03/27/2023

AI

นักลงทุนสหรัฐทุ่มเงินในบริษัท AI จีนกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างข้อมูลของศูนย์กลางเพื่อความมั่นคงและเทคโนโลยีเกิดใหม่ (CSET) ว่า กลุ่มนักลงทุนสหรัฐ รวมถึงบริษัทในเครือของอินเทล คอร์ป และควอลคอมม์ อิงค์ ลงทุนในบริษัทปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของจีนตั้งแต่ปี 2558-2564 คิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของเงินลงทุนทั้งหมดที่บริษัท AI จีนได้รับในช่วงเวลาดังกล่าว

เอกสารซึ่งเผยแพร่โดย CSET ของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ มีขึ้นท่ามกลางการตรวจสอบการลงทุนของสหรัฐในธุรกิจ AI, ควอนตัม และเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น หลังคณะทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เตรียมเปิดเผยมาตรการใหม่เพื่อจำกัดการระดมทุนของบริษัทเทคโนโลยีจีนในสหรัฐ

รายงานระบุว่า กลุ่มนักลงทุนสหรัฐ 167 กลุ่มมีส่วนในการทำธุรกรรม 401 รายการ หรือคิดเป็นประมาณ 17% ของการลงทุนในบริษัท AI ของจีนในช่วงเวลาดังกล่าว โดยการทำธุรกรรมเหล่านั้นคิดเป็นมูลค่า 4.02 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 37% ของเงินทุนที่บริษัท AI จีนระดมทุนมาได้ในช่วง 6 ปีดังกล่าว

คณะทำงานของปธน.ไบเดนคาดว่าจะออกคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี (Executive Order) ในปีนี้เพื่อควบคุมการลงทุนของสหรัฐบางประการในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ละเอียดอ่อนของจีน หลังกลุ่มสายเหยี่ยวในสหรัฐกล่าวโทษนักลงทุนสหรัฐที่ให้เงินทุนและความรู้ความชำนาญที่มีมูลค่าแก่บริษัทเทคโนโลยีจีนซึ่งเป็นการช่วยยกระดับความสามารถทางทหารของจีน

OpenAI พัฒนาเครื่องมือจำแนกการเขียนจากมนุษย์และ AI

ท่ามกลางความกังวลของการที่นักเรียนหรือนักศึกษานำแชตบอทอัจฉริยะอย่าง ChatGPT มาใช้ทำงานส่งอาจารย์หรือแม้แต่ทำข้อสอบ

สถาบันการศึกษาต่างพร้อมใจกันออกมาจำกัดการใช้ ChatGPT เนื่องจากวิตกกังวลว่าซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ ขณะที่นายแซม อัลต์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ OpenAI ระบุว่า การศึกษาเคยเปลี่ยนแปลงมาแล้วในอดีต เมื่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา เช่น เครื่องคิดเลข แต่เขาเน้นย้ำว่าบริษัทมีหลายวิธีการที่จะช่วยให้ครูอาจารย์ตรวจสอบข้อความที่เขียนโดย AI

ล่าสุดผู้พัฒนาอย่าง OpenAI ได้พัฒนา ตัวเครื่องมือจำแนกข้อความ (Classifier) ทำหน้าที่ตรวจสอบว่า ข้อความใดเขียนโดยมนุษย์และข้อความใดเขียนโดย AI

แม้เครื่องมือจำแนกการเขียนรุ่นของ OpenAI นี้ยังมีข้อผิดพลาด และอยู่ระหว่างปรับปรุง แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในความหวังที่ช่วย ผู้ปกครองและครูอาจารย์ จำแนกได้ง่ายขึ้นว่า ข้อความไหนเขียนโดย AI และชิ้นไหนเขียนโดยมนุษย์

สหรัฐ-อียูเร่งใช้ AI พัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน

สหรัฐและสหภาพยุโรป (EU) ประกาศเมื่อวันศุกร์ (27 ม.ค.) เกี่ยวกับข้อตกลงที่จะเร่งและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อปรับปรุงด้านการเกษตร การดูแลสุขภาพ การรับมือเหตุฉุกเฉิน การพยากรณ์อากาศ และระบบไฟฟ้า

(more…)

ชัตเตอร์สต็อกเปิดตัว Generative AI ในแพลตฟอร์มสร้างสรรค์แบบครบวงจร

ชัตเตอร์สต็อก อิงค์ (Shutterstock, Inc.) (NYSE: SSTK) แพลตฟอร์มครีเอทีฟชั้นนำระดับโลกสำหรับแบรนด์และบริษัทสื่อที่พลิกโฉมวงการ ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มสร้างภาพจาก AI ซึ่งพร้อมใช้งานแล้วสำหรับลูกค้าของชัตเตอร์สต็อกทั่วโลกในทุกภาษาที่เว็บไซต์รับรอง เทคโนโลยีสร้างรูปภาพตามข้อความที่ระบุจะแปลงข้อความคำสั่งเป็นภาพที่โดดเด่นสะดุดตาและสร้างขึ้นอย่างมีจริยธรรม ซึ่งพร้อมสำหรับการมอบลิขสิทธิ์ใช้งาน และยังเป็นส่วนเพิ่มเติมล่าสุดของครีเอทีฟ โฟลว์ (Creative Flow) ชุดเครื่องมือที่ครอบคลุมของชัตเตอร์สต็อก ซึ่งได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อขับเคลื่อนประสบการณ์สร้างสรรค์ที่ราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

(more…)

มหาวิทยาลัยฝรั่งเศสห้ามใช้ ChatGPT ป้องกันการลอกผลงาน

ซิยอง โป (Sciences Po) หนึ่งในมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของฝรั่งเศสได้สั่งห้ามใช้ ChatGPT ซึ่งเป็นแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาโดย OpenAI เพื่อป้องกันการฉ้อโกงและการคัดลอกผลงาน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ChatGPT เป็นโปรแกรมฟรีที่สามารถสร้างงานเขียนต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงบทความ เรียงความ เรื่องตลก และแม้แต่บทกวี ซึ่งสร้างความกังวลในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการคัดลอกผลงาน

มหาวิทยาลัยซิยอง โปซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปารีสเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (27 ม.ค.) ว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ส่งอีเมลถึงนักศึกษาและคณาจารย์ทุกคนเพื่อประกาศการห้ามใช้ ChatGPT และเครื่องมือที่ใช้ AI อื่น ๆ ทั้งหมด

“หากไม่มีการอ้างอิงที่ชัดเจน นักศึกษาจะถูกห้ามใช้ซอฟต์แวร์สำหรับการผลิตงานเขียนหรืองานนำเสนอใด ๆ ยกเว้นเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะของหลักสูตร โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหัวหน้าหลักสูตร” ซิยอง โปเปิดเผย แม้ไม่ได้ระบุว่าจะติดตามการใช้งาน ChatGPT ได้อย่างไรก็ตาม

“ซอฟต์แวร์ ChatGPT ทำให้เกิดคำถามสำคัญสำหรับนักวิชาการและนักวิจัยทั่วโลกเกี่ยวกับการฉ้อโกงโดยทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลอกเลียนผลงาน” ซิยอง โป ระบุ

บรรดาสื่อของสหรัฐได้เปิดเผยว่า ChatGPT ได้ถูกสั่งแบนแล้วในโรงเรียนรัฐบาลบางแห่งในนิวยอร์กซิตี้และซีแอตเทิล ขณะที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐได้ประกาศแผนการที่จะแจกงานให้นักศึกษากลับไปทำที่บ้านน้อยลง และเพิ่มการเขียนเรียงความด้วยลายมือและการสอบปากเปล่ามากขึ้น

ที่มา : infoquest

ผลสำรวจระบุนักศึกษาสแตนฟอร์ด 17% ใช้ ChatGPT ทำข้อสอบและงานส่งอาจารย์

หลังจาก ChatGPT แชตบอทอัจฉริยะของ OpenAI สร้างปรากฏการณ์ เมื่อสามารถสอบผ่านใบอนุญาตทางการแพทย์ของสหรัฐ (US Medical Licensing Exam (USMLE)) และสอบผ่านข้อสอบ MBA ของโรงเรียนธุรกิจ Wharton School แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย

(more…)

“CNET” เริ่มลองใช้ AI เขียนบทความแล้ว

CNET เว็บไซต์ด้านเทคโนโลยียอดนิยมได้ทำการเผยแพร่บทความฝีมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) หลายสิบชิ้น โดยระบุว่าเป็นการทดสอบการนำ AI มาใช้งานด้านการเขียนบทความ แต่ปรากฎว่า บอตไม่ได้มีฝีมือการเขียนข่าวดีไปกว่า หรืออาจจะแย่กว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับมืออาชีพที่เป็นมนุษย์

ในวันอังคารที่ 17 ม.ค. ซีเน็ตได้เริ่มแจ้งเรื่องการปรับแก้บทความบางชิ้นที่ผลิตโดย AI หลังฟิวเจอร์ริสซึ่ม (Futurism) เว็บไซต์เทคโนโลยีอีกแห่ง ออกมาระบุว่า บทความดังกล่าวมีเนื้อหา “ผิดพลาดอย่างโง่เขลา”

รายงานระบุว่า บทความอัตโนมัติที่ผลิตโดย AI คำนวณอัตราดอกเบี้ยผิด ยกตัวอย่างเช่นระบุว่า หากฝากเงิน 10,000 ดอลลาร์ ที่มีอัตราดอกเบี้ย 3% จะได้รับดอกเบี้ย 10,300 ดอลลาร์หลังจากปีแรก แต่ข้อเท็จจริงคือ ผู้ฝากเงินจะได้รับดอกเบี้ยเพียง 300 ดอลลาร์

ขณะที่แบงก์เรต (Bankrate) ซึ่งเป็นเว็บไซต์เทคโนโลยีในเครือเดียวกัน ก็ได้ออกมาแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับความถูกต้องของเนื้อหาบทความที่ผลิตโดย AI จำนวนหลายสิบชิ้นเช่นเดียวกัน หลังทางเว็บไซต์เริ่มเผยแพร่บทความที่ผลิตโดย AI ตั้งแต่เดือนพ.ย.

คอนนี กูลีเอลโม บรรณาธิการ CNET แถลงว่า ทางเว็บไซต์ทดลองใช้ AI ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาช่วยงาน ไม่ใช่เพื่อแทนที่ผู้สื่อข่าว “เป้าหมายของเราคือการทดสอบว่าเทคโนโลยีจะสามารถลดภาระในการทำข่าวแบบครอบคลุม 360 องศาให้กับผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการได้หรือไม่”

นอกจากเรื่องการรายงานข่าวผิดพลาดแล้ว บทความที่เขียนโดย AI ยังก่อให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับความเหมาะสมและจริยธรรม หลังนายอเล็กซ์ คานโทรวิตซ์ นักเขียนรายหนึ่งเปิดเผยว่า พบบทความที่ใช้โปรแกรม AI ผสมผสานเนื้อหาจากแหล่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

ที่มา : infoquest

ไมโครซอฟท์เตรียมทุ่ม 10,000 ล้าน ลงทุนใน “OpenAI” เพิ่ม

บริษัทไมโครซอฟท์ประกาศเมื่อวันจันทร์ (23 ม.ค.) ว่าจะทุ่มเม็ดเงินหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อลงทุนในบริษัทโอเพ่นเอไอ (OpenAI) ซึ่งเป็นผู้ผลิตแชตจีพีที (ChatGPT) โปรแกรมแชตบอตเอไอสุดล้ำ

แม้ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขการลงทุนครั้งล่าสุดนี้ แต่เว็บไซต์เซมาฟอร์ (Semafor) รายงานเมื่อต้นเดือนนี้ว่า ไมโครซอฟท์อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อทุ่มเม็ดเงินลงทุนในโอเพ่นเอไอสูงถึง 10000 ล้านดอลลาร์

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นการจับมือเป็นพันธมิตรระยะที่ 3 ระหว่างทั้งสองบริษัท หลังจากที่ไมโครซอฟท์เคยทุ่มเงินลงทุนในโอเพ่นเอไอมาแล้วในปี 2562 และ 2564 โดยไมโครซอฟท์ระบุว่า การผนึกกำลังกันครั้งล่าสุดนี้จะช่วยเร่งความเร็วในการพัฒนาเอไอและช่วยให้ทั้งสองบริษัทให้บริการเทคโนโลยีขั้นสูงในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต

OpenAI ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Azure ซึ่งเป็นบริการคลาวด์ของไมโครซอฟท์ โดยในเดือนก.ค. 2562 ไมโครซอฟท์ทุ่มเงินสนับสนุนโอเพ่นเอไอ 1 พันล้านดอลลาร์ และการทุ่มเงินลงทุนก้อนดังกล่าวส่งผลให้ไมโครซอฟท์กลายเป็นผู้ให้บริการการประมวลผลบนระบบคลาวด์เพียงรายเดียวของโอเพ่นเอไอ โดยไมโครซอฟท์ระบุเมื่อวานนี้ว่า Azure จะให้บริการในฐานะผู้ให้บริการเพียงรายเดียวของโอเพ่นเอไอต่อไป

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ระบุด้วยว่า การลงทุนครั้งนี้จะช่วยให้ทั้งสองบริษัทเข้ามามีส่วนร่วมในการประมวลผลชั้นยอด (Supercomputing) และรังสรรค์ประสบการณ์ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอรูปแบบใหม่

โอเพ่นเอไอได้รับการยกย่องจากบรรดานักวิจัยด้านเอไอว่าเป็น 1 ใน 3 บริษัทเอไอแถวหน้าของโลก โดยโอเพ่นเอไอได้ทำการพัฒนาซอฟต์แวร์เอไอที่สามารถเล่นเกมชนะมนุษย์ เช่น เกมวิดีโอโดต้า 2 (Dota 2)

ที่มา : infoquest

ศิลปินโวย ถูก AI ขโมยภาพ

ศิลปินและช่างภาพจำนวนมากต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้ผลิตผลงานศิลปะด้วยการใช้เอไอนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้นำรูปภาพต้นฉบับไปใช้แต่อย่างใด ซึ่งศิลปินจำนวนมากวิตกกังวลว่า จะมีการใช้เอไอลอกเลียนรูปแบบ (style) ของผลงาน โดยใช้กระบวนการผลิตเพียงไม่กี่วินาที

“เครื่องมือนี้ต้องการงานของเรา นี่ถือเป็นการต่อต้านศิลปินโดยตรง การคัดลอกแบบผิดกฎหมาย” ศิลปินรายหนึ่งกล่าวผ่านทางทวิตเตอร์

เช่นเดียวกับที่ Getty Images ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบรรดาผู้ผลิตเครื่องมือรังสรรค์ภาพผ่านปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ซึ่งระบบสเตเบิล ดิฟฟิวชั่น (Stable Diffusion) ของบริษัทสเตบิลิตี้ เอไอ (Stability AI) ก็เป็นหนึ่งในผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานของเก็ตตี้ อิมเมจส์

ทั้งนี้ Getty Images ดำเนินธุรกิจผ่านการเป็นตัวกลางขายลิขสิทธิ์รูปภาพของช่างภาพและนักวาดภาพประกอบ

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เอไอสามารถดัดแปลงรูปภาพที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นจนกลายเป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งรวมถึงรูปภาพที่มีการโพสต์บนโลกออนไลน์

นายอีมาด มอสตาก ผู้ก่อตั้งสเตบิลิตี้ เอไอให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีก่อนหน้านี้ว่า ระบบสเตเบิล ดิฟฟิวชันถูกฝึกให้ใช้ไฟล์บีบอัดรูปภาพขนาด “100,000 กิกะไบต์” ซึ่งได้มาจากอินเทอร์เน็ต ทั้งยังกล่าวถึงการทำงานเกี่ยวกับเครื่องมือที่ไม่ต้องใช้ศิลปินและครีเอเตอร์อีกต่อไป

นักวิจัยตรวจพบก่อนหน้านี้ว่า สิ่งเหล่านี้รวมถึงวัตถุดิบซึ่งมีแหล่งที่มาจากภาพของ Getty ดังนั้น เก็ตตี้จึงเริ่มดำเนินการทางกฎหมายในศาลฎีกาที่กรุงลอนดอน

“บริษัทจำเป็นต้องปกป้องศิลปินจากการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ก่อนถูกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำลายอาชีพ ทั้ง ๆ ที่โปรแกรมดังกล่าวได้มาจากการที่พวกเขาทำงานอย่างหนัก”

ผู้เชี่ยวชาญเกือบ 30% ลองใช้ ChatGPT ในที่ทำงาน ไว้ร่างอีเมล-เขียนโค้ด

ผลสำรวจในเดือน ม.ค.โดยฟิชโบวล์ (Fishbowl) แพลตฟอร์มโซเชียลของกลาสดอร์ (Glassdoor) เว็บไซต์รีวิวนายจ้าง ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญเกือบ 30% จาก 4,500 คนได้ทดลองใช้ ChatGPT โปรแกรมแชตบอตเอไอของบริษัทโอเพ่นเอไอ (OpenAI) และโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์อื่น ๆ ในที่ทำงาน โดยผู้ตอบแบบสอบถามประกอบด้วยพนักงานของอะเมซอน, แบงก์ ออฟ อเมริกา, เจพีมอร์แกน, กูเกิล, ทวิตเตอร์ และเมตา

(more…)