05/29/2023

IoTDay Thailand 2015 เตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีของคุณให้พร้อมรับมือกับการมาของ IoT

001

WindowsITPro และ EWorld สองนิตยสารชั้นนำด้านไอทีโซลูชันในเครือบริษัท สื่อสามร้อยหกสิบองศา จำกัด ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “IoTDay Thailand 2015 : Leverage your Infrastructure to Internet 3.0 Era ยกระดับโครงสร้างไอทีของคุณเพื่อก้าวสู่แพลตฟอร์มที่ 3 แห่งยุค” เพื่อเป็นการอัพเดตแนวโน้ม และเทคโนโลยีที่สำคัญซึ่งเกี่ยวเนื่องกับโลกยุคอินเทอร์เน็ตเป็นทุกสิ่ง (Internet of Thing – IoT) ทั้งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที การสื่อสาร ระบบเครือข่าย และการรักษาความปลอดภัยของระบบไอที ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้องค์กรธุรกิจต่างๆ ตระหนักถึงและตระเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีของตนเองให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการมาของ IoT รวมถึงมองเห็นโอกาสในการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้มาปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจให้รุดหน้าต่อไป หรือเปิดช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ

 

โดยงานที่จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ ห้องอโนมา 2-3 ชั้น 3 โรงแรมอโนมา กรุงเทพ อยู่ในรูปแบบงานสัมมนา และเสวนาโต๊ะกลม พร้อมทั้งการออกบูธจากบรรดาพันธมิตรผู้ร่วมสนับสนุนการจัดงานเป็นจำนวนมาก ที่ได้นำเอาเทคโนโลยี โซลูชัน และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับ IoT มานำเสนอ และถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งพันธมิตรที่เข้าร่วมงานประกอบด้วย สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (EGA), CAT Telecom, บริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ฟอร์ติเน็ต จำกัด, บริษัท ซีบร้า เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อี้ หร้ง คอนซัลแตนท์ส จำกัด และเดลล์     รวมถึงบูธจัดแสดงผลงานการวิจัยของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในโครงการวิจัย และพัฒนาบ้านอัจฉริยะของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA Smart Home) เช่น สมาร์ทมิตเตอร์ สมาร์ทปลั๊ก และตู้เย็นอัจฉริยะ ซึ่งเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของงานที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานสัมมนาเป็นจำนวนมาก

 

ภายในงานยังมีการบรรยายในหัวข้อที่น่าสนใจจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ซึ่งผลัดเปลี่ยนกันขึ้นไปถ่ายทอดความรู้ นำเสนอมุมมอง และให้คำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับ IoT ซึ่งเราขอนำบางส่วนมานำเสนอแก่ท่านผู้อ่านในฉบับนี้

 

โดยมีดร.อดิสร เตือนตรานนท์ คณะกรรมาธิการด้าน IoT ของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (EGA) และผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิจัยนาโนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลจุลภาค ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ขึ้นกล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “โลกในยุคอินเทอร์เน็ตเป็นทุกสิ่ง (IoT) และการปรับองค์กรเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว” โดยได้ชี้ให้เห็นว่าในโลกปัจจุบันและอนาคตคือโลกของการเชื่อมต่อ โดยจะเห็นได้จากอัตราส่วนของอุปกรณ์ที่ถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกันกับจำนวนประชากรโลกในปี 2015 อยู่ที่ 3.47 เครื่องต่อคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 6.58 เครื่องต่อคนภายในปี 2020 ด้วยปริมาณอุปกรณ์ที่ถูกต่อเชื่อมเข้าด้วยกันจะมีมากถึง 50 พันล้านเครื่อง เหตุผลที่ทำ IoT เติบโตอย่างรวดเร็วเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ เซ็นเซอร์มีขนาดเล็ก และถูกลง โพรเซสเซอร์มีราคาถูกลง มีการใช้งานสมาร์ทโฟนที่ถูกลง และฉลาดขึ้นอยู่ทั่วไป อุปกรณ์แบบสวมใส่กำลังเริ่มได้รับความนิยม ในขณะที่แบนด์วิดธ์ราคาถูกลง รวมถึงการเติบโตของข้อมูลขนาดใหญ่ และการวิเคราะห์ข้อมูล”

001

“ปัจจุบันแม้ว่าจะมีการนำ IoT มาประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีสิ่งที่ท้าทายสำคัญที่องค์กรต่างๆ ต้องพิจารณาเป็นพิเศษได้แก่ การรักษาความปลอดภัย เพราะเมื่อมีการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมากเข้ากับระบบก็ทำให้เกิดช่องโหว่ในการถูกโจมตีได้ง่าย เรื่องของมาตรฐานต่างๆ เกี่ยวกับ IoT ที่ยังไม่ชัดเจน มีความแตกต่างหลากหลาย เพราะมีหลายกลุ่มกำลังช่วงชิงการเป็นผู้มีบทบาทในการกำหนดมาตรฐาน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการนำเทคโนโลยี หรืออุปกรณ์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้งานร่วมกัน ซึ่งจากความท้าทายดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการที่ EGA ได้รวบรวมผู้เชี่ยวจากสถาบันการศึกษา และองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องแต่งตั้งคณะกรรมการ Internet of  Things ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ศึกษา วิจัย จัดทํามาตรฐาน วิเคราะห์ และรายงานผลกระทบจากการใช้อุปกรณ์ IoT รวมถึงวางกรอบงานและมาตรฐานด้าน IoT ที่จะนำมาปรับใช้งานในอนาคต” ดร.อดิสร กล่าวเสริม

คุณกัมพล บุ่งศรี ผู้จัดการส่วนบริการอินเทอร์เน็ต ฝ่ายสื่อสารข้อมูล CAT Telecom และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ต และ IPv6 รองรับการใช้งานยุค IoT ได้กล่าวถึงแนวโน้ม และความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของ IoT ว่าปัจจุบันเรากำลังก้าวเข้าสู่โลกของอินเทอร์เน็ตยุคที่ 3 ที่ไม่เพียงแต่อุปกรณ์พกพาต่างๆ จะเชื่อมต่อ และทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตได้เท่านั้น แต่ยังมีสิ่งของต่างๆ ถูกนำมาเชื่อมต่อกับผู้คน ระบบ หรือแม้แต่สิ่งของด้วยกันเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันองค์กรต่างๆ ไม่เพียงแต่จะต้องเผชิญความท้าทายในการจัดการอุปกรณ์ และสิ่งของต่างๆ เหล่านี้เท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงเรื่องของการจัดการคน กระบวนการ และข้อมูลด้วย โดยเฉพาะข้อมูลปริมาณมหาศาลที่เกิดขึ้นมา โดยเฉพาะที่เกิดจากการทำงานของแอพ IoT ที่คาดว่าจะทำให้เกิดข้อมูลสูงถึง 400 เซตตะไบต์ต่อปีในปี 2018 ขณะเดียวกัน IoT ก็ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สำหรับองค์กรธุรกิจทุกขนาดโดยไม่ถูกจำกัดเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่อีกต่อไป

 

002

คุณธิดา กาญจนกรหิรัญ ผู้จัดการด้านโซลูชั่น บริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตัวอย่างการใช้งาน IoT ที่อยู่ใกล้ตัวเราได้แก่ระบบรักษาความปลอดภัยภายในสำนักงาน หรือที่บ้าน เช่น กล้องวงจรปิด เซ็นเซอร์ของระบบป้องกันขโมย หรือป้องกันไฟไหม้ ซึ่งในปัจจุบันทำงานร่วมกับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ตจากระยะไกลเพื่อเข้าไปสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นภายในสำนักงาน หรือที่บ้านได้ รวมถึงรับการแจ้งเตือนจากระบบรักษาความปลอดภัยได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม   หรือจะเป็นการใช้โทรศัพท์มือถือควบคุมเครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น แอร์ หรือทีวี ในขณะที่อุปกรณ์สำนักงานอย่างเครื่องพรินเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร หรือแฟกซ์ในปัจจุบันก็สามารถทำงานร่วมกันในระยะใกล้ผ่านเครือข่ายไร้สาย หรือในระยะไกลผ่านอินเทอร์เน็ต รวมทั้งผสมผสานการให้บริการบนคลาวด์ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถจัดการเอกสารต่างๆ ได้จากทุกที่ทุกเวลา ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานในรูปแบบโมไบล์ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น

 

คุณปิยะณัฐ อินทร วิศวกรด้านระบบรักษาความปลอดภัยของฟอร์ติเน็ต กล่าวว่าสิ่งหนึ่งที่สร้างความกังวลใจให้กับองค์กรธุรกิจ หรือแม้แต่ผู้ใช้ทั่วไปในการนำเอา IoT มาใช้งานก็คือเรื่องของความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว จะเห็นได้จากในปัจจุบันแม้แต่สมาร์ทโฟนที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายก็ได้กลายเป็นเป้าหมายของนักโจมตีระบบ หากในอนาคตอุปกรณ์ทุกอย่างเชื่อมต่อ และทำงานร่วมกันผ่านอินเทอร์เน็ต ย่อมก่อให้เกิดช่องโหว่ขึ้นมากมาย เพราะอุปกรณ์ IoT ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กจนไม่สามารถติดตั้งกลไกการรักษาความปลอดภัยลงไปได้ และมักติดต่อสื่อสารกันผ่านระบบเครือข่ายไร้สายที่มีช่องโหว่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีพอ ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดจากภัยคุกคามในอนาคตจะรุนแรงกว่าในปัจจุบันมาก IoT เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต การมีระบบรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่งจึงเป็นสิ่งที่องค์กรต่างๆ ต้องให้ความสำคัญในฐานะโครงสร้างพื้นฐานของระบบที่จะมารองรับการใช้งาน IoT

005

คุณธนานันต์ ชาติยานนท์ ประธานบริษัท ศิวดล ดีสตริบิวชั่น จำกัด ในฐานะผู้ที่นำ IoT มาใช้กับธุรกิจลอจีสติกแสดงความกังวลเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ IoT ว่าการลงทุนในอุปกรณ์ IoT ไม่ว่าจะในธุรกิจไหนก็ตามไม่ใช่แค่เรื่องของฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์เท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องกระบวนการทางธุรกิจ และการทำงานของคนด้วยโดยเฉพาะในธุรกิจลอจีสติกนั้นจะได้ประโยชน์จากการใช้งาน IoT อย่างมาก มีการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น RFID, เซ็นเซอร์, GPS หรือ CCTV เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการส่งสินค้า ไม่เฉพาะในด้านการปฏิบัติงานเท่านั้น แต่ยังต้องมองในมุมของความสามารถในการนำเอาข้อมูลดิบปริมาณมหาศาลที่เกิดขึ้นจากการทำงานของอุปกรณ์ IoT จำนวนมากมาประมวลผล และวิเคราะห์เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเชิงบริหาร หรือการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจได้ด้วย

006 009

008

010

นอกจากนี้ในช่วงท้ายของการสัมมนายังมีการจัดงานเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ “The Internet of Things for Life & Living: การใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองชีวิตและการอยู่อาศัยยุคใหม่” โดยมี รศ.ดร. เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านสมาร์ทซิตี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และผศ.ดร.วิศิษฏ์ หิรัญกิตติ อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมี คุณจักรกฤษ์ นพคุณ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร eWorld ในเครือบริษัท สื่อสามร้อยหกสิบองศา จำกัด เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

Leave a Reply