March 29, 2024

ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เปิดบ้านโชว์ระบบปฏิบัติการท่าเทียบเรือสุดอัจฉริยะที่ท่าเรือแหลมฉบัง

บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) ผู้นำในการดำเนินธุรกิจให้บริการท่าเทียบเรือขนถ่ายตู้บรรจุสินค้า ขานรับนโยบายของกลุ่มบริษัทฮัทชิสัน พอร์ท เพื่อบรรลุภารกิจในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 11 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573 ด้วยการนำเทคโนโลยีอันทันสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบปฏิบัติงาน ได้แก่ รถบรรทุกขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ (autonomous truck) ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมจากระยะไกล (remoted control super post panamax ship to shore cranes) และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง (remote-control rubber tyred yard cranes) ณ ท่าเทียบเรือชุดดี ของ HPT ที่ท่าเรือแหลมฉบัง

ทั้งนี้ ขณะที่ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เดินหน้าตามแผนการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตามแนวทางด้านความยั่งยืน บริษัทฯ ยังเดินหน้าในการปรับระบบการทำงานที่ตอบรับกับความเปลี่ยนแปลง มีการเชื่อมโยงกับความต้องการของผู้รับบริการ และนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในด้านการขนส่งมาใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพให้รองรับในด้านบริการที่ครอบคลุมเรือสินค้าไม่ว่าขนาดใด ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นไปเพื่อเป้าหมายของการส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (Eastern Economic Corridor: EEC) รวมถึงการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอีกด้วย

ในปี 2564 มูลค่าการนำเข้าของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 29.8 เปอร์เซ็นต์ ด้วยมูลค่ารวมที่ 267.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 17.1 เปอร์เซ็นต์ ด้วยมูลค่ารวมที่ 271.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

การริเริ่มด้านการพัฒนาของ HPT นี้ดำเนินไปเพื่อตอกย้ำถึงแนวทางการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของบริษัทและประเทศไทย โดยมุ่งเน้นในสามเรื่อง คือ

  • สภาพแวดล้อม: เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ให้คำมั่นที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขยะจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจหลักของกลุ่มบริษัทฮัทชิสัน พอร์ท ที่มุ่งในการลดการใช้พลังงานดีเซลต่อ TEU ลง 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปีจนถึงปี 2566 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 11 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2573 และเพื่อให้แผนงานดังกล่าวสำเร็จลุล่วง บริษัทฯ มีการนำรถบรรทุกระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ปั่นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมระยะไกล ระบบ 5G สำหรับอุปกรณ์ควบคุมระยะไกล รวมถึงการใช้ปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานควบคุมจากระยะไกล และเปลี่ยนไปใช้ช่องทางผ่านเข้าออกท่าเทียบเรือแบบอัตโนมัติ  อีกทั้งการใช้ระบบดิจิทัลและยกเลิกเอกสารกระดาษอย่างบริการผู้ช่วยออนไลน์และการนัดหมายรับส่งตู้สินค้า มีการสร้างเครื่องใช้ต่างๆ จากสิ่งของเหลือใช้ ซึ่งเป็นดั่งคำมั่นสัญญาที่บริษัทฯ ให้ไว้ว่าจะก้าวสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวเป็นมิตรกับโลกและสิ่งแวดล้อม
  • บุคคลากร: แผนการพัฒนาด้านบุคลากรที่ประกอบไปด้วยโปรแกรมเสริมสร้างสุขภาพร่างกายและจิตใจเพื่อสนับสนุนให้พนักงานของบริษัทก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้อย่างเหมาะสม การพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ ของบริษัท ซึ่งทำให้ HPT ได้สร้างสัมพันธ์กับชุมชนรอบ ๆ รวมทั้งได้ริเริ่มดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนร่วมกับโรงเรียน มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาล
  • ธุรกิจ: การสร้างความแข่งแกร่งด้านบรรษัทภิบาล โดย HPT จะเพิ่มการประเมินผลซัพพลายเออร์ในขั้นตอนการคัดเลือกผู้รับเหมาที่จะมารับงานจากบริษัทที่เป็นไปตามเกณฑ์ด้านความยั่งยืน อันจะเป็นการสร้างความมั่นใจยิ่งขึ้นว่าทุก ๆ ขั้นตอนในการดำเนินการมีความโปร่งใส และทำให้ทั้งซัพพลายเออร์และลูกค้ามีความมั่นใจในมาตรฐานด้านกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนของ HPT

มร. สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนและการเติบโตของธุรกิจจะต้องทำควบคู่กันไป นับเป็นสิ่งสำคัญที่การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ จะช่วยสร้างคุณค่าให้กับการดำเนินธุรกิจของเรา ขณะเดียวกันยังเป็นการลดการเกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์อีกด้วย การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อพันธกิจของพวกเราที่จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างในวิธีการทำงานของเรา และผมเองก็รู้สึกยินดีกับความคืบหน้าต่าง ๆ ที่ได้ทำให้บังเกิดขึ้นมา บริษัทของเรามีการตั้งเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับท่าเรือทุกแห่งในเครือทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง และผมมั่นใจว่าเราสามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ ไปพร้อม ๆ กับที่เราเดินหน้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในแผนระยะยาว”

ปัจจุบันท่าเทียบเรือชุดดี ของ HPT กำลังเข้าสู่การก่อสร้างส่วนที่เหลือซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง 3.5 ล้าน TEU โดยท่าเทียบเรือชุดดี จะได้รับการติดตั้งปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมระยะไกล (super post panamax ship to shore cranes ) จำนวน 17 คัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางจำนวน 43 คัน ที่เป็นระบบไฟฟ้าควบคุมจากระยะไกลทั้งหมด และเป็นท่าเทียบเรือแห่งแรกในโลกที่นำรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติมาใช้งานร่วมกับรถบรรทุกแบบธรรมดา

ท่าเรือแหลมฉบัง คือท่าเรือหลักของประเทศไทยและยังเป็นด่านสำคัญของการนำเข้า-ส่งออกของประเทศ  ในปี 2564 ท่าเรือแหลมฉบังรองรับปริมาณตู้สินค้ารวม 8.5 ล้าน TEU ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.9 ล้าน TEU จากปี 2563 โดยส่วนแบ่งทางการตลาดของ HPT ณ ท่าเรือแหลมฉบังคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์  ในปี 2564 มีเรือบรรทุกตู้สินค้ากว่า 1,000 ลำ ในจำนวนนี้ได้รวมถึงเรือบรรทุกตู้สินค้าขนาดใหญ่ที่สุดอีกหลายลำที่ยังปฏิบัติการอยู่ในขณะนี้มาใช้บริการที่ท่าเทียบเรือต่าง ๆ ของ HPT อีกด้วย