Digital Economy หนุนอุตสาหกรรมไอทีไทยสู่อาเซียน

กลายเป็นกระแสอีกครั้งหนึ่งสำหรับคำว่า “เศรษฐกิจดิจิทัล” หรือ “Digital Economy” แม้ ในวงการไอทีจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สำหรับสังคมไทยคำนี้ก็กลายเป็นคำใหม่สำหรับคนทั่วไป ที่เพิ่งเคยได้ยิน และตื่นเต้นกับคำดังกล่าว จากนโยบายของคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557 และแน่นอนหลายคนอยากรู้ว่ามันคืออะไร? เศรษฐกิจดิจิทัลถูกกล่าวถึงในแนวนโยบาย “การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ” โดยระบุว่า “ส่ง เสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัลและวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลให้เริ่มขับเคลื่อน ได้อย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้ทุกภาคเศรษฐกิจก้าวหน้าไปได้ทันโลก และสามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่ได้ ซึ่งหมายรวมถึงการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ดิจิทัลโดยตรง ทั้งผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ อุปกรณ์สื่อสารดิจิทัล อุปกรณ์โทรคมนาคมดิจิทัล และการใช้ดิจิทัลรองรับการให้บริการของภาคธุรกิจการเงินและธุรกิจบริการ อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคสื่อสารและบันเทิง ตลอดจนการใช้ดิจิทัลรองรับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจ”
เศรษฐกิจดิจิทัล คืออะไร?
เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) หมายถึง เศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของดิจิทัลเทคโนโลยีในบางครั้งก็เรียกว่า เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต (Internet Economy), เศรษฐกิจใหม่ (the New Economy), หรือ Web Economy ทั้งนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลมีความเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม (Traditional Economy) ด้วยทำให้ยากต่อการให้คำจำกัดความที่ชัดเจน[1]
คำ ว่า “Digital Economy” นั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 90 เมื่อกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาได้ตีพิมพ์รายงานฉบับหนึ่งชื่อว่า “The Emerging Digital Economy” และรายงานฉบับนี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า “เศรษฐกิจดิจิทัล” ขณะเดียวกันอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton) ก็เป็นผู้หนึ่งที่ชูธง Digital Economy เช่นกัน ทั้งนี้คลินตันได้กล่าวถึงเศรษฐกิจแบบดิจิทัลในสังคมอเมริกันอยู่บ่อยครั้ง คล้ายกับเป็นการส่งสัญญาณให้ทราบว่าโลกในศตวรรษหน้านั้น จะต้องปรับตัวไม่เฉพาะแค่สหรัฐอเมริกาประเทศเดียวเท่านั้น สำหรับโครงสร้างสำคัญของเศรษฐกิจแบบดิจิทัลนั้น โยงอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวประกอบไปด้วย 4 Segments ใหญ่ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมด้านบริการ[2]
องค์ประกอบของเศรษฐกิจดิจิทัล
- เทคโนโลยีดิจิทัล เครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคม การกระจายเสียงและแพร่ภาพในระบบดิจิทัล
- ฮาร์ดแวร์ คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน ทีวีดิจิทัล อุปกรณ์สื่อสาร/โทรคมนาคมดิจิทัล ผลิตภัณฑ์ดิจิทัลต่างๆ
- ซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่น ดิจิทัลคอนเทนท์ต่างๆ
- ปัจจัยสนับสนุนดิจิทัลเทคโนโลยี เช่น กฎหมาย นโยบาย การกำกับดูแล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา การวิจัย การใช้ดิจิทัลรองรับการให้บริการของภาคธุรกิจการเงินและธุรกิจบริการต่างๆ ภาคสื่อสารและบันเทิง การใช้ดิจิทัลรองรับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นต้น
จากนโยบาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” สู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า “…ต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ยุคดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อให้เทคโนโลยีกระจายไปในทุกภาคส่วน จึงได้ตั้ง “คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ (National Digital Economy)” โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการจากส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง…” สอดรับกับที่ พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้กล่าวว่าภารกิจของกระทรวงจะมีเพิ่มมากขึ้น และต้องมีการปรับโครงสร้างของกระทรวง ซึ่งจะเน้นไปที่ 3 ส่วนหลัก คือ (1) การวางโครงสร้างพื้นฐานไฟเบอร์ออปติก (2) การพัฒนาซอฟต์แวร์และการเขียนโปรแกรม ซึ่งมาจากการที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งคำถามว่าประเทศไทยเรามีศักยภาพที่จะผลิตแท็บเล็ตใช้เองได้หรือไม่? (3) การบูรณาการร่วมกับระบบสาธารณสุขและการศึกษา อีก ทั้งจะมีการหารือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อแก้ปัญหากฎหมายการทำงานที่ทับซ้อนกันอยู่ อนึ่ง อาจมีการปรับเปลี่ยนชื่อกระทรวงเป็น “กระทรวงดิจิทัล” (หรืออาจใช้ชื่ออื่นที่เหมาะสม) เพื่อให้สอดคล้องกับภาระงานใหม่ด้วย
นอก จากนี้ กระทรวงไอซีทียังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ ร่างแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 3) ของประเทศไทย พ.ศ. 2557-2561 ขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนแม่บทที่รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยสู่ปี พ.ศ. 2561 คือ “พัฒนาสังคมอุดม ปัญญาเพื่อก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเท่าเทียมและทั่วถึงในทุกชุมชนและท้องถิ่น ด้วยความมั่นคงและยั่งยืน” (Shape-up Smart Thailand toward Digital Economy)
ผู้ประกอบการไทยจะได้อะไรจากเศรษฐกิจดิจิทัล
กระแส เศรษฐกิจดิจิทัลได้จุดกระแสให้ทุกภาคส่วนของสังคมไทย หันมาให้ความสนใจกับ ICT มากขึ้น จนเรียกว่าจุดกระแสติด ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมไอทีของไทย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมด้านบริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีอาเซียนได้
- อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ เศรษฐกิจดิจิทัลจะช่วยขับเคลื่อนให้มูลค่าตลาดคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ของ ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2557 สามารถเติบโตได้ร้อยละ 3 หรือมีมูลค่า 91,174 ล้านบาทหรืออาจจะมากกว่าตามที่คาดการณ์ไว้นี้ โดยเป็นการเติบโตตามกระแสอุปกรณ์พกพา (Mobile Devices) เช่น สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต เป็นต้น
- อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และบริการซอฟต์แวร์ เศรษฐ กิจดิจิทัลจะช่วยขับเคลื่อนให้ตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ซึ่งผลิตใน ประเทศไทยปี พ.ศ. 2557 เติบโตได้ร้อยละ 6 มูลค่าประมาณ 44,026 ล้านบาท หรืออาจจะมากกว่าตามที่คาดการณ์ไว้นี้ และสำหรับตลาดซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 5,864 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณร้อยละ 20 แต่อย่างไรก็ตามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ก็ยังเป็นอุปสรรคโดยตรงต่อการ พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย เพราะจะบั่นทอนการคิดค้นนวัตกรรมด้านไอที การสร้างงาน ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ในขณะที่รายงานการศึกษาของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (BSA) พบว่า ร้อยละ 1 ที่เพิ่มขึ้นของการใช้ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์ จะกระตุ้นการเติบโตมูลค่า 3.1 พันล้านบาทให้แก่เศรษฐกิจไทย[3]
- อุตสาหกรรมด้านการสื่อสารโทรคมนาคม เศรษฐกิจดิจิทัลจะช่วยขับเคลื่อนตลาดสื่อสารให้มีอัตราเติบโตร้อยละ 4 ในปี พ.ศ. 2557 หรือคิดเป็นมูลค่า 505,831 ล้านบาท หรืออาจจะมากกว่าตามที่คาดการณ์ไว้นี้ โดยเฉพาะการใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ต เนื่องจากคนนิยมรับข่าวสารทาง Social Media มากขึ้น รวมถึงการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น และการวางโครงข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมจะช่วยเพิ่มอัตราการเข้าถึงอินเทอร์ เน็ตของประชากรได้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน ซึ่งมีประมาณ 20,100,000 คน จากประชากร 67,741,401 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 29.7 (ข้อมูล ณ 31 ธันวาคม 2556) สอดคล้องกับที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี พ.ศ. 2558 บอรดแบนด์อินเทอร์เน็ตจะครอบคลุมประชากรร้อยละ 80 และปี พ.ศ. 2563 บอรดแบนด์จะครอบคลุมร้อยละ 95 ของประชากร ซึ่งจะเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลตามไปด้วย
- อุตสาหกรรมด้านบริการ ได้แก่ กลุ่มของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางด้านไอที รวมถึงการบริการให้คําปรึกษาและการบริการในการดําเนินการจัดทํา การบริการการฝึกอบรมและการบริการการศึกษา การประมวลผล การให้บริการฐานข้อมูล การบริการการสนับสนุน เช่น การบํารุงดูแลรักษาและการให้เช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น แม้ไม่มีตัวเลขมูลค่าที่ชัดเจนของอุตสาหกรรมนี้ แต่เมื่ออุตสาหกรรมไอทีด้านอื่นๆ ขยายตัว อุตสาหกรรมนี้ก็จะมีแนวโน้มขยายตัวตามไปด้วย เช่น จากการตื่นตัวกับปรากฏการณ์ Big Data ขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ไปจนถึงองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ความต้องการใช้บริการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ในลักษณะ Cloud Computing ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้
[1] Wikipedia, http://en.wikipedia.org/wiki/Digital_economy
[2] วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ, http://www.thailandindustry.com/news/view.php?id=7271§ion=29&rcount=Y (22 กันยายน 2557)
[3] กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์, http://ww2.bsa.org/country/News%20and%20Events/News%20Archives/global/05152013-SoftwareValueStudy.aspx (22 กันยายน 2557)