20 สิ่งที่จะหายไปจากการศึกษา!
โดย พงษ์ ผาวิจิตร (ตีพิมพ์ในนิตยสาร Eworld ฉบับเดือน สิงหาคม 2012)
ผู้เขียนเห็นบทความนี้ใน The Daily Riff สื่อสำหรับวงการศึกษา โดยนักเขียนชื่อ Shelley Blake ที่เธอเขียนไว้ว่า สิ่งต่อไปนี้จะหายไปในอีก 5-20 ปีข้างหน้า เห็นว่าน่าสนใจดี เลยขออนุญาตเอาหัวข้อทั้ง 20 อย่างมาเรียบเรียงตัดต่อให้สอดคล้องกับบริบทในสังคมไทย ตกหล่นไป 1-2 รายการที่ไม่สอดคล้องกับสังคมไทยคือ เรื่องของ outsource งานบางอย่างที่ไม่มีในไทย และโรงเรียนกวดวิชาที่สังคมตะวันตกไม่ค่อยมี แต่มีดาษดื่นในบ้านเราเข้ามาแทน
- โต๊ะนักเรียน: เพราะนักเรียนไม่จำเป็นต้องนั่งโต๊ะเรียนอีกต่อไป อาจเรียนในห้องอาหาร สนามหญ้า หรือแม้แต่ในห้างสรรพสินค้า สำหรับคนที่โหยหาของเก่า น่าจะไปซื้อโต๊ะนักเรียนเก่าๆ เก็บไว้เป็นความทรงจำสักชุด
- ห้องแลบภาษา: ในเมื่อเด็กเรียนภาษาจากโทรศัพท์มือถือได้แล้ว ทำไมยังต้องมีห้องแลบภาษาอีก ทุกวันนี้ โรงเรียนส่วนใหญ่ยังโหยหาลงทุนในห้องแลบภาษา แสดงว่า นักการศึกษาเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่มีการปรับตัวช้าที่สุด มิน่าเล่า การศึกษาของไทยถึงได้สารวันเตี้ยลงทุกวัน
- คอมพิวเตอร์: เมื่อสองวันก่อน ผู้เขียนตัดสินใจว่าจะซื้อคอมฯ หรือมือถือรุ่นฉลาดให้กับลูกคนเล็กในราคาที่เท่ากัน สรุปแล้ว ผู้เขียนตัดสินใจซื้อโทรศัพท์แทน เพราะความง่ายในการพกพา ทำให้เด็กมีความง่ายในการเรียนด้วยเช่นกัน
- การบ้าน: เป็นนิยายปรำปรามานานหลายสิบปีแล้วคือ ครูชอบให้การบ้าน แต่เด็กไม่เคยทำ สรุปคือ ครูไม่เคยเรียนรู้ หรือเด็กทุกสมัยไม่เคยเรียนผ่านการบ้าน หรือว่า การบ้านเป็นยาขมที่ขัดแย้งกับยีนต์แห่งการเรียนรู้ของมนุษย์ นักการศึกษาสมัยใหม่ เลยคิดกันว่า ถ้าอย่างนั้น ทำไมไม่ทำให้เด็กเรียนไปทำไปด้วย หรือเมื่อเจอสถานการณ์หนึ่งๆ ก็เรียนรู้พร้อมกับการทำการบ้านไปด้วยกัน เหมือนกับที่เราอยากรู้อะไรก็ค้นหาจาก Google อย่างทุกวันนี้
- การสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อ: ในหลายๆ ประเทศเขาไม่มีการสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อกันมานานแล้ว ใครอยากเรียนก็เรียนกันไป แต่เมื่อไรที่อยากจบ ก็ต้องมาสอบจบ ผู้เขียนว่าแนวโน้มนี้เกิดขึ้นในบ้านเราแล้ว เพราะว่ามีโรงเรียน/มหาวิทยาลัยมากกว่าจำนวนเด็กที่อยากเรียนเสียอีก แล้วจะไปสอบทำไม เห็นมหาวิทยาลัยเอกชนหลายๆ แห่ง ถึงขนาดทำการตลาด MLM ไปหาลูกค้าจากต่างจังหวัด เรียกว่า พอเห็นเป็นรูปร่างว่าเป็นนักเรียนก็คว้ามาเรียนแล้ว
- ครู: อาจจะยังไม่ถึงกับหายไป แต่ก็เป็นอาชีพที่ถูกท้าทาย ในเมื่อครูสอนได้ไม่เก่งกว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือติวเตอร์ แล้วจะมีครูไปหาวิมานอะไร เมื่อวานนี้ ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมโรงเรียนสมัยประถม ซิสเตอร์แก่ๆ คนหนึ่งยังเดินมาดุอีก แกคงลืมไปว่า ผู้เขียนนะแก่กว่าแกอีก เห็นคนแปลกหน้าเป็นนักเรียนไปหมด หรือว่าคุณสมบัติของการเป็นครู ต้องทำหน้าดุไว้ อย่างนี้อีกหน่อยน่าจะมีหน้าที่เพิ่ม?
- กลัวตำรา: ต้นฉบับเขาเขียนไว้ว่า กลัว Wikipedia แต่ผู้เขียนคิดว่า นักเรียนกลัวตำราเรียนมากกว่า eBook และเวปกำลังทำให้หนังสือเริ่มต้นสูญพันธุ์ นั่นหมายถึงว่า อีกหน่อยตำราเรียนก็ไม่ใช่อุปกรณ์การเรียนอีกต่อไป
- กระดาษ: เมื่อคนเปิดจากแทบเล็ตได้ ทดได้ ลบได้ แถมพวกเอ็นจีโอก็รณรงค์ให้ประหยัดกระดาษช่วยโลก อีกหน่อยกระดาษก็คงหายไปพร้อมกับตำราเรียน
- ห้องพักครู: เป็นห้องที่สมัยเด็กๆ ไม่อยากเดินผ่าน เพราะเป็นแดนสนธยา หากไม่ถูกหาเรื่องดุ ก็มักถูกครูเรียกใช้ให้ยกของ หรือช่วยตรวจการบ้าน บาปกรรมคงมีจริง ห้องนี้ถึงได้ชดใช้กรรมสูยหายไป
- ห้องเก็บของ: ในโรงเรียฝรั่งจะมีห้อง Locker ให้เด็กๆ ได้เก็บของไม่ต้องแบกเป้หลังแอ่นกลับบ้าน แต่ของเราคงเป็นกระเป๋านักเรียนที่น่าจะเรียกว่ากระสอบห้องสมุดเคลื่อนที่ เพราะเด็กๆ มักขนไปหมด เพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนสมัยเด็กๆ แกขนทุกอย่างโดยไม่ต้องจัดตารางสอน เพราะแกมีปรัชญาว่า ไม่อยากจำว่าครูให้เอาอะไรมา และก็ไม่อยากทะเลาะกับครู แกเลยขนมาหมด รวมทั้งรังแมลงสาปที่แอบมากับกระเป๋าจากบ้านบ้านด้วย
- แผนกไอที: เอาละ ครูไอทีที่ชอบขู่ครูแผนกอื่นๆ จะได้สำนึกเสียบ้าง เพราะอะไรๆ ก็เป็น Cloud หมด ดังนั้นครูไอทีก็ควรจะหายไปกับกลีบเมฆด้วยเช่นกัน
- ความศักดิ์สิทธิ์ของส่วนกลาง: การรวมศูนย์อำนาจจะเสื่อมลง เมื่อท้องถิ่นมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาส่วนกลาง แม้แต่โรงเรียนที่ดูน่าเกรงขาม ก็จะกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ในชุมชนที่ ไม่เพียงแต่เด็กๆ ได้มาใช้ แม้แต่ผู้ปกครองก็สามารถเข้ามาใช้ได้
- เกรด: ความจริงองค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดไว้ว่าศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษแห่งการเรียนรู้เป็นปัจเจกคนๆ ไป ที่เรียกว่า Personalized Learning ดังนั้นการเปรียบเทียบเกรดระหว่างกันก็หมดความจำเป็นไป แต่การเรียนเป็นกลุ่มจะมีความจำเป็นมากขึ้น ดังนั้นเพื่อนๆ ที่ร่วมกันทำโครงการกับเราจะกลายเป็นคนสำคัญในการอ้างอิงผลงานของเราต่อคนข้างนอก หากใครในกลุ่มชอบกินแรงเพื่อน แน่นอนว่า ถ้านายจ้างมาถามหาประวัติ เพื่อนๆ ในกลุ่มคงไม่เป็นพระหรือชีบอกว่าดีแน่ เพราะถ้าเป็นพระหรือชีแล้วปกป้องเพื่อนว่าดีทั้งๆ ที่ห่วยก็ผิดศีลมุสาอยู่ดี
- โรงเรียนที่ไม่มี FB: กล่าวคือ โรงเรียนที่อยู่โดดๆ เฉกเช่นโรงเรียนดังๆ บางแห่งที่ไม่สนใจใคร ไม่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม เด็กๆ ก็จะไม่เข้าเรียนโรงเรียนประเภทนี้อีกต่อไป เพราะถึงจะดัง แต่จบแล้วไม่มีเพื่อน ไม่รู้จักใคร ก็ไม่รู้ว่าดังแล้วดีตรงไหน
- หลักสูตรแกนกลาง: ในเมื่อการศึกษาเป็นสถาบันที่มีการปรับตัวช้าที่สุด ยิ่งหลักสูตรยิ่งปรับตัวช้า เพราะหลาย ๆ ปีถึงมีการปรับสักครั้ง ซึ่งก็ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้น หลักสูตรแกนกลางจึงอาจกลายเป็น “วรรณกรรม” ที่น่ารังเกียจของนักเรียนอีกชิ้นหนึ่ง
- การประชุมครู ผู้ปกครอง: ครูไม่ต้องปวดหัวว่าเรียกประชุมแล้วผู้ปกครองไม่ให้ความร่วมมือ เพราะไม่ว่าง หรือ ผู้ปกครองก็บ่นว่า ผู้อำนวยการบ้าอำนาจคุยจ้อไร้สาระ เพราะการประชุมอีกหน่อยจะผ่านสื่อสมัยใหม่ ใครว่างเมื่อไรก็เข้าไปประชุมได้เมื่อนั้น
- การจ้างงานคนนอก: ในเมื่อครูเป็นคนในที่รู้ปัญหามากที่สุด ก็น่าจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด ไม่ต้องจ้างคนนอกเข้ามาให้เสียงบประมาณ เรื่องข้ออ้างว่างานล้นมือก็ไม่ต้องอ้างอีก เพราะอนาคตครูจะว่างงานมากขึ้น ขี้คร้านจะแย่งงานกันทำ เพื่อเป็นหลักประกันว่าตนเองยังมีความหมาย จะได้ไม่ตกงานเร็วเกินไป
- โรงอาหาร: เมื่อเด็กเรียนนอกโรงเรียนบ่อยขึ้น และนักเรียนก็บ่นเรื่องอาหารในห้องอาหารไม่เอาความ แถมร้านสะดวกซื้อก็มีทุกหัวถนน ความจำเป็นของการมีโรงอาหารก็หมดไป
- พีชคณิต:ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ แต่กลายเป็นว่า วิชานี้จะรวมเข้าไปกับวิชาอื่นๆ อย่างกลมกลืนไม่รู้ตัว แถมสื่อสมัยใหม่ทำให้วิชานี้ไม่เป็นยาขมที่เรียนยากอีกต่อไป
- โรงเรียนกวดวิชา:ในเมื่อไม่มีหลักสูตรแกนกลาง ไม่มีการสอบคัดเลือกเข้า ไม่มีเรื่องเกรด แล้วจะกวดวิชาไปหาวิมานอะไรอีก วิชาการก็ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ก็ไม่มีใครเก่งจริงที่จะมากวดวิชาให้เราได้อีก