05/29/2023

สิงคโปร์พัฒนาตัวส่งสัญญาณระดับ TeraHertz สำเร็จ

ทีมวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์และสถาบันนาโนเทคโนโลยีแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ (National University of Singapore หรือ NUS) เปิดตัวผลงานการพัฒนาตัวส่งสัญญาณระดับ Terahertz (THz) ที่สามารถประหยัดพลังงานได้สูงกว่า และสามารถนำไปยึดติดได้แม้ในพื้นผิวที่มีความยืดหยุ่น โดยทีมวิจัยเตรียมหาพาร์ทเนอร์จากภาคอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาสู่การผลิตระดับแมสแล้ว

terahertz-3_big
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Yang Hyunsoo (ขวา) และ ดร. Wu Yang จากสถาบัน NUS สิงคโปร์

ทั้งนี้ การวิจัยสรา้งตัวส่งสัญญาณระดับ THz ที่สามารถยึดติดบนพื้นผิวต่าง ๆ ได้โดยไม่มีผลกระทบต่อการกระจายสัญญาณนั้นถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะได้รับความร่วมมือด้วยดีจากนักวิจัยของสถาบัน Materials Research and Engineering ของสิงคโปร์ ภายใต้หน่วยงานกำกับด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย (A*STAR IMRE) และมหาวิทยาลัย Tongji จากจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย

“การประดิษฐ์ครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่สำหรับเทคโนโลยีในระดับ THz ซึ่งเราเชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง จากเดิมที่เราอาจใช้งานเครื่องตรวจจับการรั่วไหลของสารเคมีขนาดใหญ่เทอะทะ แต่ด้วยเครื่องส่งสัญญาณดังกล่าว เราอาจพัฒนาเครื่องตรวจจับให้มีขนาดเล็กลงจนสามารถพกพาติดตัวไปได้ง่าย ๆ  รวมถึงการพัฒนาเครื่องตรวจจับการบุกรุกของผู้ไม่ประสงค์ดี ฯลฯ ได้อีกหลายแบบ”

“หรือหากนำมาใช้ในทางการแพทย์ เราก็จะได้อุปกรณ์ที่ทำงานได้ในระดับ THz ในราคาย่อมเยาและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้การวินิจฉัยโรคต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้น การที่อุปกรณ์สามารถยึดติดได้แม้ในพื้นผิวที่ยืดหยุ่น ก็อาจนำไปพัฒนาเพื่อใช้กับ Wearable Device ต่าง ๆ ได้ด้วย” ดร. Yang กล่าว

เป้าหมายต่อไปในอนาคตนั้น ทางทีมวางแผนจะพัฒนาระบบวิเคราะห์ลำแสงสเปคตรัมแบบพกพาได้โดยใช้เครื่องส่งสัญญาณ THz ที่พัฒนาขึ้น รวมถึงกำลังหาวิธีพัฒนาการส่งสัญญาณแบบระบุความยาวคลื่นได้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับแอปพลิเคชันต่าง ๆ และเทคโนโลยี THz ด้วย

โดยในขณะนี้ ทีมวิจัยได้จดสิทธิบัตรนวัตกรรมดังกล่าวแล้ว และหวังว่าจะมีพาร์ทเนอร์จากภาคอุตสาหกรรมให้ความสนใจและพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ ร่วมกันต่อไปในอนาคต

ที่มา http://www.computerworld.com.sg

Leave a Reply