April 19, 2024

CAT จับมือ กฟผ. บูรณาการด้านดิจิทัลและพลังงาน เพื่อสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0

พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และ นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์  ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ การบูรณาการด้านดิจิทัลและพลังงานระหว่าง CAT และ กฟผ. ซึ่งถือเป็นกรอบแนวทางในการเสริมสร้างโอกาสและความร่วมมือทางธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพร่วมกันในอนาคต โดยการเชื่อมโยงและบูรณาการการดําเนินธุรกิจด้านพลังงาน เทคโนโลยีดิจิทัล และการสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลที่จะเร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล และเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 27 เมษายน 2561

31337851_1015626385253729_7466411575893557248_o

พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์  กรรมการผู้จัดการใหญ่ CAT เปิดเผยว่า “CAT ได้วางแนวทางดำเนินธุรกิจปี 2561 มุ่งเน้นธุรกิจด้านบริการดิจิทัล (Digital service) มากขึ้น เพื่อยกระดับการแข่งขันขององค์กรให้ทันกับเทคโนโลยีปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล  ซึ่งในการจับมือกับ กฟผ.ครั้งนี้ถือเป็นครั้งสำคัญระหว่างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของประเทศ ที่จะเปิดมิติใหม่ให้กับการเชื่อมโยงและบูรณาการการดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน เทคโนโลยีดิจิทัล และการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศร่วมกัน โดย CAT จะให้การสนับสนุนด้านโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม และ Big Data ในการทำโครงการ Smart Energy พร้อมกันนี้จะได้ร่วมกันศึกษาและพัฒนาการเชื่อมโยงและบูรณาการการดำเนินธุรกิจโทรคมนาคม และธุรกิจพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล รวมทั้งเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน”

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์  ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า จุดมุ่งหมายสำคัญของความร่วมมือในครั้งนี้คือ การนํานวัตกรรมพลังงานไฟฟ้ามายกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงานไฟฟ้าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย รวมถึงเป็นการเตรียมรองรับการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยพร้อมก้าวเข้าสู่ยุคของ “Energy Internet” ประกอบด้วย การศึกษาพัฒนาระบบตอบสนองความต้องการทางไฟฟ้า (Demand Response) เพื่อควบคุมการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม โดยผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การใช้เครื่องกําเนิดไฟฟ้าสํารอง (Standby Generator) การควบคุมอุณหภูมิปรับอากาศ การควบคุมระบบไฟฟ้าแสงสว่าง การปรับลดโหลดชั่วคราว เป็นต้น ร่วมกับการออกแบบด้านการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในพื้นที่หรืออาคารให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Energy Efficiency) ในอนาคตอาจพิจารณาการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar) ระบบกักเก็บพลังงานสำรอง และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการพลังงานภายในพื้นที่แบบครบวงจร ซึ่งจะเห็นได้ว่าการร่วมมือจะเน้นเสริมความมั่นคงด้านไฟฟ้า สนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการพลังงานของประเทศให้ทันสมัยและน่าเชื่อถือ พร้อมรองรับการผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลใหม่ (New S-Curve Digital Industry) ของประเทศ