April 24, 2024

“ไอยูซีเอ็น” จับมือ “หัวเว่ย” เปิดตัวรายงาน Tech4Nature โชว์แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการอนุรักษ์ธรรมชาติโดยใช้เทคโนโลยี

Tech4Nature – Solutions in Focus

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature หรือ IUCN) และหัวเว่ย เปิดตัวรายงาน PANORAMA Tech4Nature – Solutions in Focus ในวันนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยีในการบรรลุผลการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพใน 22 โครงการ 19 ประเทศ

กรณีศึกษาที่ระบุในเอกสารดังกล่าวได้รับการคัดเลือกจากกว่า 50 โซลูชันที่จัดการกับความท้าทายด้านการอนุรักษ์ที่สำคัญ 6 ประการ ซึ่งความท้าทายเหล่านี้รวมถึงการจัดการพื้นที่คุ้มครอง การเฝ้าติดตามสายพันธุ์ การปลูกฝังการมีส่วนร่วมของชุมชน และการจัดหาเงินทุนในการดำเนินการอนุรักษ์

เจมส์ ฮาร์ดคาสเซิล (James Hardcastle) หัวหน้าฝ่ายพื้นที่คุ้มครองและอนุรักษ์ ไอยูซีเอ็น กล่าวว่า “การใช้เทคโนโลยีมีทิศทางการเติบโตที่ชัดเจนและได้รับการยอมรับจากชุมชนอนุรักษ์ รวมถึงการพัฒนาและสร้างวิธีการใหม่ ๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมจะช่วยให้มั่นใจได้ว่า จะได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืนมากขึ้นจากการประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการดำเนินการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพและยุติธรรม”

โครงการที่กำลังดำเนินการในเม็กซิโกและจีนเป็น 2 กรณีทั่วไปที่ระบุอยู่ในรายงานดังกล่าว โดยในคาบสมุทรยูคาทานของเม็กซิโกได้มีการปรับใช้โซลูชันเพื่อตรวจสอบจำนวนเสือจากัวร์และเหยื่อ ผ่านระบบเครือข่ายกับดักกล้องที่มีการตรวจสอบเสียง พร้อมด้วยอัลกอริทึมเอไอที่ได้รับการฝึกฝนเพื่อตรวจจับและระบุเสือจากัวร์แต่ละตัว ข้อมูลที่ได้จะนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีต่อระบบนิเวศที่สำคัญบนชายฝั่งทางเหนือของคาบสมุทรยูคาทาน และประเด็นสำคัญของโครงการนี้คือการมีส่วนร่วมของชุมชนในวงจรโครงการทั้งหมดเพื่อเพิ่มผลลัพธ์โดยรวม

ขณะเดียวกัน ระบบป้องกันอัคคีภัยอัจฉริยะในจีนที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยของแพนด้ายักษ์ได้ถูกนำมาใช้ในสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงเขตอนุรักษ์ธรรมชาติถังเจียเหอ (Tangjiahe) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในรายชื่อพื้นที่สีเขียวของไอยูซีเอ็น โดยในถิ่นที่อยู่ของแพนด้าในเสฉวน ภาพถ่ายดาวเทียมได้รับการวิเคราะห์แบบเรียลไทม์เพื่อตรวจจับไฟป่าที่อาจเกิดขึ้น ทำให้ตรวจสอบความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็วและมีการส่งแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินทันที ซึ่งระบบดังกล่าวส่งผลให้ไฟป่าร้ายแรงลดลง 71% ในปี 2564

เอกสารดังกล่าวได้รวมคำอธิบายปัจจัยความสำเร็จของแต่ละกรณีศึกษาอย่างละเอียด เพื่อสนับสนุนการนำไปใช้และการจำลองแบบของโซลูชันที่ใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้ยังให้ทั้งกรอบงานของสถาปัตยกรรมโซลูชันทางเทคโนโลยีและรายการตรวจสอบ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้โซลูชันเทคโนโลยีรายใหม่มั่นใจถึงความเหมาะสมของการนำมาใช้ และเอาชนะความท้าทายของการอนุรักษ์ได้

ขณะเดียวกัน เอกสารฉบับนี้ยังเน้นย้ำถึงช่องว่างที่มีอยู่ในการทำความเข้าใจว่าเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าและผู้คนอย่างไร และเน้นย้ำถึงความจำเป็นของความโปร่งใส ความครอบคลุม และความรับผิดชอบในการใช้โซลูชันเทคโนโลยี

แคทเธอรีน ตู่ (Catherine Du) หัวหน้าโครงการ TECH4ALL ของหัวเว่ย กล่าวว่า “เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญในการอนุรักษ์ธรรมชาติ และเราเชื่อว่าประสิทธิภาพและผลกระทบของการอนุรักษ์ธรรมชาติจะได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและความร่วมมือจากหลายภาคส่วน”

โครงการ Tech4Nature ที่เปิดตัวโดยไอยูซีเอ็นและหัวเว่ยกำลังพัฒนาโซลูชันดิจิทัลเพื่อนำร่องใน 5 ประเทศหลัก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สเปน มอริเชียส เม็กซิโก และจีน โดยโครงการนี้มีเป้าหมายที่จะครอบคลุมพื้นที่คุ้มครองมากกว่า 300 แห่งทั่วโลกภายในปี 2566 และประเมินความสำเร็จในการอนุรักษ์ผ่านมาตรฐานรายชื่อพื้นที่สีเขียวไอยูซีเอ็น (IUCN Green List) 

รายงานTech4Nature – Solutions in Focus มีเป้าหมายที่จะให้คำแนะนำในการใช้เทคโนโลยีในการอนุรักษ์ตามพื้นที่อย่างเหมาะสม และมีส่วนร่วมโดยตรงกับอุตสาหกรรมไอซีทีในการสนับสนุนผลการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเป็นเอกสารฉบับแรกภายใต้ความร่วมมือระหว่างไอยูซีเอ็นกับหัวเว่ย

นอกจากนี้ โครงการริเริ่มดังกล่าวยังเป็นครั้งแรกที่ไอยูซีเอ็นได้เป็นพันธมิตรรายสำคัญกับอุตสาหกรรมไอซีที โดยผสมผสานมาตรฐาน ความรู้ และประสบการณ์ที่กว้างขวางขององค์กรเข้ากับการอนุรักษ์ด้วยนวัตกรรมที่เกิดขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยี