06/05/2023

อนาคตห้องสมุด?

โดย พงษ์ ผาวิจิตร (ตีพิมพ์ในนิตยสาร Eworld ฉบับเดือน พฤศจิกายน 2012)

ขณะนี้ห้องสมุดทั่วโลกกำลังประสบปัญหาท้าทาย เนื่องจากจำนวนคนเข้ามาใช้บริการห้องสมุดลดลงเรื่อยๆ จากคู่แข่งน่ากลัวอย่างอินเทอร์เน็ตที่เข้าไปแข่งในทุกเรื่อง ไม่เฉพาะเรื่องของห้องสมุด  แต่ข่าวนี้ไม่น่าจะสร้างความกระทบกระเทือนกับวงการห้องสมุดไทย เพราะปรากฏการณ์นี้เป็นปรากฏการณ์ถาวรของห้องสมุดไทยจนไม่น่าจะเรียกว่าวิกฤติแต่อย่างไร ในเมื่อห้องสมุดไทยไม่ค่อยมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการอยู่แล้ว ด้วยปัจจัยหลักๆ สองประการคือ ผู้บริหารทุกยุคทุกสมัยไม่ได้ให้ความสนใจสนับสนุน บวกกับความไม่นิยมอ่านหนังสือของคนไทย

แต่เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อห้องสมุดชั้นนำในหลายๆ ประเทศถือวิกฤตเป็นโอกาสในการปรับตัวห้องสมุดเข้าสู่ยุคใหม่ แม้ว่าจะเคยมีคำทำนายเมื่อครั้งที่อินเทอร์เน็ตอุบัติขึ้นใหม่ๆ ว่า ห้องสมุดคงต้องสูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ในไม่ช้านี้ แต่จนแล้วจนรอด นานาประเทศกลับเร่งสร้างห้องสมุดเป็นการใหญ่  หากท่านไปค้นใน google ดู ก็จะพบว่ามีการสร้างห้องสมุดยุคใหม่ที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามเกิดขึ้นทุกมุมโลก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น..

เพราะมีความเชื่อกันว่า ห้องสมุดจะปรับตัวกลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนแห่งใหม่ที่ทรงพลังกว่าเก่า และห้องสมุดจะไม่ได้มีหน้าที่เป็นเพียงแค่สถานที่เก็บหนังสืออีกต่อไป ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาห้องสมุดได้ทำหน้าที่อันนี้เป็นอย่างดี ในยุคที่ข่าวสารข้อมูลเป็นของหายาก เข้าถึงยาก คนส่วนใหญ่ไม่มีศักยภาพในการเป็นเจ้าของข้อมูลด้วยตนเอง จึงต้องบากหน้ามาใช้บริการห้องสมุด  ห้องสมุดจึงมักสร้างในจุดที่เหมาะแก่การเดินทางมาของชุมชน และด้วยความโดดเด่นด้านสถานที่ตั้งนี่เองที่กลายเป็นสิ่งมีค่าของห้องสมุดยุคใหม่ที่จะกลายเป็นศูนย์รวมของชุมชนในด้านต่างๆ ได้ไม่ยาก

อนาคตของห้องสมุดจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความเป็นห้องสมุด นี่คือโฉมหน้าบางด้านของห้องสมุดในอนาคต ..

ห้องสมุดจะกลายเป็นศูนย์บัญชาการ search center เชื่อกันว่าเทคโนโลยีการเสิร์ชจะพัฒนาซับซ้อนยิ่งๆ ขึ้นที่ไม่จำกัดเพียงเนื้อหา ภาพ และเสียงเท่านั้น แต่จะรวมถึง texture กลิ่น รสชาติ

ซึ่งเชฟพ่อครัวจะกลายเป็นลูกค้าประจำที่มาใช้บริการเพื่อค้นหาสูตรอาหารจากวัตถุดิบทั่วโลก ก่อนที่จะนำไปพัฒนาเป็นอาหารจริงขาย นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรผู้พัฒนาสินค้าจะเข้ามาใช้บริการในการศึกษาสร้างแบบจำลอง การพิมพ์ภาพสามมิติต้นแบบ ก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นสินค้าจริง

ห้องสมุดจะกลายเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูล การค้นหาข้อมูลในเชิงข้อความไม่เป็นการเพียงพออีกต่อไป หลายๆ งานจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมากซึ่งมีขีดจำกัดในการนำเสนอในรูปแบบเดิม ดังนั้นการสร้างแบบจำลองแบบ Infographic การสร้างภาพโฮโลแกรม หรือการแสดงภาพแผนที่ความละเอียดสูง การสร้างแบบจำลองของท้องฟ้าจำลองในฤดูกาลต่างๆ เพื่อให้เด็กได้ศึกษา การสร้างแบบจำลองสิ่งแวดล้อมสำหรับให้เด็กได้เข้าค่าย ฯลฯ ซึ่งการใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลขนาดนี้ และการใช้แบนด์วิธของอินเทอร์เน็ตที่ความเร็วสูงๆ เป็นสิ่งที่ยังแพงเกินเอื้อมสำหรับบ้าน หรือโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งจะลงทุนได้ จึงเป็นงานของห้องสมุดที่คนในภาคส่วนอื่นๆ สามารถมาแบ่งปันใช้งานได้ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของห้องสมุดอยู่แล้ว

ห้องสมุดจะไม่จำกัดเป็นเพียงแค่ผู้ให้ยืม แต่จะกลายเป็นศูนย์กลางนำข้อมูลของผู้อ่านกลับเข้ามาเก็บอ้างอิง ห้องสมุดสมัยใหม่ อาจไม่มีชั้นหนังสือสุดลูกหูลูกตา มนุษย์เราได้พัฒนาการบริโภคข่าวสารเป็นสองทางมาระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้นการให้บริการของห้องสมุดที่เป็นช่องทางเดียวก็จะกลายเป็นการสื่อสารสองทาง ที่คนอ่านนอกจากจะมาเอาข่าวสารจากห้องสมุดแล้ว สามารถแต่งเติมหนังสือให้มีความทันสมัยขึ้นได้ อาจมีการสร้างข่าวสารใหม่กลับคืนให้กับห้องสมุดเรียกได้ว่ามีส่วนร่วมในการขยายตัวของห้องสมุดด้วยเรียกได้ว่าเป็นผู้ผลิต และคนกลางในการกระจายงานของผู้อ่าน หนังสือในยุคใหม่ และจะไม่ได้ถูกจำกัดด้วยจำนวนเล่มเหมือนอดีต ดังนั้นปัญหาที่มีคนยืมหนังสือไปแล้ว ต้องรอคิวจะไม่เกิดขึ้น เพราะผู้ยืมสามารถดาวน์โหลดได้แม้แต่ทำเองที่บ้าน ไม่ต่างอะไรกับการซื้อตั๋วสายการบินในห้องนอนพร้อมกับเป็นพนักงานพิมพ์ตั๋วเอง เป็นพนักงานเก็บเงินให้กับสายการบินเอง

ห้องสมุดจะกลายเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตที่เก็บความทรงจำของชุมชน เป็นแหล่งนัดพบของคนในท้องถิ่นที่จะขยายบทบาทมากกว่าแค่เป็นสถานที่อ่านหนังสือ เป็นที่ยืมหนังสือเท่านั้น แต่ห้องสมุดจะกลายเป็นเสมือน third place ในด้านต่างๆ จะกลายเป็นสถานที่เก็บความทรงจำภาพเก่า ๆ ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการตกแต่งร้านค้าในอดีต สิ่งของเฉพาะด้านในชุมชน เช่น ครกตำข้าว เรือประมง ตู้ไปรษณีย์ตู้แรก

ห้องสมุดจะเป็นที่หลบภัยจากบ้าน เป็นที่ทำงานชั่วคราวได้ เป็นที่พบปะสำหรับทำธุรกิจไม่ต่างอะไรกับร้านกาแฟ  การบริการของห้องสมุดจะกลายเป็นสถานที่สร้างประสบการณ์เฉพาะให้กับแต่ละคนที่มาใช้บริการได้ไม่สิ้นสุด  ข้อมูล/ทรัพยากรชิ้นหนึ่งๆ  คนที่เสพต่างกัน ย่อมมีประสบการณ์ที่ต่างกัน บางคนอาจมาห้องสมุดเพื่อเรียกร้องความทรงจำเก่าๆ ในชุมชนของตน

ห้องสมุดจะมีกิจกรรมเสริมเข้ามาอีกหลากหลายอย่างเช่น

  • เป็นห้องซ้อมดนตรีสำหรับชุมชน
  • เป็นสถานีและห้องในการบันทึกเสียงที่เรียกว่า Podcasting stations
  • เป็นสถานีสำหรับ Blogger stations
  • เป็นห้องแสดงงานศิลปะด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด แกะสลัก การสเก็ตภาพ
  • เป็นห้องบันทึกวิดีโอหรือห้องตัดต่อภาพยนตร์
  • เป็นห้องสำหรับจินตนาการ Imagination room สถานที่ฝึกสร้างความคิดสร้างสรรค์ที่อาจต้องใช้ข้อมูลเป็นจำนวนมากในการฝึกหัด
  • เป็นห้องฝึกซ้อมการเล่นละคร หรือเล่นละครย่อยกลุ่มเล็ก
  • เป็นมินิเธียเตอร์สำหรับฉายภาพยนตร์หาชมได้ยาก หรืออีกหน่อยจะกลายเป็นห้องชม Youtube เพราะการพาเพื่อน ครอบครัวมาชมที่ห้องสมุดจะได้อรรถรสกว่าการชมที่บ้าน
  • เป็นที่สันทนาการในด้านเกมที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเยาวชน ดีกว่าปล่อยให้เด็กๆ ไปเล่นเกมที่เป็นอันตราย
  • เป็นสถานที่จัดสัมมนาในด้านต่าง ๆ
  • เป็นสถานที่รับดูแลเด็กเล็กโตในชุมชนในระหว่างหลังโรงเรียนเลิก
  • เป็นไปรษณีย์ในตัว เป็นสถานที่ถ่ายเอกสาร ซ่อมหนังสือ จัดพิมพ์หนังสือหายากในอดีตของชุมชน หรือจากมุมโลกอื่นๆ เมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์ที่มีคุณภาพสูงในขนาดเล็กเป็นสิ่งที่เอื้อมถึงสำหรับการลงทุนของห้องสมุด (แต่อาจจะยังแพงเกินไปสำหรับครอบครัว หรือหน่วยงานขนาดเล็ก)
  • เป็นฟิตเนสเซ็นเตอร์ที่ให้บริการออกกำลังกายพร้อมการอ่านหนังสือ ฟังเพลง

สำหรับห้องสมุดในไทยอ่านแล้ว อาจมีความคิดเดิมคือ “รอไว้ให้คนอื่นทำไปก่อน” ก็ต้องบอกว่า เป็นความคิดที่ตกเหวไปแล้ว เพราะโลกของประสบการณ์รอกันไม่ได้ ต่างสังคม ก็ต่างประสบการณ์ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะสำหรับห้องสมุดว่าต้องเริ่มปรับตัวแล้วดังนี้คือ..

  1. เริ่มจากการประเมินประสบการณ์ของห้องสมุดที่มีอยู่ ด้วยการสำรวจความคิดเห็น ประสบการณ์ของผู้ใช้ห้องสมุด ความคิดเห็นของคนใช้ต่อห้องสมุดว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อค้นหาว่าอะไรเป็นสิ่งที่มีความหมายของห้องสมุดในชุมชนที่ตั้ง
  2. เริ่มประยุกต์นำเอาเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ ข้อมูลมาใช้
  • ตั้งคณะที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีขึ้นมา
  • รับสมัครบุคลากรที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีมาทำงานในห้องสมุด
  • จัดสัมมนาด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้ในห้องสมุดให้กับผู้ใช้และบุคคลากรภายในได้รับทราบ

และท้ายสุดนี้ สรุปกันมาให้ดูกันว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ห้องสมุดต้องปรับตัวก่อนที่จะไม่มีที่ยืนในประวัติศาสตร์ไทย ลองมาดูถึงปัจจัยที่ทำให้ห้องสมุดต้องประสบชะตากรรมในทุกวันนี้..

ปัจจัยที่ 1:  การก้าวกระโดดของการสื่อสารที่ทำให้รูปแบบการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลของคนเปลี่ยนไป ลองมาดู Timeline ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยเร็วๆ ดังนี้..  โลกการสื่อสารเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่มีการค้นพบรูปแบบการสื่อสารที่นอกเหนือจากการส่งข่าวสารด้วยนกพิราบ เริ่มจากโทรเลขในปี 1844 และตามด้วยโทรศัพท์ในปี 1876 ถัดมาอีกเพียงปีเดียวคือ1877  โลกก็เริ่มรู้จักกับการบันทึกแผ่นเสียง อีก 20 กว่าปีต่อมาคือปี 1896  ก็เกิดวิทยุกระจายเสียขึ้น ปี 1935 เริ่มค้นพบเครื่องโทรสาร ปี 1939 เกิดโทรทัศน์ ปี 1945 ค้นพบระบบการคำนวณแบบคอมพิวเตอร์ อีกสองปีคือ  1947  โลกเริ่มรู้จักกับทรานซิสเตอร์ ปี 1954 เกิดโทรทัศน์สีขึ้น ปี 1961 – เลเซอร์ดิสก์ ปี 1965 เริ่มรู้จัก email ปี 1973 โทรศัพท์มือถือซึ่งถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของการสื่อสารของมนุษย์ ปี 1974 – ไมโครคอมพิวเตอร์ Altair 8800 ทำให้คอมพิวเตอร์ไม่ใช่สิ่งเข้าถึงยากสำหรับมวลชนอีกต่อไปเช่นเดียวกับระบบการพิมพ์ที่ทำให้หนังสือไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือยสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น

และในปี 1989 โลกก็เริ่มรู้จักเทคโนโลยี World Wide Web อีกหนึ่งปีต่อมาคือปี 1990 – Online Search Engine ก็อุบัติขึ้น สองปีถัดมาคือ 1992  มี Web Browser ตัวแรกของโลก ปี 1994 – Palm Pilot ซึ่งถือเป็นบรรพบุรุษของแทบเลตในพ.ศนี้  ในปี 1996  โลกก็ได้ Google มา และปี 1999  ระบบการโอนถ่ายข้อมูลขนาดใหญ่แบบ P2P ก็อุบัติขึ้น  ปี 2002 – iPod ก็ทำให้วิทยุ Walkman กลายเป็นประวัติศาสตร์ไป  ปี 2004  เราเริ่มมี Podcasting ซึ่งทำให้เราไม่ต้องเฝ้าติดวิทยุอีกต่อไป สามารถรับฟังย้อนหลังได้ และแล้วสังคมยุคใหม่แบบ Social Network ก็เกิดขึ้นในปี  2003 เริ่มจาก Myspace ก่อน ตามมาอีก 1 ปี คือ 2004 – Facebook รุ่นน้องที่ทำให้เกิดการถล่มทลายของประวัติศาสตร์การสื่อสารแบบหนึ่งต่อหนึ่ง และหนึ่งต่อล้านเป็นไปได้ง่ายขึ้น

ถ้าดูจากความเร็วในการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่างๆ ข้างต้น ก็พอจะทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไมคนถึงลังเลต่อการลงทุนรวมถึงพฤติกรรมการอ่านด้วย เพราะรูปแบบการเรียนรู้ของมนุษย์เราก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน  เทคโนโลยีได้ทำให้หนังสือเองกลายเป็นเทคโนโลยีไปด้วย การเขียนเป็นเทคโนโลยี จากการใช้ปากกาก็มาเป็นคีย์บอร์ด และคีย์บอร์ดเองก็กำลังถูกท้าทายจนมีการทำนายว่า อาจจะหายไปจากประวัติศาสตร์เร็วๆ นี้  คนที่กลัวแลเทคโนโลยีก็เลยหยุดอ่านเสียเลย

ปัจจัยที่ 2: เทคโนโลยีกลายเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เรียกได้ว่าบางเทคโนโลยียังไม่มีโอกาสโตเป็นสาวก็ถูกแทนที่ด้วยของใหม่ที่ดูไฉไลกว่าแล้ว ตัวอย่างเช่น ฟอร์แมทของมีเดียถูกแทนที่ด้วยรูปแบบใหม่ๆ เทป 8 แทรกถูกแทนที่ด้วยเทปคาสเซ็ท เทปคาสเซ็ทถูกแทนที่ด้วยซีดี ซีดีก็กำลังกลายเป็นประวัติศาสตร์ เป็นไฟล์ที่สามารถหามาใช้ได้จากอากาศไม่ต่างจากอากาศที่เราหายใจ อุปกรณ์ต่างๆ ก็มีการปรับเปลี่ยนพัฒนาไป ทุกวันนี้คนใช้โทรศัพท์มือถือไม่มีโอกาสรอให้เครื่องเสียก่อนแล้วค่อยซื้อใหม่ เพราะกว่าเครื่องจะเสีย เราอาจเสียโอกาสใช้บริการบางอย่างไปแล้ว ลองดูว่าเครื่องใช้ต่างๆ ทุกวันนี้เราเปลี่ยนก่อนที่แบตเตอรี่ก้อนแรกจะเสื่อมด้วยซ้ำ ต้นทุนการใช้โทรศัพท์เครื่องเก่าอาจแพงกว่าการซื้อเครื่องใหม่ เพราะเครื่องใหม่ สามารถใช้ทั้งโทรศัพท์ อ่านข่าว ดูหนัง ฟังเพลง ถ่ายรูป เป็นเครื่องเล่นเกม ช่วยในการสื่อสารกับคนแดนไกลในราคาค่าบริการ 0 บาท ซึ่งหากไม่ใช้เครื่องรุ่นใหม่ เราอาจต้องเสียค่าโทรทางไกลที่แพงกว่า อย่างนี้เป็นต้น

ปัจจัยที่ 3: เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลที่ทรงประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับห้องสมุดโดยเฉพาะ การเก็บข่าวสารข้อมูลอยู่ที่การจัดเก็บได้มากกว่าในพื้นที่น้อยกว่า ซึ่งขนาดมีการหดตัวลงเรื่อยๆ แต่เรากำลังจะไปชนขอบเหวของการหดตัวด้านขนาดแล้ว และเมื่อนั้น เราก็จะหันมาแข่งในเรื่องของ ประสิทธิภาพในการจัดเก็บ ความเร็วในการจัดเก็บ การเข้าถึงข้อมูลที่เร็วกว่า  มีเสถียรภาพ มากกว่า ความคงทนยั่งยืนกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญสุดสำหรับห้องสมุด โดยเฉพาะการหาได้ง่ายและรวดเร็วที่อาจมีการบัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่ว่า  findability.ในขณะที่การพัฒนายังไม่หยุดนิ่ง การกำหนดมาตรฐานก็ยังไม่เกิด

ปัจจัยที่ 4: เทคโนโลยีในการค้นหาจะมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

  • เสิร์ชปัจจุบันเป็น Text ที่แม้ว่าจะครอบคลุมทุกภาษาบนโลกแล้วก็ตาม แต่สื่อมีรูปแบบที่แตกต่างกันไม่ได้จำกัดแค่ Text เช่น ภาพ เสียง รูป แต่อย่างไรก็ตามเสิร์ชยุคใหม่ไม่ได้จำกัดแค่นั้น แต่รวมถึงการค้นหารูป รส กลิ่นเสียง texture, reflectivity, opacity, mass, density, tone, speed, and volume.
  • คนยุคใหม่มีเวลาน้อยลง เพราะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากขึ้น และไม่สามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้  มีความอดทนในการรอได้น้อยลง บรรณารักษ์จึงต้องปรับบทบาทในการเป็นผู้สนับสนุนการค้นหา และมีทักษะบางอย่างที่จะไปช่วยคนค้นหา

ปัจจัยที่ 5: การหดตัวของเวลา ทำให้วิถีชีวิตของคนไปห้องสมุดน้อยลง เพราะเสียเวลาเดินทางไป ในขณะที่ความต้องการของคนเพิ่มขึ้น และหลากหลายกว่าเมื่อก่อน มีความจำเป็นใหม่ๆ สำหรับชีวิตเกิดขึ้นหลายอย่างเมื่อเทียบกับอดีต  เมื่อเวลาบีบรัด ความต้องการต่างๆ ก็บีบรัดทำให้ต้องการเร็วขึ้นในเวลาที่สั้นลง ดังนั้น เวลาในการเข้าห้องสมุดจึงถูกเบียดเบียนไป และนี่คือสถิติของการใช้เวลาในปัจจุบันนี้ คนปัจจุบันนอนเฉลี่ยน้อยกว่าเมื่อก่อนวันละ 2 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับเมื่อ 80 ปีก่อน จากเฉลี่ย 8.9 เหลือ 6.9 ชั่วโมง  34% รับประทานอาหารระหว่างงาน หรือระหว่างเดินทาง 66% ของคนหนุ่มสาวท่องเน็ตไปด้วยหรือชมทีวีระหว่างรับประทานอาหาร ในการสำรวจล่าสุด 43% มีปัญหาในการตัดสินใจ เพราะว่ามีข้อมูลเยอะเกินไป  ห้องสมุดจึงต้องปรับเปลี่ยนตามความต้องการที่เปลี่ยนไป อย่างหนึ่งที่หายไปคือตู้ดัชนีหนังสือ และคีย์บอร์ดคือเหยื่อรายต่อไป

ปัจจัยที่ 6: สังคมกำลังพัฒนาไปสู่สังคมการพูดมากกว่าการอ่าน อันนี้สอดคล้องกับสังคมไทยที่มักพูดมากกว่าทำ แต่ของเขาพูดมากกว่าอ่าน แต่ก็ยังทำเหมือนเดิม Dr William Crossman, แห่งสถาบัน CompSpeak คาดการณ์ไว้ว่าในราวปี 2050 ความสามารถในการอ่านและเขียนของคนจะหายไปเมื่อคอมพิวเตอร์จะทำหน้าที่นั้นแทนเราการอ่านหนังสือ จะกลายเป็นเหมือนการสนทนากับมนุษย์อีกคนหนึ่งในห้องอ่านหนังสือ

ปัจจัยที่ 7: ความกระหายในข่าวสารข้อมูลมีมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ถึงแม้ว่าโลกจะท่วมท้นไปด้วยข้อมูลข่าวสารก็ตาม คนก็ยังโหยหาข้อมูลมากยิ่งๆ ขึ้น เพื่อประกอบในการตัดสินใจด้านต่างๆ มีการเปรียบเปรยไว้ว่า ความสามารถในการทำธุรกิจที่ขึ้นกับภาษาจะมีความจำเป็นน้อยลง แต่ความเข้าใจในวัฒนธรรม สังคมและจารีตจะมีความจำเป็นมากขึ้น นั่นหมายความว่าต้องการองค์ความรู้ในด้านนี้มากขึ้น

ปัจจัยที่ 8: การเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกจะทำให้ห้องสมุดต้องปรับตัว จากอดีตที่มีการอ้างอิงสำหรับสังคมที่ต่างกันผ่านเฉพาะกรอบเวลา มาตราวัด ก็จะมีมาตรฐานของการอ้างอิงระบบ GPS และอินเตอร์เน็ตเข้ามาเกี่ยวข้อง  ในบางระบบอาจต้องอ้างอิงตลาดหลักทรัพย์ การขนส่งเข้ามาเกี่ยวข้อง ระเบียบศุลกากร โลกจะต้องอิงกับระบบบัญชีที่อ้างอิงกันได้ ระบบกระแสเงินตราที่หลายหลายขึ้น มาตรฐานจริยธรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นการเปิดโอกาสใหม่ทางธุรกิจ ซึ่งห้องสมุดจะเข้ามามีบทบาทในมาตรฐานใหม่เหล่านี้มาก ในฐานะของผู้ให้บริการ และระบบห้องสมุดก็จะกลายเป็นระบบใหม่ของโลกอีกระบบหนึ่งเหมือนกัน เปรียบเหมือนสมอเรือ

ปัจจัยที่ 9: การปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากการอ้างอิงสินค้าเป็นหลักไปเป็นการอ้างอิงประสบการณ์ บริการก็คือประสบการณ์ของแต่ละคนที่แตกต่างกัน บริการเดียวกันอาจให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันสำหรับคน 10 คน ก็เท่ากับมีระบบเศรษฐกิจใหม่อีก 10 ระบบ ยิ่งประชากรโลกอายุเฉลี่ยมากขึ้น และมีการเดินทางมากขึ้น ความต้องการบริการที่เฉพาะของแต่ละคนก็หลากหลายมากขึ้น เป็นธรรมชาติของคนที่เมื่อรวยขึ้นก็มีความต้องการจะแสดงความรวยออกมา ถึงแม้ว่า ปัจจุบันนี้คนไปใช้บริการห้องสมุดไม่ค่อยได้ถามบรรณรักษ์ แต่อนาคตบรรณรักษ์จะต้องปรับบทบาทมาให้บริการด้านประสบการณ์กับผู้ใช้ การอ่านหนังสือจะกลายเป็นกิจกรรมเพื่อเพิ่มประสบการณ์

ปัจจัยที่ 10: ห้องสมุดปรับตัวจากศูนย์กลางข่าวสารข้อมูลเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม

เนื่องจากรูปแบบของข่าวสารที่เปลี่ยนไปจากหนังสือ แต่คนมาห้องสมุดเพื่อที่จะได้มีประสบการณ์ และมาดูประวัติศาสตร์ของหนังสือ

Leave a Reply