March 29, 2024

รู้ทัน 5 กลโกงมิจฉาชีพบนแอป LINEพร้อมแนะ 5 วิธีรับมือช่วยเช็คก่อนเชื่อ ไม่เป็นเหยื่อกลโกง 

นับวันกลโกงมิจฉาชีพที่แฝงตัวอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการใช้ชีวิตอยู่บนโลกดิจิทัลจนกลายเป็นวิถีชีวิตปกติ จนหลายคนเผลอ หลวมตัวตกเป็นเหยื่อ เพราะเหล่ามิจฉาชีพต่างก็งัดกลเม็ดมาหลอกได้อย่างแนบเนียน ขณะที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็พยายามปราบปรามและให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชากรดิจิทัลในการป้องกันตัวเองไปพร้อมๆ กัน

            เช่นเดียวกับ LINE ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่อยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ใช้ในไทยกว่า 53 ล้านคน ได้รวบรวม กลโกงที่เหล่ามิจฉาชีพใช้บนแพลตฟอร์ม LINE หรือแอบอ้างชื่อบริษัทฯ พร้อมข้อเท็จจริง ที่จะช่วยให้ผู้ใช้ LINE เอาไว้เช็คก่อนเชื่อ ไม่เป็นเหยื่อกลโกง

1.     อ้างเป็นเจ้าหน้าที่จาก LINE ทางโทรศัพท์ ขู่ระงับบัญชี LINE

บริษัทฯ จะไม่มีการติดต่อผู้ใช้งานผ่านช่องทางโทรศัพท์ หรือเพิ่มเพื่อนทาง LINE ไปพูดคุยถึงปัญหาการใช้งานต่างๆ อย่างแน่นอน โดยปกติจะติดต่อผ่านแบบฟอร์มสอบถาม contact-cc.line.me และอีเมลที่ให้กรอกในฟอร์มเท่านั้น และทาง LINE จะไม่ขอรหัสผ่านหรือข้อมูลส่วนตัวจากผู้ใช้งานในทุกกรณี การระงับบัญชีจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ใช้ละเมิดกฎของแพลตฟอร์มและจะแจ้งเตือนผ่านระบบเท่านั้น

2.     SMS ชวนสมัครงานบริษัทต่างๆ ชวนเพิ่มเพื่อนบน LINE เพื่อติดต่อกรอกข้อมูลส่วนตัว

โดยปกติแล้ว บริษัทต่าง ๆ จะไม่นิยมประกาศรับสมัครงานผ่านช่องทาง SMS บนโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะการเชิญชวนให้เพิ่มเพื่อนบน LINE เพื่อไปพูดคุย กรอกข้อมูลส่วนตัว หรือให้คลิกลิงก์ใดๆ วิธีที่ดีที่สุด คือ ติดต่อไปยังบริษัทนั้นๆ โดยตรง หรือศึกษารายละเอียดบนเว็บไซต์ทางการของบริษัทนั้นก่อน

3.     ชวนลงทุนในบริษัท LINE หรือแจ้งว่าคุณเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัล

ข้อนี้ สามารถจำขึ้นใจสั้นๆ ได้เลยว่า บริษัท LINEฯ ไม่มีนโยบายชักชวนลงทุนหุ้นในบริษัทเป็นอันขาด ขณะที่หากมีการติดต่อว่าเป็นผู้โชคดีว่าได้รับรางวัลจาก LINE อันดับแรกเลยผู้ใช้ควรตรวจสอบก่อนว่าได้ร่วมสนุกกับกิจกรรมทางการตลาดใดๆ กับ LINE ก่อนหน้านี้หรือไม่ และตรวจสอบให้แน่ใจผ่านช่องทางทางการของบริการนั้นๆ อีกทีก็ไม่เสียหาย

4.     บัญชีทางการ LINE ปลอม จากสารพัดแบรนด์ ลวงล้วงข้อมูล

เป็นอีกข้อที่รับมือได้ไม่ยาก เริ่มด้วยอย่าเพิ่งคลิกลิงก์หรือให้ข้อมูลใดๆ แม้จะเป็นแบรนด์หรือหน่วยงานชื่อดัง โดยเฉพาะธนาคาร จากนั้นสังเกตโล่สีน้ำเงิน หรือ โล่สีเขียว ที่อยู่หน้าชื่อบัญชี ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองโดย LINE ในกรณีที่เป็นโล่สีเทา แนะนำให้ตรวจสอบกับร้านค้าหรือหน่วยงานนั้นๆ ผ่านช่องทางอื่นอีกครั้ง ไม่หลงเชื่อจำนวนเพื่อนที่แสดงบนหน้าโปรไฟล์ เพราะสามารถปลอมแปลงได้

5.     ข้อความจากทั้งเพื่อนและไม่ใช่เพื่อน ขอยืมเงิน หรือข้อมูลส่วนตัว

มิจฉาชีพที่มาในแนวนี้ มักจะทักมาในรูปแบบเพื่อนบน LINE จากการลักลอบขโมยรหัสผ่านมาล็อกอิน (หรือไม่ใช่เพื่อนบน LINE ก็ได้เช่นกัน) เพิ่มเพื่อนมาทักขอยืมเงิน หรือ ขอข้อมูลส่วนตัวต่างๆ รวมถึงส่งลิงก์แปลกปลอมมาให้ช่วยคลิก ผู้ใช้ LINE สามารถรับมือวิธีนี้ได้อย่างทันท่วงที ด้วยการไม่คลิกลิงก์นั้นเป็นอันขาด และติดต่อเจ้าตัวผ่านช่องทางอื่น เช่น โทรศัพท์ เพื่อย้ำให้มั่นใจว่าเป็นบุคคลเดียวกัน หากพบว่าไม่ใช่บุคคลนั้นจริง ให้กด ‘รายงาน’ แชทดังกล่าวได้เลย

นอกจากนี้ LINE ขอสรุป ข้อแนะนำช่วยให้รู้เท่าทันและรับมือมิจฉาชีพบน LINE แบบง่ายๆ แต่ป้องกันได้  ดังนี้

1.          ไม่คลิกลิงก์ที่ไม่ทราบที่มา (หากยังไม่ชัวร์ อย่าเพิ่งคลิกเด็ดขาด)

2.          ไม่เผยรหัสผ่านบัญชีกับใคร โดย LINE จะไม่ขอรหัสผ่านส่วนตัวของท่านในทุกกรณี โดยเฉพาะผู้ที่ล็อกอิน LINE ผ่านอุปกรณ์อื่นบ่อยครั้ง ควรเปลี่ยนรหัสผ่านใหม่อย่างสม่ำเสมอ

3.          ลงชื่อออกทุกครั้ง เมื่อใช้ LINE ผ่านอุปกรณ์ที่ไม่ใช่เครื่องหลัก

4.          ตรวจสอบที่มาของผู้ติดต่อรายนั้นให้แน่ใจ เสียเวลาอีกนิด จะได้ไม่เสียหาย

5.          กดรายงานปัญหา (Report) บัญชีไม่พึงประสงค์ ได้ง่ายๆ ด้วยการกด ไอคอน 3 แถบบนห้องแชท > ตั้งค่าอื่นๆ > รายงานปัญหา > เลือกปัญหาที่ต้องการรายงาน > กด ‘รับทราบและส่ง’

พบปัญหาการใช้งานใดๆ เกี่ยวกับ LINE ติดต่อผ่านช่องทางทางการได้ที่ Contact-cc.line.me