดังนั้น การมีสมาร์ตซิตี้จึงยิ่งต้องมีเพื่อเป็นการกำจัดจุดอ่อนของสังคม เพราะการเอาผลประโยชน์ของสังคมไปเป็นธุรกิจของนักการเมือง (ที่หากินกับความขัดแย้งเป็นหลัก) ถือเป็นต้นทุนที่ได้ไม่คุ้มเสีย ดังนั้น หากเราเป็น สมาร์ตซิติเซ่น (ประชาชนมีปัญญา) เราก็ต้องเรียกร้อง และช่วยกันผลักดันให้เกิด สมาร์ตซิตี้ขึ้นให้ได้

สิ่งแรกที่สมาร์ตซิตี้ต้องมีคือ OS ของเมืองเฉกเช่น OS ของระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยดูแลให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้อย่างเป็นระเบียบ มีประสิทธิภาพ และประสานกันของอุปกรณ์ device ต่างๆ โดย OS ของเมืองคือระบบที่สามารถดูแลประชาชนได้โดยอัตโนมัติ ตั้งแต่การเชื่อมโยงระบบจราจร ซึ่งจะตัดวงจรไม่ให้ตำรวจต้องทำงานโบกจราจรมากเกินไปจนไม่มีเวลาไปดูแลความปลอดภัยของประชาชน การเปิดปิดประตูระบายน้ำ โดยไม่ต้องให้ชาวบ้านออกมาประท้วงหรือรื้อบิ๊กแบ็ก หรือในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ รถดับเพลิง หรือรถพยาบาลสามารถขับถึงเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว เพราะป้ายไฟจราจรต่าง ๆ จะเปิดสัญญาณไฟประสานกัน ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ก็ประสานกันทำให้การต่อรถของประชาชนเป็นไปอย่างราบรื่นไม่เสียเวลารอนาน และที่ฉลาดยิ่งขึ้นไปคือ การมาถึงของรถไฟฟ้าใต้ดินในใต้ตึกใหญ่จะประสานกับการวิ่งของลิฟต์ในอาคาร

สำหรับระบบที่ฉลาดขึ้นไปอีกหน่อยก็จะทำงานโดยการเก็บข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ  ที่ฝังอยู่ในตัวอาคาร เสาไฟฟ้า ระบบประปา ถนน ท่อระบายน้ำ แล้วส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่สามารถแก้ปัญหาได้ ทำให้คอลเซ็นเตอร์ของหน่วยราชการที่ตั้งขึ้นมาผลาญเงินหลวงโดยไม่มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบจริง ๆ หมดไป ซึ่งก็เท่ากับเป็นการลดช่องทางการคอร์รัปชั่นให้น้อยลงไปอีก  แค่นี้ เราก็เห็นประโยชน์ของ OS ของเมืองใหญ่ๆ ว่าจะช่วยลดความผิดพลาดในการสื่อสารของมนุษย์ลงได้ และนั่นหมายความว่าจะลดความขัดแย้งลงได้ เนื่องจากระบบสามารถจัดการความซับซ้อนของข้อมูลโดยปราศจากอคติ ไม่มีการแบ่งแยกสี พรรค หรือขั้วว่า หากใครไม่เลือกฉันเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ได้รับความสำคัญน้อยลงไปหน่อย

สำหรับระบบที่ออกแบบมาดีๆ จะช่วยขนาดคอยเฝ้าคนแก่ คนไข้ในโรงพยาบาล เพื่อให้บุคคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานเร่งด่วนอื่นๆ ได้มากขึ้น ใช้บุคคลากรน้อยลง มองโดยภาพรวม ก็คือ เมืองจะมีระบบประสาทสั่งงานของตัวเอง ในขณะนี้มีบริษัทเอกชนหลายแห่งที่กำลังพัฒนาระบบเหล่านี้ ซึ่งประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งที่แสนดีของเรา ควรจะรีบๆ คิดและศึกษาเสียก่อนที่จะกลายเป็นประเทศล้าหลังด้อยพัฒนาอย่างบางประเทศ

Leave a Reply