สเปกเครื่องของมนุษย์ศตวรรษที่ 21 ตอน 2
โดย พงษ์ ผาวิจิตร (ตีพิมพ์ในนิตยสาร Eworld ฉบับเดือน พฤษภาคม 2012)
อีกไม่ถึง 1,000 วัน handicap ที่เรามีเหนือคนต่างชาติจะหมดไป อย่างน้อย ๆ จากวันนี้ที่เราแข่งกันเอง 65 ล้านคนภายใต้กฏกติกาที่ได้เปรียบคนต่างชาติ เช่น แรงงานไทยได้รับการคุ้มครองค่าแรงขั้นต่ำ แถมป่วยไข้ก็มีหลักประกันสุขภาพ พวกเขมร รามัญจะแข่งกับเราก็ต้องลดค่าแรงลงเพื่อให้นายจ้างคุ้มกับค่าความเสี่ยงที่จะจ้างพวกเขา หรือหากไม่อยากเสี่ยง ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำให้แรงงานเหล่านี้ถูกกฏหมาย ซึ่งรวม ๆ แล้วก็ทำให้ต้นทุนในการจ้างพวกเขา “แพงกว่า” พวกเราที่แม้จะเป็นพวกช่างเรียกร้อง ช่างประท้วง ก็ยังน่าจ้างอยู่ดี แต่เมื่อถึงปี 2558 มันไม่แน่อย่างนั้นอีกต่อไป เมื่อประชาคมอาเชี่ยนจะรวมเป็นหนึ่งเดียวจาก 65 ล้านคน เราก็ต้องแข่งกับคนอีกเกือบ 400 ล้านคน รวมกับพวกเรากันเอง กลายเป็นว่า เราต้องแข่งกันระหว่างคน 500 ล้านคน เมื่อตัวเลือกมากขึ้น การแข่งขันก็เข้มข้นขึ้นเป็นธรรมดา ในวันนั้น จะมีคนเข้ามาแข่งกับเราถึงบ้านด้วยกฏกติกาใหม่ ศักยภาพใหม่ และในขณะเดียวกัน หากเราคิดว่า เราก็เหนือชั้น จะข้ามพรมแดนไปแข่งกับเขาในบ้านเขาบ้างก็ไม่ผิด คำถามคือ..เขาแข่งกันในเรื่องอะไร? ในสนามประกวดนางงาม แน่นอนว่าต้องเป็นผู้หญิง แต่ผู้หญิงที่จะถูกเลือกเป็นนางงามก็มีองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างที่ไม่ได้ระบุไว้กฏการแข่งขัน สรุปก็คือ ..ระบบการศึกษา และการเตรียมคนบ้านเรา มีเพียงการเตรียมให้มีคุณสมบัติเข้าประกวดได้ แต่ไม่ได้เตรียมคุณสมบัติเพิ่มเติมที่จะทำให้เราได้ “แต้มต่อ” ที่จะได้เข้าไปในรอบลึก ๆ
และนี่คือ 10 “แต้มต่อ” ที่ไม่มีในระบบการพัฒนามนุษย์บ้านเรามากนัก
แต้มต่อที่ 1: มีสามัญสำนึก ซึ่งเป็นสิ่งที่คอมพิวเตอร์แสนฉลาดยังทำไม่ได้ แต่คำว่า “สามัญสำนึก” ก็กว้างเสียจนหาขอบเขตไม่ได้ เหมือนกับคำว่า “อาหารอร่อย” ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละคน แต่ละภูมิภาค เนื่องจากความซับซ้อน กฏกติกาที่เปลี่ยนไปเป็นรายวินาที ทำให้เราไม่สามารถเขียนคู่มือขึ้นมาเป็นแนวปฏิบัติได้ จึงขึ้นกับ สามัญสำนึกในการตัดสินของแต่ละคน ความมีสามัญสำนึกพัฒนาขึ้นจากประสบการณ์ที่หลากหลาย
แต้มต่อที่ 2: ความฉลาดทางสังคม (Social Intelligence) คือมีความไว ความสามารถในการรับรู้ประเด็นทางสังคม เข้าใจความแตกต่าง หลากหลายของวัฒนธรรม การไม่ยอมรับให้คนที่เห็นต่างอยู่ในพื้นที่เดียวกันในสังคมไทย กำลังเป็นบททดสอบว่าเรามีความฉลาดทางสังคมหรือไม่
แต้มต่อที่ 3: ศักยภาพในการับของใหม่และการปรับตัว (Novel & adaptive thinking) เป็นแนวโน้มเกิดขึ้นทั่วโลกที่งานของชนชั้นกลางกำลังหดหายไป เหลือแต่งานระดับสูงและระดับล่าง ระดับสูง เช่นการบริหารจัดการ การตีความ การแก้ปัญหา ฯ ล ฯ ส่วนงานระดับล่าง เช่นงานเลี้ยงหมา งานทำความสะอาด ตัดผม ดูแลคนแก่ ฯ ล ฯ งานระดับสูงเป็นงานสำหรับคนที่ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ได้ ในขณะที่งานระดับล่างคืองานตายตัวที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นพัน ๆ ปีแล้ว
แต้มต่อที่ 4: ศักยภาพในการตีความตัวเลข (Computation Thinking) งานคำนวณกลายเป็นหน้าที่ของเครื่องคิดเลขราคา 100 บาทมีทอนแล้ว แต่ศักยภาพในการย่อยข้อมูลตัวเลขมหาศาลให้มีความหมายกับงานเฉพาะด้านเป็นความสามารถในการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่แปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์
แต้มต่อที่ 5: ศักยภาพในด้านสื่อที่หลากหลาย (New Media Literacy) การอ่านออกเขียนได้เป็นสิ่งที่เครื่องจักรก็ทำได้แล้ว แต่ในหลาย ๆ สังคมยังหลงไหลได้ปลื้มแค่การอ่านออกเขียนได้ อะไรที่มีจำนวนมหาศาล ก็ต้องมีหลักในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นด้านตัวเลข (ดังแต้มต่อที่4) หรือด้านคน (การบริหารจัดการ) ด้านการจัดสรรทรัพยากรในสังคม (การเมืองและเศรษฐกิจ) ซึ่งแต่ละด้านเป็นเรื่องนามธรรมทั้งสิ้น และความเป็นนามธรรมเป็นยาขมขนานเอกสำหรับคนในสังคมไทย ผมเป็นคนหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามเป็นประจำว่าชอบพูดเรื่องนามธรรมเรื่องไกลตัว และก็รู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งเพราะความซับซ้อนของระบบและข้อมูลทำให้ไม่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมเพียงสองสามคำพูดได้ เช่นเดียวกัน ณ บัดนี้เป็นต้นไป สื่อภาพ แสง เสียงที่เราเห็นเป็นรูปธรรมในสื่อต่าง ๆ กำลังพัฒนาให้มีคุณสมบัติเป็นนามธรรมมากขึ้นเหมือนเรื่องเศรษฐกิจที่ยากจะเข้าใจกว่าเรื่องเงินทองในบัญชีของเรา แต่ศักยภาพในการเข้าใจเรื่องยาก ๆ มิใช่หรือที่ทำให้คนบางคนสามารถหาเงินได้มากกว่า
แต้มต่อที่ 6: ศักยภาพในการข้ามพรมแดนอาชีพ (Trans disciplinary) ท่านอาจไม่รู้มาก่อนว่า เดี๋ยวนี้ วิศวกรเรื่องของเหลวไปเป็นอาจารย์สอนแพทย์ได้ เพราะแพทย์ก็ต้องเรียนรู้หลักกลศาสตร์ของเหลวในระดับเซลล์ หรือแพทย์ก็ไปสอนคอมพิวเตอร์ เพราะมีความรู้ในด้านฐานข้อมูลคนไข้ดีกว่าคนเขียนโปรแกรมเสียอีก ก็คงไม่แปลก ขนาดชายแปลงเพศยังสวยและทำหลาย ๆ เรื่องที่หญิงแท้ต้องอาย ศักยภาพในการกลายพันธุ์ที่ยังคงรักษาความสามารถเดิมเป็นสิ่งที่ต้องการในตลาดมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นชายแปลงเพศในอนาคตจึงต้องเป็นทั้งหญิง และก็ต้องมีความแข็งแกร่ง บึกบึนแบบชายถึงจะเข้ากฏข้อนี้ได้ แต่เชื่อเถอะว่าเกิดขึ้นยาก
แต้มต่อที่ 7: ศักยภาพในการจดจำทิศทางการแก้ปัญหาของตนเอง (Cognitive load Management) เป็นหัวข้อที่ไม่รู้ว่าจะแปลเป็นไทยได้อย่างไรให้มีความหมาย เอาเป็นว่า ท่านที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์จะมีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า หากเกิดปัญหากับการตั้งค่าต่าง ๆ ของเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเอง แล้วท่านจะรู้โดยลาง ๆ ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร แต่จะให้ไปแก้ให้คนอื่นไม่ได้ ทำนองวิธีการทำอาหารของอาจารย์ยิ่งศักดิ์ที่บอกว่าใส่เกลือไปหน่อย ใส่น้ำตาลไปนิด ผัดสักประเดี๋ยวแล้วก็พร้อมเสิร์ฟ ไอ้เกลือหน่อย น้ำตาลนิดนี่เท่าไรกันแน่ หรือประเดี๋ยวหนึ่งนั้นนานแค่ไหนก็บอกไม่ถูก การทำงานกับข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงตลอด เราต้องมีความสามารถจำเส้นทางว่าจะกลับไปค้นหาข้อมูลที่ผ่านตามาอย่างไร ผู้ที่เคยแต่งหนังสือล้วนผ่านประสบการณ์นี้มาเพราะต้องหาข้อมูลเป็นจำนวนมาก แต่เอามาใช้เขียนเพียงนิดเดียว แต่คนเขียนเองก็รู้อยู่แก่ใจว่ามันเป็นอย่างไร ขนาดไหน
แต้มต่อที่ 8: ความสามารถในการออกแบบ (Design Mindset) การออกแบบไม่ได้จำกัดในวงการแฟชั่นหรือศิลปะเท่านั้น แต่ต้องอยู่ในทุกวงการ เช่นการออกแบบรูปแบบงานการต้อนรับลูกค้าที่แตกต่างเฉพาะกลุ่ม เฉพาะคน การออกแบบ คนทุกวันนี้เสพติดกับแบบเฉพาะตน เรียกร้องความเป็นเอกลักษณ์ คนทำงานในด้านต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องมีความสามารถในการออกแบบ
แต้มต่อที่ 9: ความสามารถในการทำงานข้ามวัฒนธรรม (Cross Cultural Competency) ในวันนี้ ไทยเราหนึ่งเดียว ยังไม่เข้าใจกันเอง แล้ววันที่เราจะมีเป็น 10 ประเทศ เราเข้าใจลาวไหมว่า ความภูมิใจในประวัติศาสตร์ของไทยที่เคยไปตีลาวได้คือความเจ็บปวดของลาว หรือการล่มสลายของพระเจ้าชัยวรมันในเขมรจนนำปสู่เขมรใหม่เกิดจากการยกทัพไปตีของอโยธา นี่ยังไม่รวมมาเลย์ อินโดนีเซีย หนึ่งประเทศแต่มีหลากหลายชาติพันธุ์ที่แตกต่างทั้งความคิด วัฒนธรรม ประเทศเหล่านี้มีคนพูดภาษาไทยได้มากกว่าคนไทยที่รู้ภาษาของเขา อย่างน้อย ๆ คนงานพม่าก็พูดไทยได้ แต่ผู้บริหารไทยจะมีสักกี่คนที่พูดพม่าได้ แล้วความฝันที่จะเข้าไปแสวงหาโอกาสในพม่าจะทำได้อย่างไร
แต้มต่อที่ 10: ความสามารถในการทำงานกับเงา (Virtual Collaboration) หัวข้อนี้ผมจงใจแปลเป็นอย่างนี้ เพราะโลกใหม่ต้องการให้เราทำงานเป็นทีมบนโลกไซเบอร์ ต่างจากแค่แชท เล่นเกม แซวกันไปมา เพราะนั่นคือความสนุก ผ่อนคลาย แต่การทำงานบนโลกไซเบอร์ก็เหมือนกับดาราที่จะเล่นบทไหน ต้องตีบทให้แตก เข้าใจไดอะลอกจนสามารถดูดซึมเข้ามาเป็นบุคคลิกภาพของเราได้ เราอาจร้องเพลงเพราะในห้องน้ำ แต่เมื่อขึ้นเวทีจริง ความสามารถของเราจะหล่นหายไปหลายเท่า ยกเว้นคนมีประสบการณ์ เช่นเดียวกันคนมีประสบการณ์ในการทำงานกับคนหลากหลายประเภท หลากหลายสถานการณ์ หลายวัฒนธรรม ก็จะสามารถขึ้นไปทำงานเป็นทีมบนโลกไซเบอร์ได้ดีมีประสิทธิภาพกว่า
การรู้จักแต้มต่อเป็นแค่บทเริ่มต้น แต่การพัฒนาลงไปในแต่ละด้านสิ ยาขม..