วิวัฒนาการมนุษย์ยุคที่ 5 : สังคมแห่งความฝัน! ยุคแห่งความคล้ายระหว่างความฝัน(ยุคที่ 5) กับความกลัว (ยุคที่ 1)
โดย พงษ์ ผาวิจิตร (ตีพิมพ์ในนิตยสาร Eworld ฉบับเดือน สิงหาคม 2011)
ทุกประเทศที่พัฒนาแล้ว และองค์กรขนาดใหญ่ๆ มักจะมีการจำลองภาพของสังคมในอนาคต เพื่อสื่อให้เห็นว่าโลกจะพัฒนาไปในทางไหน แล้วเขาจะได้เตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น มีภาพหนึ่งที่หลายๆ หน่วยงาน เห็นตรงกันคือ สังคมคล้ายๆ กับยุคพระศรีอารย์ คือสังคมแห่งความฝันหรือเรียกว่า Dream Society ที่เชื่อกันว่าจะอุบัติขึ้นในราวไม่ถึงสิบปีข้างหน้า อันเกิดจากอิทธิพลของเทคโนโลยีบวกกับสารสนเทศท่วมท้นที่ก่อให้เกิดอัตรการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นจากการรับรู้ข่าวสาร มากกว่าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีตรงๆ เสียอีก
สังคมมนุษย์เพิ่มความเร็วในการเปลี่ยนแปลงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ยุคการล่าสัตว์เมื่อ 10,000 กว่าปีก่อน แล้วก้าวเข้ายุคการเกษตรที่รู้จักการผลิตอาหารเอง เวลาในการจินตนาการก็มีมากขึ้นทำให้ยุคนี้เหลือสั้นเหลือเพียงไม่ถึง 5,000 ปี แล้วก็เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเมื่อ 200 กว่าปีก่อน มาสู่ยุคสารสนเทศซึ่งก่อเกิดไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา และกำลังจะก้าวผ่านไป ถือเป็นยุคที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ 4 ยุคที่ผ่านมาคือราวๆ 50 ปี
และเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ห้าคือ ยุคของสังคมแห่งความฝันที่มนุษย์มีเวลาเหลือมากขึ้น เนื่องจากความจำเป็นในการใช้เวลาในการหาสิ่งยังชีพน้อยลง เวลาให้กับจินตนาการก็มีมากขึ้น ความโหยหาเรียกร้องความต้องการอยากผจญภัยก็สูงขึ้น ซึ่งเป็นความต้องการด้านจิตวิญญาณและความรู้สึกไม่ต่างจากยุคแรกๆ ของประวัติศาสตร์มนุษย์ที่อยู่กับความกลัว โดยความต้องการยุคใหม่นี้ถูกทำให้มีความเข้มข้นขึ้นจากอิทธิพลของสิ่งประดิษฐ์ในยุคสารสนเทศนั่นเอง ท่านลองมองสิ่งรอบตัวในปัจจุบัน นับตั้งแต่ภาพยนต์แนวแฟนตาซี จินตนาการ การท่องเที่ยว รถยนต์ออฟโรด นาฬิกา รองเท้าแบบบึกบึน ได้รับความสนใจมากขึ้น แม้แต่ผู้คนในยุคนี้ที่มีความจำเป็นในการใช้งานจากกล้ามเนื้อมัดโตๆ น้อยลง แต่ผู้คนกลับนิยมการเพาะกล้ามให้ใหญ่โต ยอมเหนื่อยวันละหลายๆ ชั่วโมงเพื่อเพราะกล้ามยังกับว่าจะไปใช้ออกสงครามจับช้างป่าอะไรปานนั้น ของเล่นในสวนสนุกก็ต้องโลดโผนตื่นเต้นเร้าใจ หากท่านให้ความสนใจสังเกตให้ละเอียดสักหน่อย จะพบว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้มีความขัดแย้งกันในตัวเอง กล่าวคือ อยู่ในห้วงแห่งความก้ำกึ่งระหว่างค่านิยมตกค้างจากยุคอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการแข่งขันอย่างเข้มข้น ที่ทำให้มนุษย์เราเห็นคุณค่าความเป็นคนน้อยลง สังคมอุตสาหกรรมได้พัฒนาวัฒนธรรมการทำงานที่แยกงานจากชีวิตประจำวัน ทำให้คนกลายเป็นนักบริโภคนิยม กับค่านิยมใหม่แห่งสังคมยุคที่ห้า ที่เราเริ่มเห็นคนบางกลุ่มเริ่มเบื่อหน่ายกับการแข่งขัน หันกลับมามองเรื่องจิตวิญญาณ ความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม ทำงานน้อยลง มีสมดุลย์ของชีวิตมากขึ้น นี่แหละ คือสัญญาณบ่งบอกว่า ..เรากำลังอยู่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่าน
สิ่งที่จะเป็นไปในยุคที่ห้า มีแนวโน้มดังนี้ครับ..
- คนจะโหยหาเรื่องราวมากกว่าฟังก์ชัน เชื่อกันว่า อาชีพที่จะได้รับเงินเดือนมากที่สุดคือ งานเกี่ยวกับการเล่าเรื่อง ตีความ แต่ก็ต้องขึ้นกับว่าเขาเล่าเรื่องประเภทไหน สินค้าแบรนด์ดังๆ ในโลก ล้วนทำเงินจากการเล่าเรื่อง เช่น รองเท้าไนกี้ เล่าเรื่องความสำเร็จของนักกีฬาโอลิมปิก การท่องเที่ยวเพื่อไปดูแหล่งถ่ายทำภาพยนต์เป็นต้น
- ความสามารถในการ Manipulate Information จึงเป็นทักษะที่มีคุณค่ามาก นั่นคือความสามารถในการสร้างฝันใหม่ขึ้นจากข้อมูลเก่าที่มีอยู่ iTune เป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากเพลงเก่าที่มีอยู่ itune ไม่ได้ทำเงินจากเพลงใหม่สักเท่าไร แต่ทำให้เพลงเก่ากลับมาหมุนเวียนขายได้มากขึ้น
- จะมีการผลิตและใช้งานสารสนเทศในระบบอัตโนมัติเหมือนกับระบบการผลิตในอุตสาหกรรม กล่าวคืองานหลายอย่างทางด้านสารสนเทศได้ถูกทำให้เป็นระบบอัตโนมัติเหมือนระบบการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม เช่นการพิมพ์จดหมายอัตโนมัติ การเก็บข้อมูลอัตโนมัติ แม้แต่การปรับปรุงข้อมูลอัตโนมัติ การตอบรับโทรศัพท์อัตโนมัติ ขนาดอาชีพเฉพาะบางอย่างที่ขึ้นกับความการฝึกฝนเฉพาะตัว ซึ่งระบบอัตโนมัติไม่สามารถทำได้ในอดีต เช่น นักกฏหมาย หมอ ก็สามารถเป็นระบบอัตโนมัติได้ ที่เรียกว่า Artificial Intelligence
- อารมณ์จะกลายเป็นความต้องการหลักมากกว่าตัวสินค้าเสียอีก ไม่เป็นการเพียงพอในการผลิตสินค้าเท่านั้น แต่ต้องมีการเพิ่มเรื่องราวเพื่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกในสินค้า คนซื้อยีนส์ ไอพอด ไวน์ รถ ล้วนต้องการเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังสินค้านั้น สินค้ายี่ห้อแอปเปิ้ลเป็นตัวอย่างที่ดีที่คนซื้อดีไซน์มากกว่าความสามารถของสินค้า อีกไม่นาน เราอาจได้ใช้สินค้าฟรี เพียงเพื่อแลกกับเรื่องราวของเรา มิเช่นนั้น คนเล่นกีฬาเก่งๆ คงไม่ถูกมหาวิทยาลัยดังๆ ตามจีบ เพราะมหาวิทยาลัยเหล่านั้นต้องการเรื่องราวของนักกีฬาไปโปรโมตสินค้า (มหาวิทยาลัย)
- แต่ละบ้านจะมี Information Room เพื่อใช้ในแหล่งค้นคว้า เรียน สื่อสาร และทำงาน แนวโน้มคนเริ่มเข้าห้องสมุดน้อยลง เพราะเราสามารถหาข้อมูลจากห้องในบ้านง่ายกว่า
- แต่สิ่งที่จะมาทดแทนคือ สถานที่พบปะสาธารณะจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น เพราะคนรู้สึกเบื่อ เหงาที่ต้องนั่งทำงาน/เรียนคนเดียวที่บ้าน จึงย้ายมานั่งปะปนกับคนอื่นๆ ในร้านกาแฟ เพียงเพื่อให้มีคนอื่นๆ นั่งเป็นเพื่อนมากกว่าต้องการหาเพื่อนจริงๆ
- สินค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่จะเป็นที่นิยมคือสินค้าที่ถูกออกแบบมาเพื่อความสงบสุข และสนับสนุนความเป็นเอกเทศส่วนตัวจะมีอนาคตมากจะเป็นที่ต้องการมากในอนาคต
- เมื่อคนทำงาน/เรียน จากบ้านมากขึ้น การทำงานเพื่อแข่งขันกันก็จะน้อยลง แต่การทำงานในสมัยหน้าจะกลับเป็นส่วนหนึ่งของสันทนาการในชีวิตประจำวัน หากองค์กรไหนเน้นประสิทธิภาพมากเกินไปเหมือนสมัยนี้ คนก็จะต่อต้านว่าให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์น้อยไป ฟังแล้วไม่น่าเชื่อ แต่โลกเราถูกสร้างไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก อะไรๆ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
อีกไม่นาน เราจะเริ่มโหยหาภาพชนบทจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง สัตว์เลี้ยงพื้นๆ ที่หายไปเนื่องจากระบบการเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมเข้ามาแทนที่เช่น หมู เป็ด ไก่ ฯลฯ เราก็จะได้เห็นสัตว์เหล่านี้ในท้องทุ่งที่ถูกเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติมาขึ้น วิถีชีวิตคนจะหันกลับไปนับถือธรรมชาติเหมือนสิ๋งศักดิ์สิทธิ์คล้ายสมัยโบราณกาล ผู้คนจะหันกลับไปใช้ชีวิตตามวิถีธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
การทำงานจะเหมือนการละเล่นคล้ายในอดีตกาล ต่างจากยุคอุตสาหกรรมที่การทำงานเป็นสิ่งที่ต้องทำแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย การทำงานในสังคมแห่งความฝันนี้ จะเป็นเหมือนการมาพบปะเพื่อนฝูงในที่ทำงาน
วีการเช็กว่าท่านเห็นด้วยกับแนวโน้มนี้หรือไม่โดยการถามใจตัวเองว่า ท่านเองอยากเห็นภาพเหล่านั้นหรือไม่ หรือถามเพื่อนข้างๆ ว่ามีความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพข้างต้นอย่างไร เขาว่ากันว่าสิ่งที่กล่าวข้างต้นนี้ ได้เกิดขึ้นแล้วกับคนกลุ่มหนึ่งที่กล้าเลือกหรือมีฐานะที่จะเลือก