หุ่นยนต์ไทย…ความท้าทายใหม่ที่น่าจับตามอง

การใช้งานหุ่นยนต์ในภาคบริการมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ขณะที่การใช้งานหุ่นยนต์ในปัจจุบันยังอยู่ในภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยงานที่ไม่ค่อยมีความซับซ้อนมากนัก จะใช้ระบบอัตโนมัติ (automation) เพื่อควบคุมให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้เองผ่านการเขียนโปรแกรม ในขณะที่หากงานมีความซับซ้อนสูงขึ้นจะใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เข้าช่วยควบคุมเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถคิดเองได้ ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้น ยอดขายเฉลี่ยต่อปีของหุ่นยนต์บริการ (service robots) และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (industrial robots) ทั่วโลก มีอยู่ราว 5 ล้านตัว และ 2 แสนตัว ตามลำดับ โดยในปี 2018 International Federation of Robotics (IFR) คาดว่าการใช้งานหุ่นยนต์ของโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 2 เท่า ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันจะส่งผลให้หุ่นยนต์บริการได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ ผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจและใช้งานหุ่นยนต์บริการแทนการทำงานบางอย่างมากขึ้น เพื่อความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ต้องทำงานที่เปลืองแรง หรืองานที่มีความเสี่ยงมากเกินไป เช่น การใช้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นแทนการทำความสะอาดบ้าน การใช้หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ หรือการใช้หุ่นยนต์กู้ระเบิด เป็นต้น ขณะที่แรงขับเคลื่อนของความต้องการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะมาจาก 5 อุตสาหกรรมหลัก ซึ่งมีสัดส่วนการใช้งานรวมกันกว่า 85% ของการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลก (รูปที่ 1) อย่าง อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และการแปรรูปอาหาร เพื่อแก้ปัญหาด้านแรงงานขาดแคลนและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมผ่านการเพิ่มผลิตภาพ โดยมีจีนเป็นผู้เล่นอันดับ 1 ที่มีความต้องการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากที่สุดในโลก ซึ่งครองสัดส่วนของยอดขายในตลาดโลกไปแล้วกว่า 30% และยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
ปัจจุบันจีนกำลังจะพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลก ซึ่งจะส่งผลให้จีนกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมนี้ในระยะต่อไป แม้ว่าปัจจุบันยอดขายหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในจีนจะมีมากที่สุดในโลก แต่เมื่อมองที่อัตราส่วนการแทนที่ของหุ่นยนต์ต่อจำนวนแรงงาน (robot density) ในจีน เมื่อปี 2015 พบว่ายังมีอัตราส่วนที่ค่อนข้างน้อย ซึ่งอยู่แค่ราว 36 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คน ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกเกือบเท่าตัว อีกทั้งยังไม่ติด 1 ใน 20 ของประเทศที่มี robot density มากที่สุด (รูปที่ 2) โดยล่าสุดรัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2020 นั้น จีนจะเพิ่ม robot density ให้สูงขึ้นอีกกว่า 300% เป็น 150 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คน รวมถึงจะผลักดันให้ผู้ผลิตหุ่นยนต์ท้องถิ่นมียอดขายในประเทศที่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 5 เท่าตัวจากในปี 2015 ที่มีอยู่แค่ราว 2 หมื่นตัว ภายใต้นโยบาย China Manufacturing 2025 ที่จะสร้างอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมให้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของจีน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจีนก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวเชิงสนับสนุนนโยบายอย่างต่อเนื่อง อาทิ กรณีที่บริษัท Media ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจีนรายใหญ่เข้าซื้อกิจการของ Kuka ผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลก หรือกรณีที่บริษัท Ningbo Techmation ผู้ผลิตเครื่องจักรผลิตพลาสติกจีนรายใหญ่ได้จัดตั้งบริษัทใหม่อย่าง E-Deodar ขึ้นมาเพื่อผลิตหุ่นยนต์ให้ราคาถูกกว่าบริษัทต่างชาติอย่าง Kawasaki Robotics อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันจีนจะยังไม่มีองค์ความรู้ (know-how) ในการที่จะผลิตหุ่นยนต์ แต่จีนมีศักยภาพในด้านการถอดแบบและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์โดยใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าหลายประเทศมาก จึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่จีนจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลกได้ในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันไทยก็กำลังจะสร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ขึ้นมาใหม่ด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยไปสู่ยุค Thailand 4.0
ไทยอาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากจีนในอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรม แต่อีไอซีมองว่าไทยยังมีโอกาสและศักยภาพในส่วนของการเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์ภาคบริการ แม้ว่ายอดขายหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในไทยสำหรับช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้จะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับยอดขายในปีที่ผ่านมาซึ่งมีอยู่แค่ราว 4,000 ตัว แต่เมื่อมองในภูมิภาคนี้ไทยยังถือว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างเล็กอยู่ (รูปที่ 3) ดังนั้น ความเป็นไปได้ของไทยในการจะผันตัวจากผู้ใช้ไปเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมยังมีไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับการที่จะขึ้นเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์บริการที่ยังพอเห็นโอกาสและความเป็นไปได้มากกว่า จากแนวโน้มการเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมเริ่มขยายธุรกิจไปสู่ภาคบริการมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น นอกจากนี้ ไทยยังมีความพร้อมในด้านทักษะเชิงเทคนิคของบุคลากรในประเทศ โดยเห็นได้จากผลงานของนิสิตนักศึกษาไทยที่สามารถคว้ารางวัลการประกวดหุ่นยนต์บริการในระดับโลกได้มากมายหลายรายการ เพียงแต่ต้องมีการสนับสนุนจากทุกภาคฝ่ายเพื่อที่จะพัฒนาต่อยอดโครงการที่ประสบความสำเร็จไปในเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยสร้างโอกาสให้กับวงการอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยได้ในระยะต่อไป
![]() |
|
|
รูปที่ 1: สัดส่วนการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลกจำแนกตามอุตสาหกรรมสำคัญของปี 2015
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ International Federation of Robotics (IFR)
รูปที่ 2: ลำดับของประเทศที่มีอัตราส่วนการแทนที่ของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมต่อแรงงาน 10,000 คน (robot density) สูงกว่าค่าเฉลี่ย
ที่มา: International Federation of Robotics (IFR) เมื่อปี 2014
รูปที่ 3: ส่วนแบ่งยอดขายหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลกจำแนกตามตลาดสำคัญในภูมิภาคเอเชียของปี 2015
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ International Federation of Robotics (IFR)