April 20, 2024

บทความงานเสวนา Designing the Future of Game’ ภายใต้ธีม Tourism & Entertainment Rebound

Designing the Future of Game’ ภายใต้ธีม Tourism & Entertainment Rebound

 ถึงเวลาหรือยัง? ที่ต้องพัฒนาเกมไทยให้คนไทยเล่น

อุตสาหกรรมเกมเป็นอุตสาหกรรมที่มูลค่าสูงกว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์และเพลง แต่อุตสาหกรรมเกมกลับไม่ได้รับการยอมรับและให้การสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร หลายคนมองว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในหลายๆ ครั้งเกิดจากเกม หรือเกมเป็นตัวสร้างให้เด็กไทยเป็นเด็กมีปัญหา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเกมดีๆ เกมคุณภาพ มีอยู่ในตลาดมากมาย หรือแม้แต่เกมสู้กัน ฆ่ากันตาย ก็ไม่ใช่ตัวกระตุ้นการก่อให้เกิดอาชญากรรมเพียงอย่างเดียว

อุตสาหกรรมเกมของไทยทำไมไม่ได้รับการสนับสนุน??และทำไมคนไทยถึงไม่เล่นเกมไทย?? พบคำตอบได้ที่การเสวนาหัวข้อ ‘Designing the Future of Game’ ภายใต้ธีม Tourism & Entertainment Rebound ในงานStartup Thailand x Innovation Thailand Expo 2020

จริงหรือเปล่า? ที่ความเป็นไทยทำให้เกมน่าเบื่อ

การเกิดขึ้นของเกม HOME SWEET HOME ของ ศรุต ทับลอย ประธานกรรมการบริษัท อิ๊กดราซิลกรุ๊ป จำกัด เกิดจากการอยากสร้างเกมดีๆ ที่มีความเป็นสากลให้เป็นที่รู้จักของทั่วโลก  และต้องการประกาศให้รู้ว่าคนไทยก็มีฝีมือในการสร้างเกม ซึ่งจุดที่ทำให้ HOME SWEET HOME น่าสนใจเพราะศรุตไม่เอาความเป็นไทยใส่เข้าไปในเกม เขาเชื่อว่าการจะทำเกมที่ดีได้ ต้องทำเกมให้สนุกก่อนแล้วค่อยใส่ความเป็นไทยเข้าไป ที่ผ่านมาเกมของไทยไม่ได้รับการยอมรับ เพราะไม่สนุก มุ่งแต่ใส่ความเป็นไทยเข้าไป ทำให้ความเป็นไทยดูแย่ในสายตาคนเล่นเกม

ถ้าเราอยากไปอินเตอร์เราต้องคิดแบบอินเตอร์ อย่าสร้างสิ่งที่เราชอบอย่างเดียวให้สร้างสิ่งที่ตลาดต้องการด้วย ความคิดของจิรยศ เทพพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท อินโฟเฟด จำกัด ก็มองไม่แตกต่างจากศรุตที่เชื่อว่าเกมดีต้องตอบโจทย์ตลาดไม่ใช่ตอบความชอบของคนทำ

แม้เกมไทยต่างชาติจะรู้สึกตื่นเต้น แต่คนไทยกลับไม่ชอบ ไม่ตื่นเต้น เพราะการเอาความเป็นไทยใส่เข้าไปมากเกิน ทั้งวัดพระแก้ว ตัวละครไทยจักรๆ วงศ์ๆคำพูดของ บัญญพนต์ พูลสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์Daydevยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าความเป็นไทยยังไม่ถึงเวลาที่ต้องใส่เข้าไปในเกมถ้าเกมของคุณยังไม่เจ๋งพอ!

เงินไม่มี บทไม่เจ๋ง เกมไทยตาย

ถ้าปัญหาการใส่ความเป็นไทยเข้าไปในเกมทำให้เกมของคนไทยไม่ได้รับความสนใจ ปัญหาเรื่องเงินทุนสำหรับนักพัฒนาเกมก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน แม้อุตสาหกรรมเกมจะมีมูลค่าที่สูงและเติบโต แต่เม็ดเงินที่จะมาลงทุนกับเกมกลับน้อยมาก ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับให้ความสำคัญกับนักพัฒนาเกมไทย อย่างเกม HOME SWEET HOME ของศรุต ภาคแรกเขาลงทุนเอง 20 ล้านบาท แต่ภาคสองมีนักลงทุนชาวจีนให้เงินทุนสนับสนุน 60ล้านบาท การทำเกมดีๆ จะมีแค่ Passion ไม่ได้ต้องมีเงินด้วย ศรุตมองว่าถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐควรร่วมลงทุนกับภาคเอกชนที่ทำเกม โดยแบ่งกำไรห้าสิบห้าสิบกำไรที่ได้รัฐก็นำไปต่อยอดกองทุนเพื่อพัฒนาเกมต่อไป

แม้เงินสนับสนุนจะสำคัญต่อการพัฒนาเกม แต่ก็ยังไม่ใช่คำตอบที่นักพัฒนาเกม อย่าง ศรุต จริยศ และบัญญพนต์ ต้องการองค์ความรู้ด้านเกมคือสิ่งที่นักพัฒนาเกมต้องการมากที่สุด ณ เวลานี้ จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนในเรื่องนี้ เช่น การสร้างคอมมูนิตี้เกี่ยวกับเกมเพื่อเป็นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน แล้วเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเกมระดับโลกมาอบรมให้ เพราะคนไทยยังขาดองค์ความรู้ด้านเกมอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องการเขียนบท ทำให้ตัวละครในเกมขาดความต่อเนื่องก็อยากให้รัฐส่งเสริม ในฐานะนักพัฒนาเกมก็อยากให้คนไทยเล่นเกมของไทย แต่ทุกวันนี้นักพัฒนาเกมต้องหันไปทำ NON GAME เพื่อสร้างรายได้ อย่าง เกมด้านการเกษตรเกี่ยวกับการสอนการชำแหละวัว การชำแหละปลา หรือการตัดกิ่งลำใย ที่สนับสนุนการผลิตเกมโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพราะคนไทยมองว่าเกมไทยกิ๊กก็อก

ประเทศไทยมีนักพัฒนาเกมฝีมือมากมายและต่างชาติให้การยอมรับ แต่สิ่งที่ทำให้เกมไทยไม่สามารถอยู่ในใจนักเล่นเกมคนไทยได้กลับเป็นเรื่องทัศนคติที่มองว่าเกมไทยไม่ดี ไม่เจ๋ง น่าเบื่อ นี่คือที่นักพัฒนาเกมทั้ง 3 ท่านจะต้องฝ่าฟัน

การเปลี่ยนทัศนคติไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้เสียเลย