April 24, 2024

การทางพิเศษฯ 4.0 ยกระดับการทำงานด้วยวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัล

ภายใต้จุดมุ่งหมายหลักของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับการดำเนินงานและให้บริการประชาชนผู้ใช้ทาง รวมถึงเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญ

ที่ผ่านมา การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้งาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและให้บริการผู้ใช้ทางมากมาย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ควบคุมระบบทางพิเศษ ที่พร้อมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ระบบ Easy Pass ระบบกล้องวงจรปิดความคมชัดสูง ติดตั้งบนทางพิเศษเป็นระยะๆ ตลอดแนวเส้นทาง เพื่อตรวจสอบดูสภาพจราจรและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนทางพิเศษ โทรศัพท์ฉุกเฉิน โครงข่ายสื่อสารข้อมูลที่ครอบคลุมตลอดเส้นทาง ระบบป้ายแสดงข้อมูลต่างๆ ที่สามารถบริหารจัดการได้จากศูนย์กลาง โมบายแอพพลิเคชั่น เพื่อให้ข้อมูลและเข้าถึงบริการต่างผ่านอุปกรณ์โมบาย รวมถึงการนำหุ่นยนต์ตรวจสอบสายเคเบิลมาใช้ช่วยลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสายเคเบิลสะพานแขวน เป็นต้น

การสื่อสารคือหัวใจในการทำงานและให้บริการ

เหนืออื่นใด การยกระดับประสิทธิภาพในการติดต่อประสานงานด้วยวิทยุสื่อสาร ก็เป็นสิ่งที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ที่ผ่านมา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีการนำระบบวิทยุสื่อสารมาใช้งาน เพื่อใช้ในการติดต่อประสานงานของเจ้าหน้าที่ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การให้บริการและอำนวยความสะดวกผู้ใช้ทาง การประสานงานทั่วไป การอำนวยการจราจร การประสานงานเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน และการกู้ภัย เป็นต้น โดยมีรัศมีการติดต่อสื่อสารครอบคลุมตลอดทางพิเศษสายต่างๆ ทุกโครงการ ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อประสานงานกันได้ทุกพื้นที่ ทุกเวลา แม้ในพื้นที่ที่เป็นจุดอับสัญญาณโทรศัพท์ก็ยังสามารถสื่อสารกันได้ด้วยระบบวิทยุ

 

คุณชุมพล โล่ห์จินดา ผู้อำนวยการกองกู้ภัยและสื่อสาร ฝ่ายควบคุมการจราจร การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

ความท้าทายของระบบวิทยุสื่อสารระบบแอนะล็อก

แม้จะช่วยให้สามารถติดต่อประสานงานกันได้ดีในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากวิทยุสื่อสารที่ใช้อยู่เดิมเป็นวิทยุระบบแอนะล็อก ซึ่งเมื่อการทางพิเศษมีโครงการที่จะขยายเส้นทางตามความต้องการเส้นทางคมนาคมที่รวดเร็ว ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร รถยนต์ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้วิทยุระบบแอนะล็อกที่ใช้อยู่เดิม มีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในข้อจำกัดที่สำคัญคือ ด้วยช่องความถี่ที่มีจำกัด ทำให้เกิดการแย่งช่องสัญญาณในการติดต่อสื่อสาร เพราะเจ้าหน้าที่ทั้งหมดจำเป็นต้องใช้ช่องสัญญาณเดียวกัน ไม่สามารถแบ่งแยกช่องทางการสื่อสารตามเส้นทาง หรือตามกลุ่มผู้ใช้ได้ หากมีการสนทนาผ่านวิทยุ เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในทางพิเศษเส้นอื่นๆ ก็จะได้ยินการสื่อสารทั้งหมด ทำให้เป็นการรบกวนการสื่อสารกันและกัน หรือหากมีเหตุเร่งด่วนจำเป็นที่ต้องใช้วิทยุในหลายๆ เส้นทางพร้อมกัน ก็จะเป็นปัญหาด้านการสื่อสารอย่างมาก ประกอบกับแผนงานในอนาคตของการทางพิเศษ ซึ่งต้องมีการขยายเส้นทางเพื่อรองรับกับทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับปรุงระบบวิทยุสื่อสารจากระบบแอนะล็อกเดิมไปสู่ระบดิจิทัล ซึ่งมีช่องการสื่อสารต่อย่านความถี่มากกว่าระบบแอนะล็อก

ทำไมไม่ใช้การสื่อสารผ่านระบบ มือถือ หรือ Internet

การทำงานของมือถือ หรือการติดต่อผ่านอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันสามารถรองรับงานต่างๆ ได้มาก แต่ระบบการสื่อสารสำหรับที่ส่งสัญญาณให้คนเฉพาะกลุ่มรับรู้พร้อมกันแบบ real time การเลือกใช้วิทยุสื่อสารเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมที่สุด นอกจากนี้ ตัววิทยุสื่อสารเองสามารถรับ-ส่ง พูดคุยกันได้ ถึงแม้ว่าระบบต่างๆ จะล่ม ในเหตุการณ์ฉุกเฉิน วิทยุสื่อสารช่วยให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

วิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลมาตรฐาน APCO 25 คือคำตอบ

กระบวนการในการปรับปรุงระบบวิทยุสื่อสารจากระบบแอนะล็อกไปสู่ระบบดิจิทัล เพื่อให้การใช้งานช่องความถี่ที่มีอยู่ทำได้มีประสิทธิภาพและรองรับการใช้งานได้มากขึ้น ต้องสามารถขยายระบบเพื่อรองรับปริมาณการใช้งานที่สูงขึ้น รวมถึงสามารถปรับไปสู่วิทยุสื่อสารระบบ Trunk Radio ได้ในอนาคต เริ่มต้นจากการตั้งคณะทีมงานเพื่อศึกษาว่า วิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลมาตรฐานใดที่ลงตัวกับความต้องการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น และพบว่าวิทยุระบบดิจิทัลที่ใช้มาตรฐาน APCO 25 เป็นระบบที่เหมาะสม และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จากนั้นจึงดำเนินการในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จนได้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกคือวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลจากบริษัท โมโตโรล่า โซลูชั่นส์์

การเริ่มต้นปรับเปลี่ยนระบบวิทยุจากระบบแอนะล็อกเดิมไปสู่ระบบดิจิทัลด้วยโซลูชั่นของโมโตโรล่า เริ่มต้นตั้งแต่ การวางตำแหน่งเสาสื่อสารในแต่ละพื้นที่ ติดตั้งระบบ รวมถึงฝึกอบรมผู้ใช้ ให้มีความคุ้นเคยสามารถใช้งานฟังก์ชั่นใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับวิทยุสื่อสารระบดิจิทัลใหม่ได้คล่องแคล่ว และเนื่องจากวิทยุระบบดิจิทัลแบบใหม่ภายใต้มาตรฐาน APCO 25 ยังสามารถทำงานร่วมกับวิทยุระบบแอนะล็อกที่ใช้อยู่เดิมได้ ทำให้การปรับเปลี่ยนจากวิทยุสื่อสารระบบแอนะล็อกไปสู่ระบบดิจิทัลสามารถทยอยทำที่ละส่วนงานหรือเส้นทางได้

ขยายศักยภาพการสื่อสารสู่ระบบดิจิทัล

“การเปลี่ยนมาสู่วิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลช่วยให้การติดต่อสื่อสารของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็วเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับระบบแอนะล็อกที่เราเคยใช้งานอยู่ โดยเรานำวิทยุจากโมโตโรล่ามาใช้ทั้งในส่วนของวิทยุประจำตัวบุคคล วิทยุประจำรถยนต์ และระบบวิทยุแม่ข่ายที่ศูนย์ควบคุมทางด่วนแต่ละเส้นทาง” คุณชุมพล โล่ห์จินดา ผู้อำนวยการ กองกู้ภัยและสื่อสาร ฝ่ายควบคุมการจราจร การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าว “ปัจจุบันเรานำวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลมาใช้กับเจ้าหน้าที่ใน 5 เส้นทางได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ และทางพิเศษกาญจนาภิเษก ครอบคลุมระยะทางมากกว่า 150 กิโลเมตร ในขณะที่อีก 3 เส้นทางได้แก่ ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ซึ่งเป็นสัญญาสัมปทานโดยมีเอกชนเป็นผู้ดูแล ยังคงใช้วิทยุสื่อสารระบบแอนะล็อกอยู่ แต่วิทยุสื่อสารทั้ง 2 ระบบ ก็ยังสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ตามปรกติ (Network Compatibility)”

คุณชุมพลให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “เรานำวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลนำมาใช้กับงานจราจร งานกู้ภัย และงานซ่อมบำรุง โดยเราสามารถแบ่งกลุ่มการสื่อสาร (Talk Group) ตามเส้นทาง ทำให้การสื่อสารไม่รบกวนกัน สามารถคุยแบบกลุ่ม หรือคุยแบบเจาะจงไปที่ตัวบุคคลก็ได้  ขณะเดียวกันคุณภาพเสียงจากวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลก็มีความคมชัด มีระบบตัดเสียงรบกวน แม้จะสนทนาท่ามกลางการจราจรที่มีเสียงรถยนต์ภายนอกรบกวนก็ตาม นอกจากเส้นทางในปัจจุบันแล้ว เรายังจะนำวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลไปใช้กับทางพิเศษเส้นอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน”

คุณสุปราณี เกื้อกูลเงิน ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท โมโตโรล่า โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “โมโตโรล่า โซลูชั่นส์ มีเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่ได้มาตรฐานระดับสากล การดำเนินการเปลี่ยนระบบแอนะล็อกไปสู่ดิจิทัลใช้เวลา 6 เดือนในการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเสาอากาศในภูมิประเทศที่จำกัด เพื่อให้รองรับสัญญาณให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ การวางแผนและการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงาน ทำให้ผู้ปฎิบัติงาน ทำงานได้รวดเร็ว นอกจากนี้ เทคโนโลยีการสื่อสารนี้รองรับการทำงานที่เป็นระบบ Trunk ในอนาคต”

ท้ายสุดวิทยุระบบดิจิทัลที่การทางพิเศษนำมาใช้งาน ไม่เพียงช่วยยกระดับการสื่อสารเท่านั้น หากแต่ยังรองรับการขยายตัวสู่ระบบ Trunked Radio ในอนาคต ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพื่อก้าวสู่การให้บริการทางพิเศษในยุคดิจิทัล และสอดรับกับแนวนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งรัฐบาลต้องการให้องค์กรต่างๆ นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและยกระดับการให้บริการประชาชนไปพร้อมกัน