เศรษฐกิจภาคอวตาร
โดย พงษ์ ผาวิจิตร (ตีพิมพ์ในนิตยสาร Eworld ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ 2013)
เจมส์ คาเมลรอน ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “อวตาร” ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้างภาพยนตร์แนวใหม่ของฮอลลีวู้ด คือเขานั่งกำกับร่วมกับทีมงานทำคอมพิวเตอร์กราฟิก ทำให้ภาพยนตร์ของเขามีชีวิตและสมจริงกว่าภาพยนตร์ที่นักคอมพิวเตอร์กราฟิกไปนั่งทำงานกันตามลำพัง แต่ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ด้านชีวิตกับคนจำนวนมากนอกเหนือจากความสนุกที่ได้รับจากการชมภาพยนตร์เรื่องนี้
ภาพยนตร์นอกจากจะเป็นสื่อถึงจินตนาการของมนุษย์ที่ไม่สิ้นสุดให้ออกมาเป็นเรื่องราว มีรูปภาพที่จับต้องได้ มันยังเป็นสื่อในการเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดของมนุษย์ได้ดีที่สุดอย่างหนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เช่นกัน ทำให้เกิดแนวคิดเรื่อง “เศรษฐกิจภาคอวตาร” ซึ่งหากเป็นจริง จะมีผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศเราในบางระดับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือการการรีโมตแรงงานจากท้องถิ่นหนึ่งมายังอีกท้องถิ่นหนึ่ง เช่น ประเทศไทยมีแรงงานภาคผลิตรถยนต์ที่มีฝีมือเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก หากเศรษฐกิจภาคอวตารนี้ได้รับการพัฒนาต่อไป อีกหน่อยบริษัทรถยนต์ชั้นนำอาจไม่ต้องย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทย โดยเปิดโรงงานในประเทศต้นกำเนิด เช่น เยอรมันนี แล้วให้แรงงานไทยรีโมตเข้าไปทำการผลิตรถยนต์ในเยอรมันโดยตรงเลย
เป็นเรื่องที่รู้กันว่า การย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทย ไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นเท่านั้น แต่ทำให้เศรษฐกิจภาคส่วนอื่นๆ โตขึ้นเช่นกัน เช่น สร้างงานให้กับแม่ค้าขายข้าวแกงในโรงงาน เด็กปั้มได้ทำงานเติมน้ำมันให้กับมอเตอร์ไซต์ของแรงงานที่ขับไปทำงาน และกิจกรรมการก่อสร้างโรงงาน เพื่อเป็นฐานการผลิต หากการผลิตแบบอวตารเกิดขึ้น นั่นหมายความว่า คนงานเพียงไม่กี่คนสามารถนั่งทำงานควบคุมผ่านจอคอมพิวเตอร์ที่บ้าน หรือในทางกลับกัน โรงงานที่สร้างเสร็จแล้วในไทยก็ไม่มีการจ้างแรงงานไทย อาจจะรีโมตผู้เชียวชาญไม่กี่คนจากเยอรมันนี หรือแรงงานราคาถูกจากเขมรให้เข้ามาควบคุมกระบวนการผลิตของโรงงานในไทย.. เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่นิยายธรรมดา แต่จะกลายเป็นมหากาพย์ที่กระทบกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมหาศาล เราต้องเข้าใจว่า ขณะนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วในตะวันตกมีปัญหาเรื่องคนตกงาน ในขณะที่ประเทศไทยเรากำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ต้องแก้ปัญหาปากท้องก่อนเป็นอันดับต้นๆ
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวเอกของเรื่องที่เป็นอัมพาตร่างกายส่วนร่าง ซึ่งหมายความว่าสมรรถนะทางเพศก็ถูกทำลายไปด้วย แต่ในท้องเรื่องพระเอกกลับสามารถข้ามชาติภพไปแต่งงานกับหญิงสาวในอีกโลกหนึ่งได้อย่างมีความสุข หนึ่งในการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของนักอนาคตวิทยาคือการมีไซเบอร์เซ็กส์ คือการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ต้องสัมผัสกันแต่ก็ยังคงสุขสมได้เหมือนเดิม ด้วยการกระตุ้นสมองเฉพาะส่วนให้มีปฏิกริยาสมประสงค์ได้ ซึ่งมีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้วเป็นส่วนๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกอย่างเด็กหลอดแก้ว การให้บริการทางเพศกับตุ๊กตายางในหลายๆ ประเทศที่เริ่มเป็นที่นิยมมากกว่าการซื้อบริการทางเพศจากมนุษย์จริงๆ เพราะสามารถเลือกแบบ เลือกรสนิยมได้ตรงกับความต้องการของตัวเอง โดยไม่ต้องไปสนใจกับความรู้สึกของคู่ขาหรือปัญหาที่จะตามมาจากการมีเพศสัมพันธ์กับมนุษย์จริงๆ ก็เป็นนัยยะบ่งบอกความเป็นไปได้อย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเอกของภาพยนตร์เรื่องนี้
หลายคนอาจเคยสัมผัสกับอุปกรณ์อวตารในชีวิตประจำวันโดยไม่ได้สังเกต เช่น เครื่องมือเฝ้าเด็กเล็กที่นอนอยู่ในห้องหนึ่ง ในขณะที่ผู้ใหญ่นั่งทำงานในอีกห้องหนึ่ง การเปิดปิดระบบต่างๆ ในบ้านผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น การเปิดประตู เปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดปิดไฟ ระบบรดน้ำต้นไม้ เป็นต้น การแข่งขันให้บริการแบนวิธของเครือข่ายต่างๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจภาคอวตาร เพราะลำพังเพียงแค่ดูหนังฟังเพลง หรือส่งข้อความถึงกัน ไม่ได้ใช้แบนวิธของเครือข่ายมากนัก ทำให้ช่องทางในการทำเงินจากการขายแบนวิธจำกัด แต่หากกิจกรรมอวตารต่างๆ เป็นที่เฟื่องฟู เช่นการสัมผัสของพ่อแม่ที่ทำงานดึกแต่อยากลูบหัวลูกก่อนนอนผ่านอุปกรณ์ที่ให้ความรู้สึกสัมผัสเฉพาะแบบของพ่อแม่ ย่อมต้องอาศัยแบนวิธที่มากกว่าแค่โทรมาคุยกับลูกแน่นอน
…อ่านต่อในนิตยสาร Eworld ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ 2013