April 19, 2024

AgriBiz-AgriTech โอกาสใหญ่เกษตรไทย ชูนวัตกรรมขยายธุรกิจ-ชิงพื้นที่แข่งตลาดโลก

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประมาณการณ์ไว้ว่า ภายในปี ค.ศ. 2050 จำนวนประชากรโลกจะแตะหลัก 9.7 พันล้านคน ส่งผลให้ความต้องการอาหารทั่วโลกดีดตัวสูงขึ้นอีก 60% แนวโน้มนี้จึงสร้างความท้าทายในการผลิตอาหารป้อนชาวโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน ก็สร้างโอกาสใหม่ให้กับ “ภาคการเกษตร” ซึ่งถือเป็น “จุดตั้งต้น” ของห่วงโซ่การผลิตอาหาร และควบคู่กันไปคือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในอัตราที่รวดเร็วจนแทบเปลี่ยนโลกในพริบตา (Technology Disruption) ได้กลายมาเป็น “จิ๊กซอว์” ชิ้นสำคัญในการเชื่อมภาคการเกษตร เทคโนโลยี ภาคธุรกิจ ตลอดจนตลาดใหม่มาแรงอย่าง “อาหารทดแทนเนื้อสัตว์ (Alternative Food)” รับเทรนด์คนรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพ

ล่าสุด มีภาคส่วนสำคัญของไทยทั้งระดับรัฐ สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ เห็นถึงศักยภาพของโอกาสทางการแข่งขันข้างต้น สำหรับผู้ประกอบการและภาคเกษตร เพื่อเปลี่ยนผ่านจากเกษตรแบบเดิมๆ ไปสู่การเกษตรเพิ่มมูลค่า ต่อยอดเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติมด้วยการพัฒนาควบคู่กันระหว่าง AgriTech และ FoodTech ปั้นผู้ประกอบการภาคการเกษตร/เกษตรกร สู่การเป็น “นักธุรกิจเกษตรยุคใหม่” ผ่านโครงการ DIPROM AgriBiz Scale Up 

            โดยเป็นการผนึกกำลังระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการ 88 SANDBOX: Startup Ecosystem  (ริเริ่มโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และ SCB SME พร้อมด้วยธุรกิจสื่ออย่าง WOODY WORLD และทัพนักธุรกิจรุ่นใหม่ ตลอดจนสตาร์ทอัพ ที่ประสบความสำเร็จ มุ่งสู่เป้าหมายสูงสุด คือ บ่มเพาะและสร้าง Disruptive Business Model  เสริมสร้างความแข็งแกร่งและศักยภาพนักธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่รองรับการแข่งขันในตลาดโลก พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศโดยการสร้างมูลค่าจากภาคการเกษตรไทยให้มีมูลค่าสูง 

แปลงการเกษตรไทยสู่ “เกษตรนวัตกรรม” 

รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการ 88 Sandbox กล่าวว่า เกษตรธุรกิจ (Agri Business) นับเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ มีศักยภาพที่จะเป็นธุรกิจที่สร้างความมั่งคั่ง และปักธงไทยในเวทีโลก ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเลิกทำ “เกษตรราคาถูก” ต้องเดินหน้ายกระดับสู่การทำเกษตรเชิงนวัตกรรม การเกษตรที่สามารถสร้างและขยายธุรกิจ (Scale up) เข้าถึงตลาดทั่วโลกด้วย โดยตั้งเป้าว่าโครงการฯ นี้ จะพาประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการเป็น “ครัวของโลก” หรือ Kitchen of the World ให้ได้

ทั้งนี้ จุดยืนของ 88 Sandbox คือแพลตฟอร์มที่เป็น Digital Skill Space สำหรับคนทุกเจนเนอเรชั่น มุ่งสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศไทย ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 6,000 คน จำนวน 270 ทีม พร้อมเสริมความแข็งแกร่งและความรู้ให้สมาชิก ผ่านทรัพยากรจากหลายภาควิชาของธรรมศาสตร์ และเครือข่ายทั้งภาคธุรกิจและนักลงทุน ที่สำคัญคือ ทัพกูรูที่จะมาเป็นที่ปรึกษา (Mentors) ให้กับสมาชิกและสตาร์ทอัพที่อยู่บนแพลตฟอร์มนี้

            นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวแบ่งปันประสบการณ์ของประเทศอิสราเอล ในการขับเคลื่อนการเติบโตของ GDP ประเภทผ่านอุตสาหกรรมเกษตรยุคใหม่ หรือ AgriTech คือ การให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรม เพื่อฝ่าข้อจำกัดในเรื่องการตลาด จากขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรไม่ถึง 10 ล้านคน และความท้าทายเชิงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ดังนั้นรัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้เกษตรกร “ได้ประโยชน์” จากการเกษตร เพราะถ้าสามารถสร้างรายได้ดี ก็จะไม่ทิ้งพื้นที่เกษตรไปทำอาชีพอื่น

            ปัจจุบัน มูลค่าการลงทุนในการเกษตรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี (AgTech) สูงกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งรัฐบาลและภาคธุรกิจอัดฉีดงบด้านงานวิจัยและพัฒนามากกว่า 5% ของจีดีพีประเทศ มีจำนวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาค AgriTech มากกว่า 450 บริษัท ในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนของสตาร์ทอัพที่มีกิจกรรมอย่างเข้มแข็งถึง 239บริษัท

            “เราไม่ได้เรียกภาคการเกษตรว่า เกษตรกรรม (Agriculture) อีกต่อไป แต่เราเรียกว่า เกษตรเทคโนโลยี (AgriTech) และกำลังขับเคลื่อนไปสู่อีกระดับรับเทรนด์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอาหาร (FoodTech) ที่กำลังมาแรงอย่างเช่น โปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ (Alternative Protein) ซึ่งแปรรูปจากพืช กำลังมีการอัดฉีดเพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการโดยเฉพาะสตาร์ทอัพด้านนี้อย่างจริงจัง” 

ทั้งนี้ ด้วยพลังของเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเกษตรยุคใหม่ของอิสราเอล ลดการใข้แรงงานลงจาก 70% เหลือต่ำกว่า 2% ผลิตผลทางการเกษตรที่ส่งออกมากกว่า 60% เพาะปลูกในดินแดนที่เป็นทะเลทราย มีจำนวนพื้นที่ที่ทำการเกษตรมากกว่า 500 แปลง กระจายอยู่ในพื้นที่ทะเลทราย Arava ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งทดลองและเรียนรู้เกษตรยุคใหม่

ปักหมุดพัฒนาเกษตรยุคใหม่รับศก.ดิจิทัล

ดร.อริยาพร  อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการ กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนและเสริมศักยภาพภาคอุตสาหกรรมเกษตรไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันนำไปสู่การพัฒนา “เกษตรยุคใหม่” สอดรับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัล สนับสนุนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรให้สามารถ “แปลงวิกฤติ” เป็น “โอกาส” ก้าวเข้าสู่การเป็น smart farmer หรือเกษตรกรอัจฉริยะ โดยการใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆ รวมทั้งกระบวนการคิด การตลาด  สำหรับโมเดลใหม่นี้ เพื่อช่วยพัฒนาให้เกษตรกรจะไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตเท่านั้น แต่จะก้าวสู่นักธุรกิจเต็มตัว  เนื่องจากในปัจจุบันเกษตรกรสามารถทำการค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้สะดวกสบาย พร้อมยังสามารถเชื่อมโยงให้เกิดการสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ 

            “ทุกวันนี้โลกเปลี่ยน เราต้องปรับ คนที่อยู่รอดคือคนที่ต้องปรับตัวให้ได้ในทุกธุรกิจ ดังนั้นในภาคการเกษตรจำเป็นต้องมี Agri Business เข้ามา ปรับตัวจากเกษตรพื้นฐานสู่เกษตรอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) รับมือความเสี่ยงภาวะขาดแคลนอาหารที่เริ่มเห็นแล้วในบางประเทศ”

            นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร กล่าวว่า  สอท. มองว่า เกษตรคือรากฐานของประเทศไทย  ดังนั้นจึงควร “เปลี่ยน (change)” เกษตรไปอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็คือ “เกษตรอุตสาหกรรม” ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงมาสู่การใช้ Demand push Supply จากเกษตรรูปแบบเดิมที่เป็น Supply push Demand ต้องทำให้เกิดความต่อเนื่องกันของการเพาะปลูก และอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการ pool ของความต้องการในตลาดและผลผลิต และทำให้ “ราคา” สินค้าเกษตรดีขึ้น

            นอกจากนี้ ได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างอุตสาหกรรมเกษตรของไทยกับนานาว่า ภาคเกษตรไทยในแง่ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม “ปลายน้ำ” เก่งมาก ขณะที่ “ต้นน้ำ” จะผลผลิตต่ำเนื่องจากปัญหาส่วนหนึ่ง คือ ยังขาดการวิจัยเชิงลึก ขาดการใส่เทคโนโลยีลงไปในการทำเกษตร จึงทำให้ประสิทธิภาพต่ำ ดังนั้น หากจะก้าวรับเทรนด์อนาคตให้ได้ ต้องทำการพัฒนาให้ “ต้นน้ำ” แข่งขันได้ก่อน โดยเฉพาะในการเกษตรที่มีคู่แข่งอยู่ในตลาดโลก ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรถึงเวลาที่ต้องหันมามองแล้วว่า จะทำการปรับปรุงอย่างไรเพื่อตอบโจทย์ให้ทั้งเกษตรต้นน้ำและปลายน้ำ มีศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ