06/09/2023

Digital Economy กับอุตสาหกรรมยานยนต์

001

นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) ของภาครัฐเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น พร้อมกระแสตอบรับอย่างดียิ่งจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไอที และอุตสาหกรรมต่างๆ โดยคาดว่าการแก้ไขเพิ่มเติมตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเริ่มปรากฎผลอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงต้นปี พ.ศ. 2558 สอดรับกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบพอดี

 

เนื้อหาในบทความนี้ จะนำเสนอถึงประโยชน์และสิ่งที่ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จะได้รับจากนโยบาย Digital Economy และข้อเสนอแนะในการนำไอซีทีดิจิตอลเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมนั้นๆ

 

ทั้งนี้ จากผลวิเคราะห์อุตสาหกรรมไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่า

อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงและมีศักยภาพของประเทศไทย โดยไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ อันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นผู้ส่งออกยานยนต์รายใหญ่ระดับ 1 ใน 10 ของโลก (ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา บราซิล ไทย เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เม็กซิโก และอินโดนีเซีย) ไทยมีศักยภาพในการผลิตรถยนต์ที่มีความเฉพาะใน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ รถปิกอัพ 1 ตัน รถยนต์ประหยัดพลังงาน (Eco-car) และรถยนต์ขนาดเล็กคุณภาพสูง ซึ่งในส่วนของรถจักรยานยนต์ไทยมีการผลิตเป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซีย และเวียดนาม ดังนั้น หากเปิด AEC ไทยควรจะรักษาฐานการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กที่มีคุณภาพสูง ฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยออกไปตั้งฐานการผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วนในอาเซียน

สำหรับมูลค่าการส่งออกรถยนต์ของประเทศไทยในปี 2556 ปริมาณการส่งออกรถยนต์มีมูลค่าการส่งออก 512,186.39 ล้านบาท รถจักรยานยนต์ มีมูลค่า 50,149.91 ล้านบาท และการส่งออกอุตสาหกรรมชิ้นส่วน       ยานยนต์ มีมูลค่า 754,225.90 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าส่งออกรถยนต์ 512,186.40 ล้านบาท เครื่องยนต์มูลค่า 28,353.85 ล้านบาท ชิ้นส่วนและอะไหล่มูลค่า 19,715.26 ล้านบาท อุปกรณ์ยึดจับและแม่พิมพ์มูลค่า 2,636.44 ล้านบาท และชิ้นส่วนสำหรับโรงงานประกอบรถยนต์ (OEM Parts) 190,386.45 ล้านบาท และอื่นๆ 947.49 ล้านบาท ทั้งนี้ ตลาดสำคัญในการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ www.nstda.or.th/industry/autoparts-industry)

 

ความสัมพันธ์กับ Digital Economy

บทบาทของ Digital Economy ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ก็คือการนำไอซีที และดิจิตอลเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การตลาด การทำธุระกรรมต่างๆ ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าของอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากรายจ่ายที่ลดได้ และรายได้จากผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการทำการตลาดผ่านสื่อใหม่ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถแข่งขันในเวทีอาเซียนและเวทีโลกได้

 

สอดคล้องกับที่ นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้กล่าวไว้ว่า หาก Digital Economy เกิดขึ้น เชื่อว่าอย่างน้อยๆ จะสามารถเพิ่มรายได้ให้ได้ประมาณร้อยละ 30 ในแต่ละธุรกิจ จากการช่วยลดค่าใช้จ่าย ผ่านการซื้อขายวัตถุดิบได้ในราคายุติธรรมไปจนถึงสามารถต่อยอดธุรกิจได้ และ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) ได้กล่าวว่า Digital Economy จะช่วยผู้ผลิต เพราะ Supply ของผู้ผลิตจะสามารถหาได้ง่ายขึ้น และหาได้โดยที่ไม่ต้องมีการผูกขาดเพราะว่ามีแหล่งที่สามารถค้นได้จากอินเทอร์เน็ต ผู้ผลิตสามารถเลือกหา Supply ที่มีคุณภาพดี ราคาถูกได้จากแหล่งก่อนที่จะนำมาสู่การผลิต

 

ปัจจัยบวกจากสถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสู่ Digital Economy

บริบทของโลกเปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยีที่มีการปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทำให้ธุรกรรมทางเศรษฐกิจ และการสื่อสารเป็นระบบดิจิตอลและเชื่อมโยงด้วยเครือข่ายไร้สายมากขึ้น กระบวนการทางเศรษฐกิจเปลี่ยนจาก “Physical Economy” เป็น “Digital Economy” เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นฐาน (Internet of Things) คนติดต่อสื่อสาร และสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์และการเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น การเคลื่อนย้ายทรัพยากรที่มีจำกัด เป็นไปได้ง่ายขึ้น ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมที่ดีขึ้น

 

Digital Economy จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการได้อย่างไร

003

เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ จะพบว่า โครงสร้างของอุตสาหกรรมยานยนต์ ประกอบด้วยผู้ประกอบการ 2 กลุ่มใหญ่ คือ

 

  1. กลุ่มกิจกรรมหลัก (Core activities) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่ ผู้ประกอบการยานยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งผู้ประกอบการยานยนต์ ที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ และบริษัทที่ร่วมทุนกับต่างชาติ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่สำคัญในการกำหนดบทบาททิศทางในการผลิตของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งหมดของไทย
  2. กลุ่มกิจกรรมสนับสนุน (Support activities) ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ และกลุ่มนโยบายสนับสนุนโดยมีรายละเอียด ดังนี้

ซึ่งกลุ่มนโยบายและสนับสนุน ประกอบด้วย 3 กลุ่มย่อย ได้แก่

  • กลุ่มภาครัฐ ทำหน้าที่ในการวางแผนและกำหนดนโยบายระดับชาติ
  • กลุ่มสถาบันยานยนต์และสมาคมผู้ประกอบการที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และระหว่างเอกชนด้วยกันเอง เช่น สถาบันยานยนต์ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เป็นต้น
  • กลุ่มสถาบันการศึกษา สถาบันเทคนิคและสถาบันวิจัยต่างๆ

 

จากโครงสร้างเครือข่ายวิสาหกิจอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เห็นได้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีความเชื่อมโยงกับหลายส่วนในห่วงโซ่อุปทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเมื่อพิจารณาถึงแนวทางในการพัฒนาให้ประเทศไทยสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นฐานการผลิตแห่งเอเชีย ซึ่งประกอบด้วย 4 แนวทางการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งกับผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย ตามแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พ.ศ. 2555-2574 ดังนี้

สรุปแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์

Auto_industry

ที่มา: แผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พ.ศ. 2555-2574

 

การนำไอทีมาเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์

1) ยกระดับฝีมือแรงงานเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและรองรับเทคโนโลยียานยนต์ในอนาคตที่จะมีเทคโนโลยีระดับสูงเพิ่มขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น e-Learning, m-Learning เป็นต้น โดยเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรและออกใบรับรองคุณวุฒิแก่ผู้ที่เรียนผ่านระบบดังกล่าวจนสำเร็จการศึกษา

 

2) ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์เพื่อสร้างมูลค่า (Value Creation) ให้เป็นเทคโนโลยีที่ขั้นสูงในระบบดิจิตอล รองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในยุค Internet of Things โดยให้มีความสอดคล้องกับแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ ปี พ.ศ. 2555-2559 (www.thaiauto.or.th/2012/th/about-us/download/Master_Plan_Final_2555-2559.pdf) เช่น

  • เทคโนโลยีรักษ์โลก ซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยีสะอาด ประหยัด ปลอดภัย โดยมีความร่วมมือทางวิชาการจากศูนย์เครือข่ายงานวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ
  • การผลิตและส่งออกรถยนต์ไฮบริดและรถไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น แบตเตอร์รี่ ระบบชาร์จไฟฟ้า ระบบเปลี่ยนแบตเตอร์รี่ สถานีชาร์จไฟฟ้า เป็นต้น
  • ดึงดูดความสนใจบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนําของโลก เพื่อให้เกิดฐานการผลิตชิ้นส่วนเทคโนโลยีระดับสูง และส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการไทย และพัฒนาให้เกิดฐานการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนในประเทศไทย
  • สร้างมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยเทียบเท่ากับกลุ่มประเทศยุโรป เพื่อสร้างภาพลักษณ์สินค้ายานยนต์คุณภาพสูง มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • เตรียมความพร้อมในการพัฒนารถ Fuel Cell ใน 20 ข้างหน้า ทั้งนี้ Fuel Cell หรือเซลล์เชื้อเพลิง เป็นเซลล์ไฟฟ้าเคมีอย่างหนึ่งคล้ายกับแบตเตอรี่ แต่แตกต่างกันที่เซลล์เชื้อเพลิงนั้นออกแบบมาให้มีการเติมสารตั้งต้น (ไฮโดรเจนและออกซิเจน) เข้าสู่ระบบตลอดเวลา เซลล์เชื้อเพลิงจึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงและปราศจากมลพิษ
  • สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของเครื่องจักรการผลิตภายในประเทศ ลดการสูญเสียดุลการค้าจากการนําเข้าเครื่องจักร โดยมุ่งเน้นไปที่เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีไม่สูงมากนัก แต่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไอซีที และดิจิตอลได้อย่างเหมาะสม เช่น ระบบ Automation ในคลังสินค้า แขนกลยกสินค้า รถขนสินค้าเดินตามสาย เป็นต้น

 

3) ส่งเสริมการพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสร้างความมั่นคงทางวัตถุดิบต้นน้ำ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะ เหล็กและโลหะขั้นกลาง ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำที่สําคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์

 

4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการ เช่น

  • กําหนดนโยบายส่งเสริมการนำไอซีทีและดิจิตอลเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยอาจใช้มาตรการจูงใจทางภาษี
  • การวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีเสถียรภาพ
  • การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุระกรรมต่างๆ ผ่านทางระบบออนไลน์กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ เพื่อลดเวลาและขั้นตอน สร้างความโปร่งใสในกระบวนการดำเนินงานของภาครัฐ
  • พัฒนาระบบสารสนเทศที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อย่างครบวงจร เช่น การประสานงานระหว่างสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมและกรมขนส่งทางบกในการทดสอบชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อรับรองมาตรฐาน เป็นต้น
  • ผลักดันให้ National Single Windows สามารถใช้งานได้จริงในอาเซียนโดยเร็ว เพื่อให้พิธีการศุลกากรมีความรวดเร็ว สามารถบ่งชี้ประเภทสินค้าได้ชัดเจน
  • จัดตั้ง “ศูนย์ทดสอบและวิจัยพัฒนายานยนต์” เพื่อสํารวจข้อมูลการจัดทําศูนย์ทดสอบและวิจัยพัฒนายานยนต์และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับทิศทางของการพัฒนาเทคโนโลยีรักษ์โลก การจัดตั้งศูนย์ทดสอบ วิจัยและพัฒนายานยนต์ เพื่อให้บริการด้านการทดสอบ วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างเป็นระบบ สร้างเครือข่ายงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ การมีศูนย์ทดสอบและสนามทดสอบมีความจําเป็นอย่างมาก เนื่องจากมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมจะมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น สินค้ายานยนต์จึงจําเป็นต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปยังประเทศพัฒนาแล้วในอนาคต
  • จัดตั้ง “ศูนย์สารสนเทศยานยนต์” เพื่อจัดทําและพัฒนาฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ตลอดจนจัดทํารายงานศึกษาด้านยานยนต์เพื่อสนับสนุนการกําหนดนโยบายของภาครัฐ และการปรับแผนธุรกิจของภาคเอกชน โดยเน้นฐานข้อมูลที่ใช้เพื่อการวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขัน เปรียบเทียบกับคู่แข่ง สถานภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค ในประเทศ และประเทศคู่แข่ง ตลอดจนนโยบาย กฎระเบียบ มาตรฐาน มาตรการทางการค้าของแต่ละประเทศ โดยต่อยอดจากโครงการสารสนเทศยานยนต์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ยกระดับสู่การเป็นศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีข้อมูลครอบคลุมประเด็นสําคัญ มีการปรับปรุงข้อมูลอย่างต่อเนื่อง มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ

 

แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ภายใต้ Digital Economy

หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันกําหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปีพ.ศ. 2564 สู่การที่ “ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์โลก พร้อมด้วยห่วงโซ่อุปทานที่สร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

ภายใต้นโยบาย Digital Economy หากรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนได้จริง เชื่อมั่นว่าจะมีส่วนช่วยหนุนเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมแบบออนไลน์ได้มากขึ้น ลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการทำธุระกรรม ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นหากสามารถเชื่อมโยงระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบตลอดห่วงโซ่อุปทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

นโยบาย Digital Economy จะมีส่วนช่วยหนุนเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์  มีมูลค่าเพิ่มขึ้น สามารถแข่งขันในเวทีอาเซียนและเวทีโลกได้ แม้ในขณะนี้จะยังไม่สามารถประเมินหรือคาดการณ์มูลค่าเพิ่มที่จะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากนโยบาย Digital Economy ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และคาดว่าจะมีการจัดตั้งกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ในต้นปี 2558 รวมถึงการแก้ไข เพิ่มเติม หรือตรากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอย่างน้อยก็จะช่วยให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของดิจิตอลมากขึ้น ในขณะที่การขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละอุตสาหกรรมก็ต้องช่วยกันผลักดันต่อไป

Leave a Reply