06/05/2023

พบ 8 ใน 10 ชาวลอดช่องรับได้กับ “Robo-Advisory Services”

Robot with laptop on a white background

Accenture สำรวจพบ ธุรกิจธนาคาร ประกันภัย และการวางแผนเพื่อการเกษียณในสิงคโปร์มีการใช้งานระบบให้คำแนะนำที่สร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์หรือที่เรียกกันว่า Robo-Advisory Services ให้บริการแก่ประชาชนอย่างกว้างขวางมากขึ้น หลังประชาชนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ยอมรับการมาถึงของระบบดังกล่าวด้วยดี

Robot with laptop on a white background

โดย Accenture ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ตอบแบบสอบถาม 32,715 คนใน  18 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เบเนลักซ์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี ประเทศกลุ่มนอร์ดิค สเปน อังกฤษ บราซิล ชิลี ออสเตรเลีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย และพบว่า เฉพาะในสิงคโปร์นั้น  ประชาชนประมาณ 8 ใน 10 รับได้กับการให้บริการในลักษณะดังกล่าว แต่ก็มีตัวเลขของผู้ใช้งานบางส่วนที่ระบุว่า การได้รับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ที่เป็นมนุษย์ก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะกรณีที่ต้องการปรึกษาปัญหาซับซ้อนยุ่งยาก

ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามชาวสิงคโปร์ถึง 84 เปอร์เซ็นต์เผยว่า พวกเขารับได้กับการให้คำแนะนำด้านการลงทุนแบบทั่วไปของ Robo-Advisory นอกจากนั้น ยังมีผู้ตอบแบบสอบถามถึง 80 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า ยอมรับได้กับคำแนะนำของ Robo-Advisory เกี่ยวกับการวางแผนการเกษียณ การเลือกซื้อประกันภัย หรือการเปิดบัญชีธนาคาร

อย่างไรก็ดี มีผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ประมาณ 64 เปอร์เซ็นต์ ที่ยังต้องการพนักงานมนุษย์เข้ามาให้บริการในปัญหาที่ซับซ้อนแทนที่จะเป็นระบบอัตโนมัติ และ 61 เปอร์เซ็นต์ต้องการพนักงานที่เป็นมนุษย์เป็นผู้ดูแลทำธุรกรรมทางการเงินที่มีความซับซ้อนสูง เช่น การจำนองสินทรัพย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การยอมรับบริการให้คำแนะนำโดยระบบอัตโนมัติของชาวสิงคโปร์นี้ได้ทำให้องค์กรส่วนหนึ่งมีการผนวกหุ่นยนต์ – ระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์มากขึ้น และมองว่า ธุรกิจด้านการเงินที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องการกลยุทธ์แนว “Phygital” หรือก็คือการผนวกเทคโนโลยีเข้ามาในการให้บริการแบบปกติทั่วไปได้อย่างไร้รอยต่อ และให้ลูกค้าเป็นผู้เลือกเองว่าจะใช้บริการจากพนักงาน หรือจากเทคโนโลยีดิจิตอล

 “แม้ว่าผู้ให้บริการด้านการเงินและการลงทุนของสิงคโปร์ส่วนใหญ่ทราบข้อมูลลูกค้าเป็นอย่างดี แต่พวกเขาก็ไม่หยุดยั้ง และมีการพัฒนาโปรดักซ์ใหม่ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายแบบ Micro-segment ออกมาโดยอ้างอิงจากข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งนี่เป็นเหตุผลเดียวกับที่ว่า ทำไมบริษัทอย่างเฟซบุ๊ก อาลีบาบา หรืออเมซอนถึงประสบความสำเร็จ เพราะพวกเขาพัฒนาสินค้าสำหรับกลุ่มเป้าหมายแบบ Niche ออกมาได้โดยใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์นั่นเอง”  Beat Monnerat กรรมการผู้จัดการอาวุโสของ Accenture ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าวทิ้งท้าย

 ที่มา http://www.computerworld.com.sg

Leave a Reply