5 คุณลักษณะใหม่ของสรรพสิ่งในโลก
โดย พงษ์ ผาวิจิตร (ตีพิมพ์ในนิตยสาร Eworld ฉบับเดือน มีนาคม 2012)
หากใครมีลูกชายในทุกวันนี้ ก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าตัวเองมีลูกชาย เพราะเมื่อถึงวัยหนึ่ง “ลูกชายสุดที่รัก” ที่เราหวังไว้ว่าจะเป็นผู้สืบสกุล อาจมีคุณลักษณะพิเศษอันไม่พึงประสงค์เพิ่มเข้ามาเป็นเพศที่สามได้ ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของเจ้าลูกชายหรือสิ่งแวดล้อมแต่ประการใด เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า เจ้าคุณลักษณะนี้เกิดจากยีนต์ ซึ่งไม่เพียงแต่ธรรมชาติจะเล่นตลกเศร้ากับเราเท่านั้น พวกเรามนุษย์กันเองก็มักสรรหาคุณลักษณะพิเศษให้กับสรรพสิ่งรอบด้านเหมือนกัน ดูอย่างเช่นภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันที่มักจะไปกำหนดเพศให้กับสรรพสิ่งไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ใบหญ้า อากาศ ล้วนมีลักษณะเพศกำหนดทั้งสิ้น ดังนั้นการกำหนดคุณลักษณะใหม่ๆ ให้กับสรรพสิ่งจึงเป็นคุณสมบัติอันหนึ่งของสิ่งมีชีวิต (เพราะธรรมชาติก็เล่นตลกกับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น) พื้นดินที่มีอยู่เดิมบนโลกใบนี้ มนุษย์เราก็ไปคิดสร้างเอกสารสิทธิ์การครอบครอง จนชาวเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกงงไปหมด ไม่ว่าจะเป็นอินเดียแดงในอเมริกา หรือเผ่าอะบอริจิ้นในออสเตรเลียจนมีปัญหาคาราคาซังถึงทุกวันนี้
การกำเนิดของอินเทอร์เน็ต ยิ่งทำให้เกิดโอกาสใหม่ในการกำหนดคุณสมบัติใหม่ๆ ให้กับสรรพสิ่งมีมากขึ้น และก็เป็นช่องทางของการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับคนบางกลุ่ม เช่นคลื่นความถี่ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ สังคมก็เอามาจัดสรรย่านความถี่แบ่งขายให้กับคนที่ให้ราคาดีที่สุด และคนที่ได้เป็นเจ้าของความถี่นั้นก็สามารถไปสร้างรายได้มหาศาล อย่างน้อยมนุษย์เราก็มีช่องทางในการกำหนดคุณสมบัติใหม่ให้กับสรรพสิ่งในโลกนี้เพิ่มอีก 5 ด้านด้วยกันดังนี้คือ
- การทำให้มีคุณสมบัติเชิง Digital เรียกว่า Digitization
- การทำให้สรรพสิ่งที่เป็นของหายากกลายเป็นคอมมอดิตี้ ที่ดาดเดื่อน เรียกกว่า Commoditization
- เมื่อมีคุณสมบัติสองข้อข้างต้น ก็ทำให้คนซื้อกลายเป็นคนขาย คนขายกลายเป็นคนซื้อได้ เรียกกว่า Prosumerization
- และเมื่อโลกไม่มีพรมแดนอีกต่อไป การหากินข้ามเขตอิทธิพลของตนเอง โดยไม่ผิดกฎหมาย เรียกกว่า Globalization (บางท่านอาจรู้สึกตะขิดตะขวงใจว่า ทำไมช่างตรงกันข้ามกับกำหนดเขตสัมปทาน คือของที่ฟรีก็ทำให้แพง ของที่แพงก็ทำให้ฟรี- นี่แหละโลกมนุษย์)
- และสุดท้ายคือ.. การทำลายความ “เกรงใจ” “ขอบเขตของความเป็นส่วนบุคคล” เรียกว่าบุกเข้าไปในห้องนอน แอบติดกล้องส่องในห้องน้ำในลิฟต์ ที่เขาเรียกว่า Socialization
Digitalization: อย่างน้อยๆ พวกเราก็มีรหัสประจำตัวในบัตรประชาชนที่ไม่ต่างอะไรกับบาร์โค้ดของสินค้า และสินค้า gadget ที่เราใช้ทุกชิ้นก็ล้วนได้รับการเสนอให้บริการให้ที่ฟังดูดีมีประโยชน์กับเรากล่าวคือ สามารถตามหาได้ว่าอยู่ที่ไหนเมื่อหาย ครั้งหนึ่งเมื่ออินเทลพยายามบอกว่าซีพียูของเขาทุกตัวสามารถติดตามได้ว่าอยู่ที่ไหนในโลก ก็ถูกต่อต้านเพราะคนใช้อ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่แล้วไม่รู้ว่าลัทธิก่อการร้ายเกิดขึ้นเอง หรือประเทศมหาอำนาจที่อยากเฝ้าติดตามเราให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการรู้ว่าเราอยู่ที่ไหนจนทุกวันนี้พวกเราพากันสมัครใจใช้บริการ location base ในอุปกรณ์หลายๆ ชนิด รวมถึงสมัครเป็นสมาชิกบริการอย่าง foursquare กันอย่างล้นหลาม อีกไม่นานพวกเราก็คงอยากรู้ชะตากรรมของเรา ต้นกำเนิดรากเหง้าของเราด้วยการใช้บริการถอดรหัสพันธุกรรมที่มีในรูปของ Digitization ใส่ในแผ่นซีดีให้เรา แม้แต่ตารางนัดหมายกับคนรักก็ยังทำให้เป็น digitized ด้วยการใส่ในปฏิทินของ Google หรือ Apple ที่มีศูนย์บัญชาการในต่างประเทศ ท่านเห็นหรือยังครับว่า..กิจกรรมพื้นๆ ในชีวิตของเรายังต้องเสียตังค์ใช้บริการของฝรั่งอย่างคาดไม่ถึง
Commoditization “จริงคือเท็จ เท็จคือจริง” ประโยคเด็ดที่เจอบ่อยครั้งในหนังสือกำลังภายในจีนเป็นการบ่งบอกถึงสัจธรรมนี้ได้ดีที่สุด อะไรที่หายาก ฝรั่งเขาก็จัดการทำให้หาง่าย เพื่อเปิดตลาดให้กว้างขึ้น อะไรที่หาง่ายเช่นคลื่นความถี่ (แม้แต่ยารักษาโรคในท้องถิ่น ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เขาก็ไปจดทะเบียนสิทธิความเป็นเจ้าของ) เขาก็ทำให้หายาก เพราะอะไรหรือครับ.. ก็เพราะว่า การเพิ่มคุณสมบัติด้าน digitization ให้กับสรรพสิ่งทำให้สิ่งที่หายากกลายเป็นว่ามีคุณสมบัติบางประการที่หาง่าย เมื่อง่ายคนก็ใช้มาก เมื่อใช้มาก ถึงแม้จะเก็บค่าบริการต่อหน่อยน้อยก็กลายเป็นน้ำซึมบ่อทราย อย่างเช่น กระเป๋าหลุยส์ใบละแสน แต่ก็ต้องมีบาร์โค๊ดกำหนดสรรพคุณบางอย่างที่เราต้องเสียเงินให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่ากับสบู่หนึ่งก้อนที่มีบาร์โค๊ดเหมือนกัน อีกหน่อยพวกเราจะเข้าทำงานได้ ก็ต้องมีรหัสพันธุกรรมแนบเข้าไปในใบสมัคร หรือต้องบอกสมาชิก Facebook เพื่อให้ว่าที่นายจ้างเข้าไปดูประวัติความเป็นมาของเราในอดีตได้ที่มาในรูป Digital เป็นต้น
Prosumerization ทุกครั้งที่เราเข้าไป “ซื้อ” สินค้าในห้างสรรพสินค้า เราก็กลายเป็น “ผู้ผลิต” ข้อมูลบางอย่างผ่านเครื่องอ่านบาร์โค๊ดและการใช้บัตรเครดิต ซึ่งก็เป็นไปในรูปของ Digitization ที่ข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกเอาไป “จำหน่าย” โดยเราไม่ได้รับเงินในการผลิตเลย แต่ข้อมูลเหล่านี้แหละจะย้อนกลับมาหาสินค้ามาขายเราในภายหลัง เรียกว่าเป็นการเก็บเงินเวียนเทียนด้วยตัวเราเอง นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของ Prosumerization ในขณะที่เขียนบทความนี้ บริษัท Apple เพิ่งประกาศเปิดตัว iBook 2 กล่าวคือ เป็นความชาญฉลาดที่แอปเปิ้ลกำลังบอกว่า ..หากท่าน “ซื้อ” เครื่องของเราไปใช้ ท่านสามารถใช้เครื่องนี้เป็นอุปกรณ์ในการสร้าง Content กลับเข้ามา “ขาย” ในระบบได้ หรือสินค้าบางอย่างที่เราซื้อใช้แล้วเบื่อ ก็กลับเอาไปขายได้ใน ebay แม้แต่หนังสือ amazon ก็มีบริการให้เราขายหนังสือเก่ากลับเข้าไปในระบบได้เช่นกัน ทุกวันนี้ เราจึงมีบทบาททั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย ผู้ผลิต-ผู้บริโภค การอุบัติขึ้นขอกล้อง CCTV ก็สามารถทำให้เราทำหน้าที่แข่งกับผู้รักษากฎหมายได้เช่นกัน กล่าวคือ ไม่เพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายกับเราตามหน้าที่เท่านั้น พวกเราประชาชน ก็สามารถตรวจสอบและแจ้งจับเจ้าหน้าที่ได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ..สมกับยุคของครอบครัวเดี่ยวจริง ๆ ที่บางคนต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ เนื่องจากคู่ชีวิตหนีเราไป..
Globalization ทุกวันนี้ มอเตอร์ไซด์รับจ้างยังมีวินประจำ หากใครข้ามถิ่นรับรองมีการถูกรุม แต่อีกไม่นานปรากฏการณ์เหล่านี้จะหายไป เรียกว่าใครใคร่ค้า ค้า เพราะการเกิดของ Globalization คือความพยายามของมหาอำนาจที่จะข้ามเขตอิทธิพลในการทำมาหากินได้โดยชอบธรรม(เขา) แต่อาจไม่เป็นธรรมกับเรา เช่น หากเราส่งลูกหลานไปเรียนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เขาจะเก็บค่าเรียนแพงหูฉี่ในฐานะคนต่างด้าว แต่ถ้าเขาขยายเขตอิทธิพลมาประสาทปริญญาบัตรให้กับมหาวิทยาลัยไทย เราก็ต้องเสียค่า “ต๋ง” ให้เขาอีก เรียกว่า หาเงินเบี้ยไปใช้เงินตำลึง แต่ฝรั่งเขาหาเงินตำลึงมาใช้ชีวิตถูกๆ แบบเงินเบี้ยด้วยการมาเป็นเขยฝรั่งในไทย ..ยังมีอีกหลากหลายมิติที่สังคมไทยยังขาดภูมิปัญญาในการคิดตามฝรั่งเขาอยู่ดี
Socialization วันนี้ Facebook กลายเป็นบริษัทที่มีการทำ IPO แพงที่สุดในโลกบริษัทหนึ่งด้วยฐานลูกค้าใหญ่กว่าเทียงเท่ากับประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก จะรองก็เพียงจีนและอินเดียเท่านั้น แต่ GDP ของสมาชิกของ FB กลับมีมูลค่าสูงกว่าทุกๆ ประเทศในโลกเสียอีกท่านคิดดูเถิดว่า เราสมยอมเปิดความเป็นส่วนตัวของเรา แต่ความเป็นส่วนตัวของเรา เพื่อนฝูงของเรากลายเป็นสิ่งที่บริษัทเจ้าของสามารถเอาไปใช้ทำ Monetization ได้..
ด้วยเนื้อที่จำกัด..จึงขอจบเพียงแค่นี้ สรรพคุณทั้ง 5 ข้างต้น น่าจะมีการสัมมนาขยายความเพื่อที่เราจะได้รู้เท่าทันอย่างน้อยๆ ก็ทันการหากินในยุคอาเซียนเสรีในอีก 1,000 กว่าวันข้างหน้า..