06/10/2023

Cloud Computing : เส้นทางสู่การเป็นองค์กรดิจิตอลอย่างสมบูรณ์แบบ

ปัจจุบัน คลาวด์ คอมพิวติ้ง ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้บริโภคอีกต่อไป เรามองเห็นหลายบริษัท เช่น Apple ที่ผลักดันให้ลูกค้าทั่วโลกใช้ประโยชน์จากคลาวด์อย่างต่อเนื่อง สำหรับองค์กรธุรกิจต่างๆ ก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญในการใช้คลาวด์แล้วเช่นกัน ผลสำรวจจาก Cloud Sherpas พบว่า 82 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริหารระดับ C-level มองว่ากลยุทธ์การใช้คลาวด์เป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจ แม้ว่าบางส่วนอาจมองว่ามันเป็นเพียงหนึ่งในเคล็ดลับทางธุรกิจ แต่ในทางกลับกัน มีผู้บริหารจำนวนมากที่มองว่าคลาวด์คือเทคโนโลยีอันทรงพลังที่สามารถสร้างข้อได้เปรียบทางธุรกิจ และช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ ความจริงแล้ว สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีจุดอ่อนการแข่งขันในด้านค่าใช้จ่ายในการจัดการกับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีด้วยตัวเอง คลาวด์นับป็นทางเลือกที่ช่วยเหลือธุรกิจเหล่านี้ได้มากทีเดียวshutterstock_1056120082

ปัจจุบัน คลาวด์ คอมพิวติ้ง ในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว และได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลสำหรับหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบาย e-payment ของรัฐบาล ธุรกิจร้านค้าออนไลน์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิตอล

ไอดีซี ได้คาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2559 การใช้งานคลาวด์ในประเทศไทยจะเติบโตขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มต้นด้วยกลุ่มธนาคารที่เริ่มใช้ประโยชน์จากคลาวด์เป็นกลุ่มแรก ทั้งนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนการนำคลาวด์ คอมพิวติ้ง ไปใช้เป็นรากฐานสำคัญขององค์กรธุรกิจไอทีต่างๆ และเป็นโครงสร้างสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลของธนาคารต่างๆด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ความนิยมที่เพิ่มขึ้นต่อ อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ก็มีส่วนในการช่วยกระตุ้นตลาดคลาวด์ได้มากขึ้นเช่นกัน

ทำไมต้องใช้คลาวด์?

ชีวิตการทำงานในแต่ละวันของผู้นำในองค์กรธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ก็ตาม ล้วนต้องเจอกับความกดดันในเรื่องการลดค่าใช้จ่าย และมักมองหาตัวช่วยที่สามารถทำได้มากกว่า ในราคาที่ถูกลงอยู่เสมอ คลาวด์คือตัวเลือกที่น่าสนใจมากสำหรับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน คลาวด์สามารถช่วยเร่งการดำเนินงานได้อย่างคุ้มค่าและราคา เป็นตัวขับเคลื่อนที่ดีในการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และยังช่วยเชื่อมต่อห่วงโซ่คุณค่าได้แบบเรียลไทม์ ข้อดีอื่นๆ ยังรวมถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เพิ่มความคล่องตัวและความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจ และสามารถย้ายงบลงทุน (capex) และเปลี่ยนให้กลายเป็นค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงาน (opex) เพื่อสร้างมุมมอง และการคาดการณ์ในเรื่องค่าใช้จ่ายต่อเนื่องได้อย่างมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ข้อได้เปรียบของการวางกลยุทธ์พื้นฐานเพื่อขึ้นสู่คลาวด์ ยังช่วยให้องค์กรสามารถให้ความสำคัญกับความสามารถหลักต่างๆ โดยการใช้บริการจากผู้ให้บริการด้านคลาวด์ ไอที และแอพพลิเคชั่นนอกองค์กร ซึ่งมีควาเชี่ยวชาญสูงและคุ้มราคา การแบ่งส่วนเงินทุนและจัดลำดับความสำคัญในธุรกิจ คือปัจจัยสำคัญที่จะชี้ให้เห็นว่าองค์กรนั้นๆสามารถจัดสรรการลงทุนในเรื่องนวัตกรรมใหม่เพื่อธุรกิจ และกิจกรรมทางการตลาดต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากฟังก์ชั่นการดำงานภายในของแผนกไอทีเอง ยังช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสัมพันธภาพระหว่างด้านไอทีและภาพธุรกิจโดยรวมได้มากขึ้น เมื่อไอทีได้กลายมาเป็นตัวประสานเทคโนโลยีและการดำเนินธุรกิจเข้าด้วยกัน

บริการด้านคลาวด์ คอมพิวติ้ง ในปัจจุบัน แบ่งประเภทอย่างไรบ้าง?

ในปัจจุบัน การให้บริการต่างๆ การทำงานร่วมกัน และแอพพลิเคชั่นจำนวนมาก ต่างทำงานบนคลาวด์ องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องประเมินให้ได้ว่าโมเดลประเภทใดที่จะช่วยให้พวกเขาเดินหน้าได้เร็วยิ่งขึ้น

  • Software as a Service (SaaS) คือรูปแบบการให้บริการซอฟต์แวร์แบบ subscription-based โดยซอฟต์แวร์เหล่านี้จะให้บริการผ่านอินเตอร์เน็ต
  • Platform as a Service (PaaS) การให้บริการแพลตฟอร์มการทำงานให้ผู้ใช้งานสามารถพัฒนา ใช้งาน และบริหารจัดการแอพพลิเคชั่นของตัวเองได้บนคลาวด์
  • Infrastructure as a Service (IaaS) การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเช่น ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ สตอเรจ ในระบบเสมือน โดยที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องลงทุนในสิ่งเหล่านี้เอง ผู้ให้บริการหลักในปัจจุบันเช่น SAP Hana Enterprise Cloud และ Amazon Web Services

ข้อแตกต่างระหว่างการใช้คลาวด์ กับการใช้เซิร์ฟเวอร์ขององค์กรเอง

มูลค่าของการใช้คลาวด์ คอมพิวติ้งในองค์กรยังคงเพิ่มสูงขึ้อย่างต่อเนื่อง ในปี 2558 ตลาดคลาวด์ คอมพิวติ้งทั่วโลกเติบโตขึ้น 28 เปอร์เซ็นต์ รายได้ทั้งหมดคิดเป็นมูลค่า 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ Synergy Research Group พบว่า การให้บริการ IaaS/PaaS แบบสาธารณะ มีการเติบโตสูงสุดที่ 51 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยบริการด้านโครงสร้าง ไพรเวท และ ไฮบริด คลาวด์ ซึ่งมีการเติบโตที่ 45 เปอร์เซ็นต์

ตัวขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตดังกล่าวคือ การที่องค์กรต่างๆเริ่มมองเห็นและรับรู้ว่าค่าใช้จ่ายในการใช้งานซอฟต์แวร์ขององค์กรในปัจจุบันนั้นไม่คุ้มกับผลลัพธ์มูลค่าทางธุรกิจที่ได้ ผลสำรวจ Nucleus Research พบว่า Cloud analytics ให้ผลตอบแทนในการลงทุนมากกว่าถึง 1.7 เท่า เมื่อเทียบกับการใช้งานแอพพลิเคชั่นในระบบขององค์กรเอง ข้อเท็จจริงดังกล่าวส่งผลให้เกิดการตวจสอบด้านการเงินที่สูงขึ้นในการเลือกใช้ซอฟต์แวร์ขององค์กรแบบดั้งเดิมที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะในด้านความคุ้มค่า เนื่องจากรูปแบบการให้บริการของคลาวด์ คอมพิวติ้ง คือการ “จ่ายตามที่ใช้งานจริง” เท่านั้น นอกจากนี้ ผลสำรวจของ Aberdeen Group ยังพบว่า คลาวด์ ERP สามารถมอบผลกำไรให้องค์กรได้มากกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับการใช้งานแอพพลิเคชั่นในระบบขององค์กรเอง

ผู้นำองค์กรต่างต้องการเพิ่มมูลค่าจากการดำเนินงานด้านไอที แต่จะทำได้อย่างไร เพราะหลายๆองค์กร ยังอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานด้านไอทีที่มีโครงสร้างซับซ้อน ฟุ่มเฟือย และยากต่อการจัดการ  ปัจจัยสำคัญจึงคือความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ซึ่งผลสำรวจจาก Aberdeen Group เผยว่า 59 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริหาร รับรู้ว่า การย้ายแอพพลิเคชั่นต่างๆ ในองค์กรขึ้นสู่ระบบคลาวด์ จะช่วยลดค่า “ต้นทุนการเป็นเจ้าของ (TCO)” ได้

ย้ายสู่ระบบคลาวด์

ผลการศึกษาล่าสุดโดย Software Alliance (BSA) ซึ่งรวบรวมผลจากการประเมินนโยบายด้าน คลาวด์ คอมพิวติ้ง ทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 21 จากการจัดอันดับ 24 ประเทศที่ใช้ไอทีเป็นพื้นฐานระบบเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยขึ้นมาจากอันดับที่ 23 ในปี 2556 ผลการศึกษาในครั้งนี้ เป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกว่า กฎหมายและนโยบายต่างๆ สำหรับคลาวด์ คอมพิวติ้ง ในประเทศไทยกำลังมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ผลการสำรวจ “ความพร้อมในการใช้ คลาวด์ คอมพิวติ้ง ของประเทศไทย” ในปีที่ผ่านมา ยังแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีระดับความพร้อมที่สูงสำหรับการใช้คลาวด์ คอมพิวติ้ง โดย 55 เปอร์เซ็นต์จากผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม 156 คน กล่าวว่า พวกเขายินดีที่จะใช้ cloud-based services ภายในปี 2559 โดยเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนผู้ร่วมตอบแบบสอบถามเมื่อปี 2557 ที่มีเพียง 45 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามยังเผยว่า SaaS, IaaS, PaaS, private cloud และ big-data analytics จะสามารถช่วยขยายศักยภาพการทำงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายขององค์กรได้ในที่สุด โดยสามรูปแบบการให้บริการหลักของ cloud service ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ เซิร์ฟเวอร์ อีเมล (Email servers), ระบบการจัดเก็บข้อมูล (storage systems) และการทำงานร่วมกันของเดสก์ท็อป (desktop synchronization)

ปัจจุบัน องค์กรขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจด้านโทรคมนาคม, การเงินและธนาคาร, ประกันภัย และร้านค้าปลีก เริ่มหันมาใช้บริการ cloud-based service กันมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายล่วงหน้า

อย่างที่เราได้เห็นกันว่า ตัวเลขการใช้งานคลาวด์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามที่ผู้นำองค์กรต่างๆต้องคำนึงถึงหากต้องการย้ายการดำเนินธุรกิจสู่ระบบคลาวด์

  • ควรใช้กลยุทธ์ใดมาสนับสนุนการใช้คลาวด์ขององค์กร?
  • องค์กรจะสร้างวิสัยทัศน์การทำงานบนคลาวด์ออกมาในรูปแบบใด?
  • การทำงานในส่วนใดบ้างที่จะถูกย้ายขึ้นคลาวด์?
  • กรณีใดที่จะสร้างประโยชน์ต่อองค์กรได้มากที่สุด?
  • จะสามารถวัดมูลค่าทางธุรกิจได้อย่างไร?
  • ทักษะและโครงสร้างองค์กรแบบใดที่จำเป็นในการขับเคลื่อนนวัตกรรมคลาวด์?
  • แผนกลยุทธ์ควรเป็นอย่างไร?

การตั้งคำถามเหล่านี้และหาคำตอบให้ได้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะถึงแม้คุณไม่ถาม คู่แข่งของคุณอาจจะมองหาคำตอบอยู่ก็เป็นได้ ลงมือเสียตั้งแต่วันนี้ อย่าปล่อยให้องค์กรของคุณพลาดโอกาส

บทความโดย นายลีเฮอร์ ออบิซูร์ กรรมการผู้จัดการ เอสเอพี ประจำภูมิภาคอินโดจีน

Leave a Reply