06/05/2023

เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ IPS (Indoor Positioning System)

IPS

ถึงยุคนี้ ใครไม่รู้ว่า GPS (Global Positioning System) มีประโยชน์อย่างไร คงเชยนัก แต่โลกของเทคโนโลยีไม่เคยหยุดเพียงเท่านี้ เพราะข้อจำกัดของระบบ GPS เมื่อนำมาใช้ในอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง (Indoor) จะทำให้การระบุตำแหน่งภายใต้สิ่งปลูกสร้างนั้น มีความคลาดเคลื่อนสูง ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ ลดทอนสัญญาณจากดาวเทียมลงไปมาก ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมา เทคโนโลยีในการระบุตำแหน่งเมื่ออยู่ Indoor หรือที่เรียกว่า IPS (Indoor Positioning System) จึงมีการพัฒนาขึ้น โดยอาศัยหลักการและแนวคิดที่แตกต่างกัน เรามาลองดูตัวอย่างระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันกัน

ระบบที่ใช้บลูทูธ หรือ WiFi
เมื่อปีที่แล้ว โนเกียและพันธมิตรอีก 12 บริษัท ได้ร่วมกันพัฒนาระบบ IPS ที่อาศัยอุปกรณ์ส่งสัญญาณ (beacon) ในการส่งสัญญาณบลูทูธ ซึ่งสามารถครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2-3 ตารางเมตร ซึ่งอุปกรณ์โมบายที่เราใช้ส่วนใหญ่ก็มีตัวรับสัญญาณบลูทูธอยู่แล้ว จึงสามารถตรวจจับสัญญาณจาก beacon เพื่อระบุตำแหน่งได้

แต่หลายๆ บริษัท หันไปใช้สัญญาณ WiFi ที่มีอยู่รอบตัวเรามากกว่า (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง WiFi ใน Indoor) ซึ่งเมื่อใช้ร่วมกับแผนที่ในการติดตั้งแอ็กเซสพอยนต์ และสมาร์ตโฟนทั้งหมดที่สามารถรับสัญญาณ WiFi ได้อยู่แล้ว ก็ช่วยให้การระบุตำแหน่งเป็นไปได้ โดยบริษัทที่นำเสนอเทคโนโลยีเหล่านี้ ได้แก่ Skyhook, Navizon, Ekahau, Meridian, SenseWhere, WiFiSLAM (ถูก Apple ซื้อไปแล้ว) เป็นต้น ข้อดีของการใช้ WiFi อยู่ที่ค่าใช้จ่ายต่ำ แต่ก็ยังมีความแม่นยำไม่สูงมาก โดยเฉลี่ยจะอยู่ในระดับกลาง คือ 6-10 เมตร (กรณีที่มีความแม่นยำสูงจะอยู่ในช่วง 1-5 เมตร และความแม่นยำต่ำอยู่ที่มากกว่า 11 เมตร)

นอกจากตัวส่งสัญญาณบลูทูธและ WiFi แล้ว ยังมีอีกหลายบริษัทที่ใช้ตัวสัญญาณแบบที่ครอบคลุมพื้นที่กว้าง เช่น Locata (www.locata.com) ซึ่งจะติดตั้งตัวส่งสัญญาณ (beacon) บนเสาสูง ครอบคลุมพื้นที่กว้าง และมีพลังทะลุทะลวงผนังอาคาร ส่วนตัวรับสัญญาณเฉพาะของ Locata ก็จะรับสัญญาณแล้วคำนวณตำแหน่ง โดยสามารถทำงานร่วมกับ GPS ได้ด้วย

Leave a Reply