April 26, 2024

iOS vs Android ใครปลอดภัยกว่ากัน

ทุกวันนี้ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และ iOS คือสองแพลตฟอร์มใหญ่ในตลาดอุปกรณ์โมบายล์ ซึ่งหากพิจารณาจากภาพโดยรวมพบว่า แอนดรอยด์เป็นเป้าหมายของการโจมตีจากมัลแวร์มากกว่า iOS รวมถึงประเด็นด้านระบบรักษาความปลอดภัยด้วย

โดยผู้ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องดังกล่าวคือ บริษัทวิจัยอุตสาหกรรม J. Gold Associates ที่เผยว่า การเติบโตของอุปกรณ์ที่รันระบบแอนดรอยด์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้จำเป็นต้องมีการเตรียมแนวทางไว้รับมือต่อปัญหาซีเคียวริตี้บ้างแล้ว เนื่องจาก  J. Gold Associates ให้เหตุผลว่า เพราะแอนดรอยด์พัฒนาขึ้นมาจากโอเพ่นซอร์ส ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ ในขณะที่ iOS เป็นระบบปิด

shutterstock_556460356-2

Jack Gold นักวิเคราะห์จาก  J. Gold Associates กล่าวว่า “ไม่ว่าเมื่อใดก็ตามที่นักพัฒนามีการปรับปรุงซอร์สโค้ดบนแอนดรอยด์ ทุกโอกาสสามารถนำไปสู่ช่องโหว่ด้านความปลอดภัยได้ทั้งหมด”

ตรงกันข้ามกับ iOS ของแอปเปิลที่ไม่มีการเปิดเผยซอร์สโค้ด ซึ่งนั่นเท่ากับว่าบุคคลภายนอกยากจะเจาะเข้าไปได้เหมือนแอนดรอยด์โฟน อีกทั้งแอปเปิลยังมีระบบตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่ว่าเมื่อมันพบการบุกรุกจะได้สามารถสั่งปิดการทำงานได้ทันควัน

ข้อดีอีกประการคือแอปเปิลดูแลการผลิตทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ด้วยตัวเองจึงยากที่คนภายนอกจะล่วงรู้กระบวนการต่าง ๆ ได้

ปัจจุบัน แอนดรอยด์และ iOS รวมกันมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 94% ของเครื่องในท้องตลาด (อ้างอิงจากงานวิจัยของฟอร์เรสเตอร์เรื่อง “Mobile, Smartphone, And Tablet Forecast, 2017 To 2022.” โดยแอนดรอยด์ครองส่วนแบ่งหลักไว้ถึง 73% ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 1.8 พันล้านคน) และในปีนี้ แอนดรอยด์ก็ได้รับการคาดหมายว่าจะทิ้งห่างออกไปอีกที่ส่วนแบ่งตลาด 74% ส่วนแอปเปิลคาดว่าจะอยู่ที่ 21% และวินโดวส์โฟน 4%

“ความจริงก็คือ เมื่อแอนดรอยด์ถูกโจมตี ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะค่อนข้างสูง” Gold กล่าว พร้อมชี้ว่า แม้ผู้พัฒนาจะมีการอัปเดตระบบปฏิบัติการใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาด้านซีเคียวริตี้ แต่สมาร์ทโฟนที่รันแอนดรอยด์เวอร์ชันล่าสุดก็มีน้อยมากในท้องตลาด เพราะต้องรอบริษัทผู้ผลิตส่งอัปเดตออกมา ต่างจากแอปเปิลที่บังคับให้ผู้ใช้งานต้องอัปเกรดเวอร์ชันใหม่ได้เลยทันที

จากข้อมูลของไซแมนเทคพบว่า ภัยคุกคามที่มีต่ออุปกรณ์โมบายล์นั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับในอดีต เฉพาะในปี 2016 ไซแมนเทคตรวจสอบพบว่า มีมัลแวร์ 18.4 ล้านตัวที่ออกมาโจมตีอุปกรณ์สื่อสารในฝั่งแอนดรอยด์

อย่างไรก็ดี ภัยคุกคามที่จ้องโจมตี iOS ตั้งแต่ปี 2014 – 2016 นั้นไม่ได้ขยายตัวขึ้นเลย โดยในปี 2014 มีพบ 46 ครั้ง และเหลือ 18 ครั้งในปี 2015 ก่อนจะเหลือ 4 ครั้งในปี 2016

แต่ด้วยข้อดีหลาย ๆ ประการ ก็ทำให้ภาคธุรกิจให้ความสนใจกับแอนดรอยด์โฟนเพื่อนำไปใช้ในเชิงธุรกิจมากกว่า ซึ่งในจุดนี้ กูเกิลจึงนำเสนอซอฟต์แวร์ที่มีระบบซีเคียวริตี้มากขึ้นอย่าง Androiod at Work ออกมาใช้งาน โดยระบบดังกล่าวจะแยกกันระหว่างโปรไฟล์ส่วนตัวและโปรไฟล์ขององค์กรเพื่อให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น

สำหรับบริษัทที่อนุญาตให้พนักงานนำอุปกรณ์ของตนเองเข้ามาใช้งานกับระบบของบริษัทนั้น สิ่งที่ต้องย้ำให้ขึ้นใจก็คือ ต้องติดตั้งแอปพลิเคชันจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และผู้ดูแลระบบไอทีต้องให้ความใส่ใจกับการขอ Permissions จากแอปพลิเคชันให้มาก ๆ ด้วยเนื่องจาก Permissions บางตัวอาจส่อถึงพฤติกรรมของมัลแวร์ได้

นอกจากนั้น บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือคือผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้โทรศัพท์และแท็บเล็ตมีความปลอดภัย ดังนั้นควรมีการเปิดเผยรายชื่อของผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือบางรายซึ่งมีการอัปเดตระบบปฏิบัติการล่าช้าเพื่อไม่ให้บริษัทต่าง ๆ เลือกใช้งานด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือพนักงานในองค์กร การให้ความรู้กับพนักงานเป็นเรื่องที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรที่จะช่วยให้ระบบปลอดภัยมากขึ้น โดยพนักงานควรรู้ว่าอะไรดาวน์โหลดได้ อะไรไม่ควรดาวน์โหลด ไฟล์ใดเปิดได้ ไฟล์ใดไม่สมควรเปิด ฯลฯ เป็นต้น

ที่มา http://computerworld.com/article/3213388/mobile-wireless/android-vs-ios-which-is-more-secure.html