03/26/2023

Success Story

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกระดับระบบเครือข่ายไร้สาย เพื่อก้าวสู่การเป็น Digital Lifestyle University

ในฐานะของมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ก็เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ไม่ยอมหยุดนิ่งในการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาช่วยขยายโลกการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการเรียนการสอนของนิสิตและคณาจารย์ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัย สอดรับกับแนวคิดของการปรับโฉมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสู่การเป็น “Digital Lifestyle University” ด้วยการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทุกแพลตฟอร์มของมหาวิทยาลัยเข้าไว้ด้วยกัน และจะทำให้ไลฟ์สไตล์ของนิสิต คณาจารย์ และบุคลากร มีความสะดวกสบายขึ้น สามารถเติมเต็มศักยภาพในการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบได้ทุกวันทั้งขณะอยู่ในและนอกรั้วมหาวิทยาลัย

 

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานด้านระบบเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเครือข่ายไร้สายถือเป็นสิ่งสำคัญ และมีความจำเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวให้กลายเป็นจริง จึงเป็นที่มาของการรวมศูนย์ระบบเครือข่ายไร้สายทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อให้การบริหารจัดการ วางแผนการขยายตัวในอนาคต และต่อยอดไปสู่โซลูชันดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคต

 

ความท้าทาย

สถาบันการศึกษาในยุคดิจิทัลต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากมายเช่นเดียวกับธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากการเรียนการสอนภายในห้องเรียนของอาจารย์และนิสิต สู่โลกออนไลน์ที่มีการทำกิจกรรม มีการโต้ตอบกัน มีการทำงานกลุ่ม เพื่อที่จะเสริมทักษะอื่นที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของเนื้อหาเพียงอย่างเดียว เนื่องจากนิสิตสามารถค้นหาข้อมูลและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ภายในห้องเรียนเหล่านั้นได้จากอินเทอร์เน็ต และสามารถเรียนรู้ทางออนไลน์ได้จากทุกที่ทุกเวลา จึงทำให้การเชื่อมต่อและสื่อสารไร้สายกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่สำคัญสำหรับการเรียนการสอนในยุคดิจิทัลของทุกมหาวิทยาลัย

 

อย่างไรก็ตาม จุฬาฯ ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในการให้บริการเครือข่ายไร้สายเช่นเดียวกับสถานศึกษาขนาดใหญ่ทั่วไปก็คือ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีการให้บริการเครือข่ายไร้สายภายใต้ชื่อ Chula WiFi ให้บริการครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 600 ไร่ 150 อาคาร 750 ชั้น และมีจำนวนผู้ใช้รวมกว่า 50,000 คน แต่เนื่องจากรูปแบบการลงทุนทางด้านไอทีของมหาวิทยาลัยมีลักษณะเป็นแบบ  “กระจายศูนย์”  แยกกันซื้อ แยกกันลงทุน แยกกันบริหารจัดการ ซึ่งคณะหรือหน่วยงานผู้ดูแลรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่จะวางแผน จัดหา และติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายไร้สายต่างๆ ด้วยตนเอง ทำให้ระบบเครือข่ายไร้สายในมหาวิทยาลัยมีลักษณะเป็น Silo-Based เมื่อการลงทุนเป็นไปในลักษณะของต่างคนต่างซื้อ ต่างคนต่างดูแล ปัญหาที่ตามมาก็คือคุณภาพและบริการของระบบเครือข่ายไร้สายแต่ละคณะไม่เท่าเทียมกัน โดยขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรและความรู้ความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ไอทีในแต่ละคณะ

คุณรุ่งโรจน์ กิตติถาวรกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  “ด้วยรูปแบบการจัดสรรงบประมาณ และลงทุนทางด้านไอทีกันเองของแต่ละคณะ แต่ละหน่วยงาน จึงไม่แปลกเลยว่าที่ผ่านมาการให้บริการเครือข่ายไร้สายภายในมหาวิทยาลัยมีปัญหาตามมามากมาย ทั้งคุณภาพสัญญาณที่ไม่ดีทั้งในแง่ความครอบคลุมพื้นที่และความเร็วในการเชื่อมต่อ ขณะเดียวกันประสิทธิภาพการทำงานของระบบเครือข่ายไร้สายของแต่ละคณะก็ไม่เท่ากัน อย่างเช่นคณะด้านสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คุณภาพของบริการเครือข่ายไร้สายก็ต่ำกว่า เพราะมักมองว่านิสิตสายนี้ไม่จำเป็นต้องใช้งานด้านไอทีและเครือข่ายไร้สายมากเท่านิสิตของคณะด้านสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวนการติดตั้งแอ็กเซสพอยนต์ก็จะน้อยกว่า

 

ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทุกวันนี้นิสิตใช้มือถือกันทุกคน ต้องการใช้บริการเครือข่ายไร้สายทุกที่ทุกเวลา พอเกิดปัญหานิสิตก็มักมองว่าระบบบเครือข่ายไร้สายของมหาวิทยาลัยคุณภาพแย่ ทั้งที่ความจริงแต่ละคณะก็ลงทุนติดตั้งระบบเครือข่ายไร้สายและดูแลกันเอง ซึ่งรูปแบบการลงทุนทางด้านไอทีของจุฬาฯ ก็มีลักษณะเป็นแบบกระจายศูนย์มานานนับ 10 ปีแล้ว เมื่อต่างคนต่างซื้อ ต่างคนต่างติดตั้ง ระบบเครือข่ายไร้สายก็เชื่อมต่อกันอย่างไม่ราบรื่นและเป็นเนื้อเดียวกัน”

คุณรุ่งโรจน์ชี้ให้เห็นถึงอีกปัญหาหนึ่ง มาจากบางคณะมีการติดตั้งจุดแอ็กเซสพอยนต์ที่ไม่สอดคล้องกับการสภาพพื้นที่และไม่สมดุลกับจำนวนผู้ใช้งาน โดยคณะส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการให้บริการเครือข่ายไร้สายเฉพาะในห้องเรียนเป็นหลัก ขณะที่โถงใต้อาคารเรียนหรือลานกิจกรรมกลับใช้บริการเครือข่ายไร้สายไม่ค่อยได้ ทำให้เวลานิสิตออกมาอยู่นอกพื้นที่การเรียนการสอนก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องการใช้บริการเครือข่ายไร้สาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินออกนอกคณะ หากเกิดปัญหาการใช้บริการเครือข่ายไร้สายก็ไม่รู้จะไปติดต่อใครดี จะเป็นของคณะ หรือส่วนกลาง”

 

การรวมศูนย์เครือข่ายไร้สายที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ใช้งานได้ในทุกที่ทุกเวลา จึงถือเป็นความท้าทายของมหาวิทยาลัย

แนวทางการดำเนินงาน

เนื่องจากบริบทด้านการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลงไป มหาวิทยาลัยจึงมีการปรับปรุงห้องเรียนให้มีความทันสมัยและขยายขอบเขตออกไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นพื้นที่การให้บริการเครือข่ายไร้สายก็จะไม่เพียงพอ เราก็ต้องมีการวางแผนปรับปรุงระบบเครือข่ายไร้สายทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยก็เห็นประโยชน์ในจุดนี้ พร้อมทั้งให้ความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าว  โดยเฉพาะในด้านการลงทุนก็มีการปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณจากแบบต่างคนต่างลงทุนกันเองมาเป็นการลงทุนร่วมกัน รวมทั้งมีการวางแผนงบประมาณในระยะยาว 5 ปี  อดีตที่ผ่านมาจะเป็นในลักษณะการวางแผนงบประมาณแบบปีต่อปี ซึ่งงบประมาณทางด้านไอทีที่ได้รับการจัดสรรก็มีอย่างจำกัด ในแต่ละปีจะมีงบประมาณในการลงทุนติดตั้งแอ็กเซสพอยนต์ใหม่และทดแทนแอ็กเซสพอยนต์เดิมที่หมดอายุได้มากสุดปีละไม่เกิน 100 ตัวเท่านั้น

 

ซึ่งคุณรุ่งโรจน์ประเมินว่าในปีแรกของการดำเนินงานจำเป็นต้องใช้แอ็กเซสพอยนต์กว่า 2,000 ตัว ในการปรับปรุงระบบเครือข่ายไร้สายทั้งมหาวิทยาลัย จึงจะสามารถเปลี่ยนการให้บริการเครือข่ายไร้สายในมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือได้ในระยะเวลาสั้นๆ ประกอบกับทางมหาวิทยาลัยมีโครงการ CU Transformation ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทุกภาคส่วน โดยจะมีการนำระบบไอทีมาประยุกต์ใช้งานกันมากยิ่งขึ้น  ซึ่งหากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านระบบเครือข่ายทั้งแบบมีสายและไร้สายของเราไม่แข็งแรงพอ ก็ไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้

 

หลังจากชี้แจงให้ผู้บริหารทราบและเข้าใจถึงความจำเป็น และประโยชน์ที่จะได้รับจากการรวมศูนย์เครือข่ายไร้สายแล้ว ก็เป็นเรื่องของการบริหารจัดการทีมงานไอทีที่กระจัดกระจายอยู่ตามคณะและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีอยู่กว่า 100 ชีวิต ให้มีความเข้าใจและสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น บริหารจัดการระบบเครือข่ายไร้สายได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน รวมทั้งมีการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผสานจุดแข็งของคณะและส่วนกลางเข้าด้วยกันโดยแต่ละคณะมีจุดแข็งในเรื่องของความเข้าใจในตัวของผู้ใช้บริการ (Customer Understanding) กล่าวคือ การรู้จักสภาพพื้นที่ รู้จักนิสิต/อาจารย์/บุคลากรภายในคณะ รวมทั้งทราบถึงพฤติกรรมการใช้บริการเครือข่ายไร้สายภายในคณะเป็นอย่างดี

ในขณะที่ทีมงานส่วนกลาง(สำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ) มีจุดแข็งในเรื่องขององค์ความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการระบบเครือข่ายเป็นอย่างดี (Knowledge and Experience) ซึ่งถือเป็นการพลิกโฉมการทำงานจาก silo-based ในรูปแบบเดิมๆ ไปเป็นการทำงานในรูปแบบใหม่ลักษณะ Cross-Functional โดยมุ่งเน้นไปที่การส่งมอบบริการและประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งานทั้งมหาวิทยาลัย (Customer Experience and Service Excellence)

 

หลังแนวคิดและแนวทางการรวมศูนย์ระบบเครือข่ายไร้สายผ่านความเห็นชอบของผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย และผู้บริหารของแต่ละคณะ ทีมงานไอทีจากส่วนกลางของมหาวิทยาลัยก็ได้เริ่มเข้าไปสำรวจระบบเครือข่ายไร้สายที่กระจายอยู่ตามคณะและหน่วยงานต่างๆ เพื่อประเมินสถานะการทำงานของระบบ และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการดำเนินการรวมศูนย์ระบบเครือข่ายไร้สาย

 

ซึ่งปัญหาหลักๆ ที่สำรวจพบ อาทิ สัญญาณเครือข่ายไร้สายไม่ดี เนื่องจากการติดตั้งแอ็กเซสพอยนต์ไม่ครอบคลุมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ มีสัญญาณเครือข่ายไร้สายแต่เกาะไม่ได้ เนื่องจากปริมาณการใช้งานมีมากเกินกว่าแอ็กเซสพอยนต์ในบริเวณดังกล่าวจะรองรับได้ สัญญาณเครือข่ายไร้สายดีแต่ใช้งานแล้วช้า เนื่องจากสัญญาณเครือข่ายไร้สายใช้ช่องสัญญาณร่วมกันกับระบบงานเครือข่ายอื่นๆ ของคณะ รวมทั้งความสับสนในการติดต่อและแจ้งปัญหา กรณีเกิดปัญหาเครือข่ายไร้สายขึ้น เนื่องจากมีการแบ่งแยกพื้นที่ความดูแลระหว่างคณะและส่วนกลาง ทำให้เราสามารถแยกประเด็นปัญหาทั้งหมดออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ ปัญหาคุณภาพสัญญาณ และปัญหาคุณภาพบริการ

 

หลักเกณฑ์ในการเลือกโซลูชัน

คุณรุ่งโรจน์เล่าถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาและคัดสรรโซลูชันสำหรับโครงการดังกล่าวนี้ว่า เราเริ่มต้นคิดและประเมินจาก Why ซึ่งเป็นแก่นแท้ของโจทย์ในการดำเนินโครงการนี้ก่อนเป็นลำดับแรก แล้วตามด้วย How วิเคราะห์และวางแนวทางในการดำเนินโครงการ  สุดท้ายคือ What พิจารณาถึงเทคโนโลยีและโซลูชันที่จะมาตอบโจทย์และแนวทางการดำเนินโครงการที่วางไว้

Why คือ การตอบโจทย์ในเรื่องของคุณภาพสัญญาณ และคุณภาพบริการ

 

How คือ การวิเคราะห์และกำหนดแนวทางการปรับปรุงระบบเครือข่ายไร้สายทั้งทางด้านเทคนิคและการบริการ ได้แก่ กำหนดให้มีการแยกอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเครือข่ายไร้สายออกจากระบบงานอื่นๆ กำหนดให้มีการสำรวจและวางแนวแอ็กแซสพอยนต์ใหม่ให้ครอบคลุม (Coverage) และเพียงพอ (Density) ต่อการใช้งาน กำหนดให้มีการทดแทนแอ็กเซสพอยนต์ที่หมดอายุและเสื่อมสภาพ รวมทั้งกำหนดบทบาทและกระบวนการบริหารจัดการระบบเครือข่ายไร้สายทั้งคณะและส่วนกลางให้มีการทำงานประสานเป็นเนื้อเดียวกัน

 

What คือ การประเมินเทคโนโลยีและโซลูชันในตลาด ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเรา โดยโซลูชันที่เลือกจะต้องอยู่ในทิศทางของเทคโนโลยี แบรนด์มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับ มีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ให้คำปรึกษาและบริการ สุดท้ายต้องคุ้มค่าต่อการลงทุนและใช้งาน ซึ่งโซลูชันและผลิตภัณฑ์ของทางซิสโก้สามารถตอบโจทย์ของมหาวิทยาลัยได้

ผลลัพธ์ที่ได้จากการวมศูนย์ระบบเครือข่ายไร้สาย

  • สัญญาณเครือข่ายไร้สายสามารถครอบคลุมและเพียงพอต่อการใช้งาน ทั้งพื้นที่ภายในห้องเรียนและพื้นที่ภายนอกห้องเรียน
  • สามารถเชื่อมต่อและใช้งานระบบเครือข่ายไร้สายแบบไร้รอยต่อได้จากทุกพื้นที่และทุกเวลา
  • นิสิต คณาจารย์ และบุคลากร สามารถใช้ประโยชน์จากระบบเครือข่ายไร้สายในด้านการเรียนการสอน และการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • บริหารจัดการและให้บริการระบบเครือข่ายไร้สายทั่วทั้งมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถต่อยอดการให้บริการใหม่ๆ ในอนาคตได้ง่ายขึ้น

 

“หากนับเวลาตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมการ วางแผน และดำเนินการวางระบบ Chula WiFi ใหม่ทั้งหมดให้เป็นแบบรวมศูนย์ เพื่อให้สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 600 ไร่ 150 อาคาร 780 ชั้น ประกอบด้วยคณะ สำนักวิชาการ วิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัย โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ และอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 25 แห่ง โดยมีจำนวนผู้ใช้รวมกันกว่า 50,000 คน ใช้เวลาเพียง 8 เดือนเท่านั้น ซึ่งผลตอบรับภายหลังจากปรับปรุงระบบทั้งหมดเสร็จเรียบร้อย และเริ่มใช้งานจริงในเดือนสิงหาคม 2561 ถือว่าเป็นไปอย่างน่าพอใจ เพราะแทบไม่มีเสียงบ่นเกี่ยวกับการใช้งานเครือข่ายไร้สายเหมือนในอดีต”

 

สิ่งที่ประทับใจซิสโก้

ซิสโก้ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรด้านระบบเครือข่ายที่สำคัญของมหาวิทยาลัย มีการทำงานและความร่วมมือผ่านโครงการต่างๆกับมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง ให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิค และถ่ายทอดองค์ความรู้สำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้อยู่เสมอ รวมทั้งการให้บริการอย่างมืออาชีพ

 

การพัฒนาในอนาคต

ทิศทางการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยจะมุ่งไปสู่การเป็น Digital Lifestyle University ควบคู่กับการดำเนินโครงการ CU Transformation ซึ่งจะเป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับกระบวนการเรียนการสอน การวิจัย และการทำงาน ให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้เลยก็คือการมีระบบโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการใช้งานสำหรับโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

ณ ปัจจุบันเรารู้สึกพอใจในระดับหนึ่งกับระบบเครือข่ายไร้สายที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ แต่เราคงไม่หยุดเพียงเท่านี้ โดยในปีแรก 2561 เราได้ปรับปรุงบริการเครือข่ายไร้สายให้ครอบคลุมและเพียงพอต่อการใช้งานในพื้นที่การเรียนการสอน โดยสามารถการันตีความเร็วที่ 100 Mbps

 

สำหรับปีที่ 2 คือ ในปี 2562 นี้ จะเป็นการปรับปรุงระบบเครือข่ายไร้สาย (WiFi) เพิ่มเติมในส่วนของลานกิจกรรมและพื้นที่ภายนอกห้องเรียนของคณะต่างๆ เพื่อให้การใช้งานระบบเครือข่ายไร้สาย (WiFi) เป็นไปอย่างต่อเนื่องและไร้รอยต่อ รวมทั้งจะเพิ่มบริการ Self-service Guest WiFi  สำหรับแขกและบุคคลทั่วไปที่เข้าติดต่อภายในมหาวิทยาลัย ให้สามารถใช้บริการ WiFi ได้ฟรี โดยไม่ต้องยุ่งยากและเสียเวลาในการไปขอรหัสในการใช้งานเครือข่ายไร้สายจากเจ้าหน้าที่เหมือนแต่ก่อน เพียงแค่ลงทะเบียน ยืนยันข้อมูลส่วนบุคคลก่อนการเข้าใช้บริการ

 

ส่วนในปีที่ 3 คือในปี 2563 จะนำ Big Data มาวิเคราะห์ เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้ระบบเครือข่ายไร้สายมากขึ้น เพราะในแต่ละพื้นที่ แต่ละคณะมักจะมีการปรับปรุงสถานที่กันอยู่เสมอ ซึ่งสิ่งก่อสร้างบางอย่างอาจส่งผลกับการทำงานของแอ็กเซสพอยนต์ที่ติดตั้งไว้ตามจุดเหล่านั้น ซึ่งการใช้ Big Data จะทำให้เราสามารถตรวจจับสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบเครือข่ายไร้สาย และสามารถหาทางแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องรอให้ผู้ใช้เจอปัญหาแล้วโทรเข้ามาแจ้งเหมือนเมื่อก่อน ขณะเดียวกันเมื่อมีข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานแล้ว ก็สามารถนำไปใช้ในการวางแผนลงทุนติดตั้งระบบเครือข่ายไร้สายในอนาคตได้ พื้นที่ไหนมีคนใช้งานเครือข่ายไร้สายเป็นจำนวนมากก็ต้องมีการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม พื้นที่ไหน มีคนใช้น้อยก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม

 

เพราะฉะนั้นน้ำหนักของการลงทุนระบบเครือข่ายไร้สายก็ไม่ใช่เรื่องของการครอบคลุมพื้นที่ของสัญญาณ และความเร็วของเครือข่ายเหมือนในอดีตอีกต่อไป แต่จะเป็นเรื่องของการตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้ในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งเรื่องนี้เราจะทำต่อเนื่องไปอีก 4 ปี

ข้อแนะนำสำหรับสถานศึกษาอื่นๆ

สำหรับ Chula WiFi นั้น มิใช่เรื่องของเทคโนโลยี (Technology) เพียงอย่างเดียว แต่มีอีก 2 ด้านที่ต้องพิจารณาร่วมด้วย ได้แก่

 

  1. เรื่องของคน (People) ซึ่งประกอบด้วย ผู้รับบริการ (Customer) หมายถึง นิสิต คณาจารย์ และบุคลากรที่ใช้บริการเครือข่ายไร้สาย ส่วนอีกกลุ่มเป็นคนทำงาน (Staff) ซึ่งก็คือทีมงานไอทีของเรา ว่ามีอัตรากำลังเพียงพอหรือไม่

 

  1. เรื่องของกระบวนการ (Process) ซึ่งประกอบด้วย กระบวนการให้บริการ (Service Process) และกระบวนการดำเนินงาน (Operational Process) จำเป็นต้องพิจารณาร่วมด้วยเสมอ ว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร เพื่อตอบโจทย์ Why ของเรา

ดาวน์โหลด Infographic

กลุ่มบริษัทจินดาสุขก้าวสู่ยุค Digital Transformation ด้วยการลงทุนอย่างชาญฉลาด

ย้อนไปในอดีตกว่า 67 ปีที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2493 กลุ่มบริษัทจินดาสุขเริ่มต้นธุรกิจค้าขายท่อน้ำและอุปกรณ์ประปา และได้เป็นตัวแทนจำหน่ายมิเตอร์น้ำในชื่อแบรนด์ ASAHI จากประเทศญี่ปุ่นให้การประปานครหลวง จากนั้นโรงงานผลิตในประเทศญี่ปุ่นได้ให้สิทธิการผลิตแก่คุณอุดม จินดาสุข ในการผลิตมิเตอร์น้ำ ASAHI ในประเทศไทยจึงเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทในกลุ่มบริษัทจินดาสุข

นับจากวันนั้นธุรกิจของกลุ่มบริษัทจินดาสุขก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง และได้ก่อตั้งบริษัท อาซาฮี-ไทย อัลลอย จำกัด ในปี พ.ศ. 2524 ซึ่งต่อมาก็ได้ถือกำเนิดแบรนด์ Sanwa เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่ผลิตจากทองเหลืองแท้ พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์การขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีความต้องการสินค้าประเภท ก๊อกน้ำ วาล์วน้ำ มิเตอร์น้ำ ครอบคลุมระบบประปาทั้งระบบทุกโครงสร้าง ทำให้กลุ่มบริษัทจินดาสุขเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

นอกจากแบรนด์คุณภาพสูงอย่าง Sanwa แล้ว กลุ่มบริษัทจินดาสุขยังนำความเชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำและระบบประปาไปสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ได้แก่ ATACO ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประปาคุณภาพสูงสำหรับองค์กรขนาดใหญ่และหน่วยงานราชการ Rambo ผลิตภัณฑ์ราคาประหยัดและทนทาน Drago เป็นเทคโนโลยีระบบการจัดการน้ำอัจฉริยะ ด้วยมาตรวัดน้ำไฮเทคผ่านระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงก่อตั้งบริษัท อาซาฮี บราส-ร็อด จำกัด เพื่อดำเนินกิจการโรงงานแปรรูปทองเหลืองที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน สามารถผลิตทองเหลืองเส้นและทองเหลืองขึ้นรูปป้อนเข้าสายการผลิตทั้ง 5 แบรนด์สินค้า และจำหน่ายทองเหลืองให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงขยายออกสู่ตลาดอาเซียน

เจษฎา จินดาสุข ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด กลุ่มบริษัทจินดาสุข

เช่นเดียวกับทุกองค์กร กลุ่มบริษัทจินดาสุข ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ก้าวสู่ยุค Digital Transformation ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้งาน เพื่อการเปลี่ยนจากการจดข้อมูลลงบนกระดาษไปสู่การใช้อุปกรณ์โมบายและระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีวิสัยทัศน์จากผู้บริหารและทีมไอทีภายใต้การนำของคุณพิภพ คุณากรบดินทร์ ผู้จัดการแผนกระบบสารสนเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงต้องการระบบไอทีที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังต้องการความร่วมมือร่วมใจของทั้งผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ รวมถึงต้องมีพาร์ทเนอร์ด้านไอทีที่วางใจได้อีกด้วย

 

เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ

คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ คือหัวใจสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของทุกองค์กรแทบทุกแห่ง แต่ก็ใช่ว่าองค์กรที่ประสบความสำเร็จจะเป็นองค์กรที่นำระบบไอทีมาใช้อย่างเต็มรูปแบบในทุกกระบวนการทำงานเสมอไป แต่การเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อยุทธศาสตร์การดำเนินงานทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่างหากคือหัวใจการลงทุนด้านไอทีขององค์กรยุคดิจิทัล

กลุ่มบริษัทจินดาสุข ค่อยๆ ก้าวสู่องค์กรยุคดิจิทัล ทีละขั้นอย่างเป็นระบบ ล่าสุดเมื่อธุรกิจของกลุ่มเติบโตทั้งในแง่ของกำลังการผลิตและส่วนแบ่งการตลาด ทำให้ต้องมีการปรับปรุงระบบไอทีที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดได้ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของการนำระบบไอทีเพื่อเชื่อมโยงกระบวนการทำงานของส่วนงานต่างๆ ถึงกัน ทำให้สามารถรับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตได้อย่างรวดเร็ว และสามารถกำหนดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

 

“เนื่องจากกลุ่มบริษัทจินดาสุข ไม่ได้เป็นบริษัททางด้านเทคโนโลยี ไม่มีแนวคิดในการนำระบบไอทีเป็นเครื่องกำหนดทิศทางพัฒนาองค์กร แต่การนำไอทีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้เพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ขององค์กรได้ดีที่สุดต่างหากคือแนวคิดด้านไอทีของเรา” คุณพิภพ กล่าว “เนื่องจากกลุ่มบริษัทจินดาสุข คือผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้า ดังนั้นเทคโนโลยีไอทีที่เราเลือกเพื่อนำมาใช้ในองค์กร จึงเป็นระบบที่ถูกออกแบบและถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานต่างๆ ให้กับพนักงาน รวมถึงช่วยควบคุมบริหารจัดการการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นให้ถูกต้องเหมาะสมไปพร้อมๆ กัน”

 

เลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม การนำระบบไอทีที่ดีมาใช้งานจะประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้มีเพียงซอฟต์แวร์หรือความร่วมมือของผู้ใช้เท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานระบบที่ดีด้วย ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานระบบเครือข่ายประสิทธิภาพสูงคือหัวใจสำคัญ

 

ดังนั้นการเลือกโซลูชันเครือข่ายที่สมบูรณ์ทั้งประสิทธิภาพและเสถียรภาพ รวมถึงสามารถตอบสนองต่อการใช้งานในปัจจุบันและสามารถขยายประสิทธิภาพตามการเติบโตขององค์กรได้ในระยะยาวจึงเป็นสิ่งสำคัญ หลังจากการพิจารณาและทดสอบการใช้งาน ในที่สุดกลุ่มบริษัทจินดาสุขจึงตัดสินใจเลือกใช้โซลูชันระบบเครือข่ายระดับโลกจากซิสโก้ (Cisco)

 

ระบบเครือข่ายไร้สายและอุปกรณ์โมบาย

ในยุคเริ่มต้นของการนำระบบไอทีเข้ามาประยุกต์ใช้งาน ระบบงานบางส่วนภายในโรงงานยังคงต้องจดข้อมูลลงบนกระดาษ แล้วค่อยนำไปกรอกเข้าระบบคอมพิวเตอร์ สิ่งที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากความล่าช้าในการจดข้อมูลแล้ว จะมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ทั้งในขั้นตอนการจด และการกรอกข้อมูลเข้าไปในระบบ ทำให้เกิดความล่าช้าในการรายงานผลการผลิต

 

ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารจึงมีแนวคิดที่จะนำอุปกรณ์โมบายอย่างเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเข้ามาใช้งานในโรงงาน นั่นจึงเป็นที่มาของการนำระบบเครือข่ายไร้สายเข้ามาใช้งาน ภายใต้สภาพแวดล้อมการทำงานภายในโรงงานที่มีอุณหภูมิสูง และปัจจัยเสี่ยงต่อความเสียหายของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์เครือข่ายไร้สายมาตรฐาน 802.11n ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อการใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรมของซิสโก้ จึงถูกเลือกมาใช้งาน

“เราได้ปรับปรุงระบบขั้นตอนการผลิตสินค้าในโรงงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การรายงานผลการผลิต เป็นไปได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องมากขึ้น ดังนั้นจึงได้นำเอาระบบที่ช่วยให้สายการผลิต สามารถรายงานผลการผลิตผ่านโปรแกรมที่ถูกออกแบบขึ้นโดยเฉพาะ ทำงานผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต เพื่อให้มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานในพื้นที่โรงงาน และรายงานผลการผลิตจากจุดที่ผลการผลิตนั้นถูกผลิตขึ้นอย่างรวดเร็วผ่านระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงของซิสโก้” คุณพิภพ กล่าว “การรายงานผลการผลิต จากเดิมที่ทำด้วยการจดรายงานในกระดาษ แล้วส่งไปให้ธุรการช่วยคีย์เข้าระบบ ทำให้เกิดความล่าช้าในการรายงานผลการผลิต การนำระบบเครือข่ายไร้สายจากซิสโก้ มาใช้ร่วมกับคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต และโปรแกรมเฉพาะที่เราพัฒนาขึ้นเอง ช่วยตอบโจทย์ในการรายงานผลการผลิตที่รวดเร็วกว่าเดิม และสามารถรายงานผลการผลิตได้ทุก 2 ชั่วโมง”

 

นอกเหนือจากระบบเครือข่ายแบบใช้สายและไร้สายภายในโรงงานผลิตที่จังหวัดสมุทรปราการแล้ว ระบบไอทีทั้งหมดยังเชื่อมโยงไปยังสำนักงานใหญ่ของกลุ่มบริษัทจินดาสุข ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนวรจักร กรุงเทพมหานคร อีกด้วย

 

ความท้าทายในการปรับเปลี่ยน

เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ แต่ด้วยความมุ่งมั่นของทุกๆ ส่วนงาน การเริ่มต้นปรับเปลี่ยนไปสู่องค์กรยุคดิจิทัลของกลุ่มบริษัทจินดาสุขจึงสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ มาได้ “การนำเอาเทคโนโลยีใหม่เข้ามา เพื่อให้พนักงานที่คุ้นเคยกับการทำงานด้วยระบบเดิมๆ มายาวนานกว่า 10 ปี เป็นความท้าทายที่สำคัญ เพราะนอกจากจะมีปัญหาในด้านการพัฒนาระบบใหม่ให้ใช้งานได้ดีแล้ว บุคลากรที่มีอยู่ก็ต้องสามารถใช้งานระบบนี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

นอกจากนี้ ด้วยพื้นที่โรงงานที่มีขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ซึ่งมีความยาว 900 เมตร และมีอาคารโรงงานจำนวน 10 อาคาร การออกแบบระบบเครือข่ายไร้สาย เพื่อให้สามารถทำงานครอบคลุมทุกจุดของโรงงานก็เป็นหนึ่งความท้าทาย แต่ท้ายสุดทีมงานไอทีภายใต้การดูแลของคุณพิภพและพาร์ทเนอร์ได้แก่บริษัท Net Bright ก็สามารถทำได้สำเร็จลุล่วงด้วยดี

ระบบไอทีที่ดีต้องมีพาร์ทเนอร์ที่วางใจได้

เมื่อระบบไอทีได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ เสถียรภาพจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นอกเหนือจากประสิทธิภาพของอุปกรณ์แล้ว การมีพาร์ทเนอร์ด้านไอทีที่มีประสบการณ์ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน

 

ด้วยประสบการณ์ในวงการไอทีและระบบเครือข่ายระดับองค์กรมากกว่า 20 ปี จึงทำให้กลุ่มบริษัทจินดาสุข เลือกบริษัท Net Bright เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านไอที ครอบคลุมงานด้านระบบเครือข่ายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครือข่ายแบบใช้สาย Core Switch : Cisco Catalyst 3750 และ Access Switch : Cisco Catalyst 2960 อุปกรณ์เครือข่ายไร้สายครอบคลุมทั้งอุปกรณ์ Cisco 5500 Series Wireless Controllers และ Cisco Aironet 2800 ที่ติดตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ของสำนักงานและโรงงาน รวมถึงอุปกรณ์ Firewall เพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ระบบเครือข่ายทั้งหมดของเครือบริษัทจินดาสุข

 

นอกเหนือจากการจัดหาและติดตั้งโซลูชันด้านเครือข่ายแล้ว Net Bright ยังเข้ามาช่วยวางแผนและออกแบบระบบเครือข่ายให้สามารถรองรับการเติบโตของธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

“เนื่องจากระบบไอทีมีความสำคัญอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทจินดาสุข ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญต่อการคัดเลือกผู้ให้บริการเป็นอย่างมาก โดยเรามองทั้งบริการก่อนและหลังการขาย การให้คำแนะนำต่างๆ และงบประมาณการลงทุนที่สมเหตุสมผล ด้วยปัจจัยดังกล่าว เราวางใจ Net Bright เป็นผู้ให้บริการที่ดูแลการใช้งานของอุปกรณ์ระบบเครือข่ายเกือบทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นที่ปรึกษาที่ดีในการพัฒนาและปรับปรุงระบบเครือข่ายในองค์กร ให้เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสมกับมาตรฐานการสร้างระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ควรจะเป็น” คุณพิภพ กล่าวทิ้งท้าย

 

ท้ายสุด แนวคิดการทำ Digital Transformation อย่างชาญฉลาดของกลุ่มบริษัทจินดาสุข คือเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาใช้ต้องตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ทางธุรกิจขององค์กรเป็นหลัก และต้องเป็นเทคโนโลยีหรือระบบที่ได้ผ่านการพิจารณาและตัดสินใจมาแล้วว่า จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานต่างๆ ได้ดีขึ้น และช่วยให้การทำงานแบบดั้งเดิมมีความสะดวก ถูกต้อง แม่นยำมากขึ้นด้วย ภายใต้แนวคิดดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันกลุ่มบริษัทจินดาสุขยังคงความเป็นผู้นำในการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ประปาคุณภาพสูงและขยายตัวสู่ตลาดอาเซียน

 

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม www.netbright.co.th

บริษัท เน็ต ไบร์ท จำกัด

เลขที่ 65/150 อาคารชำนาญเพ็ญชาติ บิสเนส เซ็นเตอร์ ชั้น 18 ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310

โทร. +66 2 643 8811 แฟกซ์ +66 2 643 8811

Email : sales@netbright.co.th

Youtube Channel : Net Bright

Line Official : @netbright

ตรวจวัดระดับน้ำ-สถานการณ์น้ำเรียลไทม์ด้วยแอพ SWOC WL จากกรมชลประทาน

กรมชลประทานก้าวสู่ยุค 4.0 มุ่งสู่องค์กรอัจฉริยะ เปิดตัว ไม้บรรทัดวัดระดับน้ำ “แอปพลิเคชั่น SWOC WL” บนโทรศัพท์มือถือ สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนตรวจวัดระดับน้ำได้ด้วยตนเองแบบเรียลไทม์

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า แอปพลิเคชั่น SWOC WL เป็นแอปพลิเคชั่นตรวจวัดระดับน้ำ ที่กรมชลประทานได้พัฒนาขึ้นมาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะมุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0 และเป็นไปตามแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมชลประทานภายใต้กรอบแนวคิด RID No.1 ซึ่งได้ตั้งเป้าที่จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและพัฒนาระบบการทำงาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะให้ได้ภายในปี 2579 ตลอดจนยังเป็นการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมชลประทานอีกด้วย

สำหรับแอปพลิเคชั่น SWOC WL ดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดเปิดใช้งานได้บนโทรศัพท์มือถือ ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถตรวจวัดระดับน้ำได้ด้วยตนเอง ด้วยการแสกน AR MARKER แล้ววัดระดับน้ำในบริเวณที่สนใจ ระบบจะประมวลผลและส่งผลการประเมินพร้อมข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญ เช่น สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน แนวโน้มของระดับน้ำในลำน้ำ กลับไปให้ผู้ใช้งานแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และเชื่อถือได้

โดยกรมชลประทานมีแผนต่อยอดจุดบริการ SWOC WL ทั้งสิ้น 935 จุด ให้ครอบคลุมลำน้ำต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ ภายในระยะเวลา 3 – 5 ปี ซึ่งในปีนี้เป็นปีนำร่อง เริ่มติดตั้งจุดบริการ 3 แห่ง คือ บริเวณท่าเรือวังหลัง (ศิริราช) (กรุงเทพฯ) ท่าเรือนนทบุรี (จ.นนทบุรี) และตลาดน้ำอยุธยา (วัดท่าการ้อง จ.อยุธยา) ในปีงบประมาณ 2562 จะดำเนินการติดตั้งจุดบริการเพิ่มเติมอีก 150 จุด กระจายตามลำน้ำสำคัญทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ 2563 ติดตั้งจุดบริการเพิ่มเติมอีก 300 จุด และในปีงบประมาณ 2564 ติดตั้งจุดบริการเพิ่มเติมอีก 482 จุด รวมเป็น 935 จุด ครอบคลุมลำน้ำต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้กรมชลประทานได้รับข้อมูลสถานการณ์น้ำ ณ เวลาจริง และประชาชนทั่วประเทศก็สามารถตรวจวัดระดับน้ำ ณ จุดต่างๆ ของลำน้ำที่ตนเองสนใจได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งได้รับข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของลำน้ำนั้นๆ จากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) เพิ่มเติมด้วย ในปีแรกนี้ ประชาชนจะสามารถตรวจวัดระดับน้ำ และทราบสถานะของระดับน้ำในลำน้ำว่าอยู่ที่สถานะไหน ปกติ เฝ้าระวัง หรือเตือนภัย เท่านั้น แต่นับเป็นก้าวแรกในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่ให้ประชาชนสามารถตรวจวัดระดับน้ำ และติดตามสถานการณ์น้ำได้ด้วยตนเอง ซึ่งในปีที่ 2 – 4 SWOC WL จะถูกพัฒนาเพิ่มเติมให้สามารถประมวลผล และรายงานแนวโน้มของสถานการณ์น้ำในลำน้ำที่ตรวจวัดให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นทราบ รวมถึงสามารถติดตามสถานการณ์น้ำของลำน้ำต่างๆ ทั่วประเทศได้อีกด้วย ซึ่งระบบ SWOC WL คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี พ.ศ. 2564

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน SWOC จะเป็นศูนย์บัญชาการในการประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ การติดตาม พยากรณ์สถานการณ์น้ำ การจัดสรรน้ำ การเฝ้าระวังเพื่อการเตือนภัยจากน้ำ โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาจัดการกับข้อมูลให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการนำข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเชื่อมโยงและจัดทำเป็นฐานข้อมูลกลาง สะดวกต่อการใช้งาน สามารถนำมาติดตาม วิเคราะห์ และพยากรณ์สถานการณ์น้ำ ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว น่าเชื่อถือ ทันเหตุการณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารจัดการน้ำสำหรับการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย และทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

นอกจากนี้ ดร.ทองเปลวยังกล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่า ได้กำหนดเป้าหมายให้ประชาชนมีความสุข ความปลอดภัย ความก้าวหน้า และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบกับ วิสัยทัศน์เชิงนโยบาย Thailand 4.0 โดยการปรับเปลี่ยนให้ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน “สานพลังประชารัฐ” ส่งเสริมโครงสร้างด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ

“ที่ผ่านมาการดำเนินงานของกรมชลประทาน นอกจากจะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแล้ว ยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ 20 ปี ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลอีกด้วย” ดร.ทองเปลว กล่าวในตอนท้าย

 

ทางด้าน นายภาสกร เงินเจริญกุล ผู้อำนวยการฝ่ายขายภาครัฐ บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้วางระบบแอปพลิเคชั่น SWOC WL ให้กับกรมชลประทาน ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นทีมีประโยชน์กับประชาชนบริเวณพื้นที่ชายฝั่งแม่น้ำและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่จะได้รับรู้สถานการ์ณน้ำ ณ.ขณะนั้น ซึ่งแอปพลิเคชั่น SWOC WL เป็นเหมือนไม้บรรทัด ดิจิทัลวัดระดับน้ำในแม่น้ำ ซึ่งรองรับทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android  โดยสามารถทําการค้นหาและติดตั้งแอปพลิเคชั่น SWOC WL ได้จาก App Store สำหรับ iOS และ Google Play Store สำหรับ Android เมื่อเปิดแอปพลิเคชั่น SWOC WL และสแกน AR MARKER ตามจุดที่มีการติดตั้งไว้ ไม้บบรทัด ดิจิทัลวัดระดับน้ำ ก็จะปรากฎขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นทำการวัดระดับน้ำในแม่น้ำ เพื่อตรวจสอบระดับน้ำในขณะนั้น โดยจะเทียบระดับน้ำปัจจุบัน กับ ระดับน้ำเตือนภัย และระดับน้ำวิกฤต ทำให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นทราบว่าระดับน้ำ ณ ขณะนั้นอยู่ในเกณฑ์เช่นใด โดยลักษณะข้อมูลจะเป็นแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยทุกครั้งที่มีการสแกน AR MARKER  ข้อมูลจะถูกส่งมายังกรมชลประทาน ทำให้กรมชลประทานสามารถทราบข้อมูลที่เป็นจริงเพื่อเตรียมพร้อมในการดูแลความปลอดภัย

ห้องเรียนแห่งอนาคต โครงการนำร่องเพื่อเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนยุคดิจิทัล โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานมากกว่า 60 ปี โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ผลิตทรัพยากรบุคคลเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ หากมองย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2501 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งโดยศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่ให้นิสิตของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาฝึกหัดก่อนจะสำเร็จไปเป็นครู ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและแสวงหาเทคโนโลยีการเรียนการสอนรูปแบบต่างๆ มาประยุกต์ใช้งาน เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือให้นักเรียนได้รับความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนอย่างเต็มที่ รวมถึงมีความสุขกับการเรียนรู้ไปพร้อมกัน

เพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการเรียนการสอนในปัจจุบัน ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล จึงเป็นที่มาของโครงการ “ห้องเรียนแห่งอนาคต” Pilot Project of Future Classroom’s Fujitsu Learning Project of Tomorrow ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และบริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด โดยนำโซลูชั่นไอทีเพื่อการศึกษาอันทันสมัยจากประเทศญี่ปุ่น มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนวิชาต่างๆ เป็นแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ ฟูจิตสึได้ให้การสนับสนุนทั้งทางด้านซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ อันได้แก่เครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต เซิร์ฟเวอร์ ตลอดจนการฝึกอบรมครูผู้สอน เพื่อให้สามารถใช้งานระบบดังกล่าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

“เรามองว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญและเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการเรียนการสอน นอกจากการเรียนรู้จากตำราเรียนแล้ว เทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จ สิ่งทีฟูจิตสึให้การสนับสนุนแก่โรงเรียนเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความยืดหยุ่น สามารถนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอนวิชาต่างๆ ของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี” อาจารย์พรพรหม ชัยฉัตรพรสุข ผู้อำนวยการและรองคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการนี้ได้สร้างมิติใหม่แห่งการเรียนการสอน เนื่องจากมีระบบที่สนับสนุนการเรียนรู้แบบสองทาง เพื่อให้ครูและนักเรียนแสดงความคิดเห็นและตอบคำถามต่างๆ ในห้องเรียนผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตได้ทันที สร้างบรรยากาศให้ครูและนักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น และทำให้ครูสามารถดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคลได้อย่างทั่วถึง”

โซลูชั่นที่ใช้งาน
ระบบที่ติดตั้งใช้งานนั้น ประกอบด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตฟูจิตสึสำหรับครูและนักเรียน ทำงานร่วมกับเซิร์ฟเวอร์ฟูจิตสึ ซึ่งติดตั้งโปรแกรม Learning Repository อันประกอบด้วย
• Fujitsu Opinion Sharing System เปรียบเสมือนกระดานดำอิเล็กทรอนิกส์ในยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น หรือซักถามข้อสงสัยต่างๆ สามารถวาดรูปผ่านปากกา Stylus ทำกราฟแสดงผล ทำแบบทดสอบ หรือตั้งคำถามที่สามารถวัดผลความเข้าใจของนักเรียนได้ทันทีในห้องเรียน หากนักเรียนคนไหนตอบไม่ถูกหรือไม่เข้าใจ ก็สามารถอธิบายเพิ่มเติมในคาบเรียนได้เลย ช่วยให้เกิดการเรียนการสอนแบบร่วมมืออย่างแท้จริง
• Learning Management System ระบบสนับสนุนบทเรียน เป็นซอฟต์แวร์ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น และถูกนำมาประยุกต์ใช้สนับสนุนบทเรียนสำหรับการสอนในระดับมัธยมศึกษา และยังพัฒนาปรับแต่งระบบสนับสนุนการศึกษาเป็นพิเศษสำหรับใช้ในโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม โดยเฉพาะ

โซลูชั่น
• ARROWS Tab Q555

• ARROWS Tab Q704/H

• ARROWS Tab Q584/H

• PRIMERGY TX120 S3 PC

• Chietama (Learning Repository)

Fujitsu Opinion Sharing System

Learning Management System

การนำไปใช้งาน
“ตลอดระยะเวลาของโครงการนำร่องนี้ อาจารย์หลายท่านของโรงเรียนได้มีการประยุกต์ใช้โซลูชั่นการเรียนแบบสองทาง และคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนในหลายวิชา ไม่ว่าจะเป็นวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ศิลปะ และพละศึกษา” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัยศักดิ์ ชั่งใจ ที่ปรึกษาผู้อำนวยโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยมกล่าว “เนื่องจากระบบซอฟต์แวร์ของฟูจิตสึมีความยืดหยุ่นสูง เอื้อให้อาจารย์แต่ละท่านนำไปปรับใช้กับวิชาที่ตนเองสอนอยู่ได้อย่างหลากหลาย ถือเป็นการสอดรับกับแนวนโยบายของโรงเรียน ที่ต้องการให้นักเรียนสามารถใช้ความคิดได้อย่างอิสระ เช่นเดียวกับอาจารย์ก็ต้องมีอิสระในการออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหาได้เช่นกัน”

ตัวอย่างของการนำไปใช้ในการเรียนการสอนจริงที่โรงเรียนได้เคยจัดกิจกรรมสาธิตการใช้งานแก่สื่อมวลชนได้แก่ การใช้ในวิชาศิลปะ โดยครูผู้สอนสามารถใช้ระบบ Learning Repository ทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตประจำตัวของครูและนักเรียน ซึ่งนักเรียนจะได้รับการบ้านให้ฝึกวาดภาพโดยใช้โปรแกรมวาดภาพต่างๆ โดยใช้ปากกา Stylus วาดภาพบนหน้าจอของเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ระหว่างการเรียนการสอนครูสามารถมองเห็นการวาดภาพของนักเรียนทุกคนในห้องได้จากแท็บเล็ตของตัวเอง และสามารถเขียนคำแนะนำในการวาดภาพและส่งกลับให้นักเรียนได้ทันที ขณะที่นักเรียนก็มีความสนุกสนานในการวาดภาพ และนำคำแนะนำของครูไปปรับแก้ผลงานการวาดรูปของตัวเองได้เลยทันทีเช่นกัน

ประโยชน์ที่ได้รับ
“ผลตอบรับจากคณาจารย์และนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า นักเรียนให้ความสนใจและกระตือรือร้นระหว่างการเรียนในชั้นเรียนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความสุขในการเรียนและสนใจเข้าร่วมชั้นเรียนมากยิ่งขึ้น” อาจารย์พรพรหมกล่าว “หลังจากนี้ เราจะนำอุปกรณ์และโปรแกรมทั้งหมดที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ฟูจิตสึ ไปใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

การเกิดขึ้นของโครงการห้องเรียนแห่งอนาคต ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และบริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด ช่วยสร้างสีสัน สร้างความสนุกให้กับการเรียนการสอน สร้างส่วนร่วมในการเรียนรู้ระหว่างการเรียนของนักเรียนได้มากขึ้น เช่นเดียวกับเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ครูดูแลเอาใจใส่นักเรียนแต่ละคนได้อย่างทั่วถึง ถือเป็นการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพให้แก่การเรียนการสอนในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

ผลลัพธ์
• นักเรียนมีความกระตือรือร้นระหว่างคาบเรียนมากขึ้น

• นักเรียนมีความสุขในการเรียนและสนใจเข้าร่วมชั้นเรียนมากขึ้น

• ครูสามารถดูแลเอาใจใส่นักเรียนได้อย่างทั่วถึง

บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด
อาคาร เอ็กเชน ทาวเวอร์ ชั้น 22-23 เลขที่ 388 ถนนสุขุมวิท
เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110
โทร. + 66 (0) 2302 1500 แฟ็กซ์ + 66 (0) 2302 1555
http://th.fujitsu.com