06/05/2023

Digital Economy กับอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) ได้รับกระแสตอบรับอย่างดียิ่งจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไอที และอุตสาหกรรมต่างๆ โดยคาดว่าการแก้ไขเพิ่มเติมตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดตั้งกระทรวง ดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเริ่มปรากฎผลอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงต้นปี พ.ศ. 2558 สอดรับกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบพอดี

 002

เนื้อหาในบทความนี้ จะนำเสนอถึงประโยชน์และสิ่งที่ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า จะได้รับจากนโยบาย Digital Economy และข้อเสนอแนะในการนำไอซีทีดิจิตอลเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมนั้นๆ

 

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ประเทศไทยมีศักยภาพในอันดับต้นๆ ของอาเซียน เนื่องจากเป็นตลาดที่ใหญ่ และยังมีโอกาสขยายตลาดในอาเซียนได้อีกมาก แต่มีจุดอ่อนในเรื่องการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่มีโรงถลุงเหล็กต้นน้ำ ซึ่งหลังจากเปิด AEC แล้ว ความน่าสนใจในการลงทุนอุตสาหกรรมนี้ อาจด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีการลงทุนเหล็กต้นน้ำ

 

มูลค่าการนําเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สําคัญของปี 2556 มีจํานวนประมาณ 324,452 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สําคัญของปี 2556 มีจํานวนประมาณ 31,964 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังขาดดุลในอุตสาหกรรมนี้ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.oie.go.th/sites/default/files/attachments/industry_overview/r_octdec56.pdf)

 

ปัจจัยบวกจากสถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสู่ Digital Economy

บริบท ของโลกเปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยีที่มีการปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทำให้ธุรกรรมทาง เศรษฐกิจ และการสื่อสารเป็นระบบดิจิตอลและเชื่อมโยงด้วยเครือข่ายไร้สายมากขึ้น กระบวนการทางเศรษฐกิจเปลี่ยนจาก “Physical Economy” เป็น “Digital Economy” เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นฐาน (Internet of Things) คนติดต่อสื่อสาร และสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์และการเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านสื่อออนไลน์มาก ขึ้น การเคลื่อนย้ายทรัพยากรที่มีจำกัด เป็นไปได้ง่ายขึ้น ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมที่ดีขึ้น

 

Digital Economy จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการได้อย่างไร

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมพื้นฐานที่มีความสำคัญใน การพัฒนาประเทศ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ อาหารกระป๋อง (บรรจุภัณฑ์) เครื่องจักรกล และอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น

 

สภาพแวดล้อมทางธุรกิจของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าแบ่งออกเป็น อุตสาหกรรมต้นน้ำ อุตสาหกรรมกลางน้ำและอุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้ดังนี้

  1. อุตสาหกรรมต้นน้ำ คือ อุตสาหกรรมเหล็กถลุง (Pig Iron) และเหล็กพรุน (Sponge Iron) ซึ่งจัดได้ว่าเป็นกระบวนการเริ่มต้นของอุตสาหกรรมเหล็กที่มีความสำคัญอย่าง มากต่อศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่มีการจัดตั้งโรงงานผลิตเหล็กต้นน้ำ
  2. อุตสาหกรรมกลางน้ำ เป็นขั้นตอนที่นำผลิตภัณฑ์จากการผลิตเหล็กขั้นต้นทั้งที่เป็นของเหลวและของ แข็งรวมถึงเศษเหล็ก (Scrap) มาหลอมปรับปรุงคุณสมบัติและส่วนผสมทางเคมีให้ได้เป็นเหล็กกล้า (Steelmaking) สำหรับประเทศไทยผู้ผลิตขั้นกลางทุกรายจะผลิตด้วยเตาอาร์ตไฟฟ้าโดยใช้เศษ เหล็กเป็นวัตถุหลักในการผลิต รวมถึงการหล่อเหล็กกล้าให้เป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปที่มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ เหล็กแท่งยาว (Billet) เหล็กแท่งแบน (Slab) และเหล็กแท่งใหญ่ (Bloom)
  3. อุตสาหกรรมปลายน้ำ เป็นขั้นของการแปรรูป ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปด้วยกระบวนการต่าง ๆ ได้แก่ การรีดร้อน การรีดเย็น การเคลือบผิว การผลิตท่อเหล็ก การตีเหล็กขึ้นรูปรวมไปถึงการหล่อเหล็ก เช่น เหล็กเส้น เหล็กลวด เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เป็นต้น ซึ่งจะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบทางการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

 

แนวทางการนำไอทีมาเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

1) พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการดำเนินงานของธุรกิจ การจัดหาวัตถุดิบแร่เหล็ก ซึ่งไทยต้องนำเข้าเหล็กต้นน้ำเกือบทั้งหมด เพื่อผลิตเหล็กในอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ

2) พัฒนาระบบสารสนเทศที่สามารถเชื่อมโยงในระบบการผลิตได้อย่างครบวงจร มีการจัดการวัตถุดิบ การใช้กำลังการผลิตของเครื่องจักรได้เต็มประสิทธิภาพ การจัดการสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิต

3) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย และผู้ประการในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ควรมีการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจนร่วม กับภาครัฐ ภายใต้นโยบาย Digital Economy

4) พัฒนาระบบสารสนเทศทางด้านภาษีและขั้นตอนศุลากรของไทย เพื่อรองรับการนำเข้า-ส่งออก ของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพลดขั้นตอนสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้

5) นำระบบดิจิตอลเทคโนโลยีมาใช้ตรวจสอบมาตรฐานการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็ก กล้าที่ไม่ได้มาตรฐานให้มากขึ้น เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศและทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและเป็นการสนับสนุนให้ ผู้ผลิตเหล็กในประเทศไทย พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ตนเองต่อเนื่องด้วย

 

แนวโน้มอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ภายใต้ Digital Economy

หากรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนนโยบาย Digital Economy ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เชื่อมั่นว่าจะมีส่วนช่วยหนุนเสริมให้อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า มีขีดความสามารถในการดำเนินกิจการและมีการขยายตัวของตลาดเพิ่มขึ้นทั้งในและ ต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศสมาชิกอาเซียน เพราะผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมแบบออนไลน์ได้มากขึ้น ลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการทำธุระกรรม สามารถเชื่อมโยงระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น

Leave a Reply