06/09/2023

ผู้ชาย 4 คน

โดย พงษ์ ผาวิจิตร (ตีพิมพ์ในนิตยสาร Eworld ฉบับเดือน เมษายน 2011)

ใครคือผู้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ที่สุดในศตวรรษที่ 21?

ถ้าถามคำถามนี้แก่นักการเมือง นักประวัติศาสตร์ .. เราอาจได้รายชื่อนักการเมืองของประเทศที่มีอิทธิพลเช่นสหรัฐอเมริกา จีน อิสราเอล รัสเซีย ฯลฯ และถ้าถามนักประวัติศาสตร์รุ่นเก่า ก็จะเป็นเจ้าผู้ครองนคร .. สรุปแล้วคือ ผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมทุกยุคทุกสมัยมา มักเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองที่อยู่บนปิรามิดสูงสุดของสังคม แต่สำหรับโลกยุคใหม่ คนที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือ คนที่ให้อำนาจกับปัจเจกชนสามารถทำ 4 เรื่องที่เคยจำกัดเฉพาะผู้มีทรัพยกรมากกว่า และเกินความสามารถบุคคลธรรมดาที่จะสามารถหามาเป็นเจ้าของได้  นั่นคือ..

  1. สามารถเพิ่มประสิทธิภาพโดยไม่ต้องพึ่งพาระบบเดิม
  2. สามารถสร้างสรรค์จินตนาการโดยไม่ต้องอาศัยศิลปิน นักคิด
  3. สามารถค้นหาข้อมูลมหาศาล โดยไม่ต้องอาศัยห้องสมุดขนาดใหญ่ หรือบุคคลากรจำนวนมากในการคัดสรรข้อมูล
  4. และสุดท้ายคือ ช่องทางในการระดมกำลังคนเข้ามาในเครือข่ายเหมือนกองทัพในอดีต ขนาดของกองทัพคือตัวแปรในการกำหนดชัยชนะของสงคราม

ไม่ว่าจะเป็นสงคราม หรือการแข่งขันธุรกิจ องค์ประกอบสำคัญสามอย่างที่ขาดไม่ได้คือ ข้อมูล การสนับสนุน และขนาดกองทัพ หากทั้งสองฝ่ายมีความสูสีในปัจจัยทั้งสามนี้ ก็ขึ้นอยู่กับจินตนาการที่จะใช้ปัจจัยทั้งสามในการเปลี่ยนเกมในอนาคตให้ฝ่ายตนได้เปรียบ ในหลายๆ สงคราม หรือสินค้าที่ประสบความสำเร็จ บ่อยครั้งที่มาจากการสร้างภาพจนทำให้มวลชนเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้ฝ่ายที่ด้อยกว่ากลายเป็นผู้ชนะไปก็มีให้ดูอยู่บ่อยครั้ง และในศตวรรษปัจจุบันนี้ มี คน 4 คนที่หยิบยื่นความได้เปรียบสี่ด้านให้กับบุคคลธรรมดาๆ ทั่วไป   พวกเขาประกอบไปด้วย..

..คนแรกคือผู้ที่เข้ามาเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจที่เคยตกอยู่ในมือขององค์กรขนาดใหญ่ ให้มาอยู่ในมือของปัจเจกชนด้วยต้นทุนที่ปัจเจกชนแต่ละคนสามารถลงทุนได้ ทำให้คนมีประสิทธิภาพในการแข่งขันเท่าเที่ยมกันโดยไม่ต้องใช้ทุนมหาศาล เขาคือ นายบิล เกต ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ หากไม่มีผู้ชายคนนี้ พวกเรายังต้องใช้พิมพ์ดีดเครื่องเก่า ตารางบัญชีแบบเก่าๆ การวางแผนงานที่ต้องใช้พิมพ์เขียวหลายใบ และการอธิบายความยากๆ คงต้องใช้บริการนักการเมืองรุ่นเก๋าคารมดีที่ทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย รวมถึงอีกหลายๆ  นวัตกรรมที่เปลี่ยนชีวิตประจำวันของเรา

…คนที่สองเป็นผู้ที่เคยโด่งดังมาก่อนคนแรก แล้วก็ดับไป แล้วก็กลับมาดังอีกครั้ง แต่การกลับมาของเขาแต่ละครั้ง เขากลับมาด้วยเกมการเล่นใหม่ที่แตกต่างจากเดิม ถึงแม้ว่าจุดเริ่มต้นของเขาก็คือไมโครคอมพิวเตอร์เหมือนบิลเกต แต่เขามีมุมมองที่แตกต่างออกไปคือ การทำให้ปัจเจกชนสามารถสื่อและสร้างสรรค์สุนทรียศาสตร์ได้ง่ายเพียงแต่ปลายนิ้วคลิก เขาคือ นายสตี๊ฟ จ๊อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ล และพิกซ่าส์ บริษัทผลิตภาพยนตร์แอนิเมชัน การริเริ่มของเขาทำให้ความสามารถในการสร้างสรรค์งานศิลปะไม่ต้องขึ้นกับศิลปินที่ผ่านการเพาะบ่มทักษะมาเป็นเวลานานปีอีกต่อไป ทำให้บุคคลธรรมดาๆ ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานชั้นครูได้ ที่สำคัญคือ เขาเป็นคนที่ทำให้คนธรรมดาๆ สามารถเข้าใจสุนทรียศาสตร์ได้ง่ายขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เมื่อไรที่คนเข้าถึงสุนทรียะ เมื่อนั้น คนๆ นั้นก็จะสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะใหม่ๆ ได้ และหากใช้เครื่องมือของนายสตี๊บ จ๊อบส์ด้วยแล้ว การสร้างสรรค์งานศิลปะก็ยิ่งง่ายและใช้เวลาที่สั้นลง

..คนที่สามเป็นเพื่อนกันสองคนที่แม้แต่ซีไอเอ หน่วยงานที่กำความลับของทั้งโลก ทั้งๆ ที่มีเครื่องมือในการเจาะทะลวงข้อมูลทุกชนิดยังต้องอาศัยบริการของสองคนนี้ เขาทำให้ปัจเจกชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลอะไรก็ได้ หรือแม้แต่ข้อมูลของตัวเราเองที่เราเองก็ยังไม่รู้ได้จากทุกมุมโลก สิ่งประดิษฐ์ของเขาทำให้อำนาจต่อรองของมหาวิทยาลัยที่วัดกันด้วยขนาดของห้องสมุดที่บางมหาวิทยาลัยใช้เวลาร่วมพันปีในการสะสม หมดค่าลง เพราะแค่นั่งอยู่ในห้องน้ำที่บ้าน เราก็สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่มีขนาดใหญ่กว่าห้องสมุดของมหาวิทยาลัยดังๆ ทั่วโลกรวมกัน เขาทั้งสองคนคือ ลาร์รี่ เพจ และเซอร์เจย์ บริน ผู้ก่อตั้งกูเกิ้ล ที่ไม่เพียงแต่หยิบยื่นอำนาจในการค้นหาข้อมูลให้เรา แต่ยังได้ให้นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ให้พวกเราได้ใช้บริการฟรีๆ (แต่กูเกิ้ลก็ได้ประโยชน์จากการเก็บสถิติการใช้งานของผู้ใช้ไปต่อยอดทางธุรกิจอื่น)

..คนที่สี่ ถึงแม้ว่าสิ่งประดิษฐ์ของเขาจะไม่ได้โดดเด่นเหมือนคนอื่นๆ แต่เปรียบเสมือนจิ๊กซอร์ตัวสุดท้ายในการรวบรวมคนให้เป็นกลุ่มก้อน การรวมคนเป็นกลุ่มก้อนนั้นโดยตัวมันเองก็เป็นงานที่ต้องอาศัยพลังงานมหาศาล และต้องอาศัยระยะเวลา แต่หนุ่มคนนี้คือ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ทำให้คนจากคนละมุมโลกสามารถรวมพลังกันสร้างแรงกระเพื่อมได้ ที่สำคัญคือ สิ่งประดิษฐ์ของเขาทำให้การรวมพลังมีการเมืองน้อยกว่าการรวมพลังในยุคเก่า ซึ่งการเมืองในกลุ่มมักจะเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มใหญ่ขึ้นและจำกัดการเจริญเติบโตของกลุ่ม แต่การรวมกันของกลุ่มคนในเฟซบุ๊กกลับไม่ค่อยเจอปัญหานี้ ที่สำคัญเขายังมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้ระบบสามารถหาเพื่อนฝูงคอเดียวกันให้ใหญ่ขึ้นได้เรื่อยๆ

เมื่อกาลเวลาผ่านไป คนทั้งสี่อาจลืมเลือนไปจากความทรงจำของคนส่วนใหญ่ แต่ชื่อ Microsoft, Apple, Google และ Facebook จะกลายเป็นคำสามัญประจำบ้านไปอีกนาน ถึงแม้ว่าคลื่นลูกใหม่ๆ จะซัดเข้ามา แต่ก็คงต้องใช้เวลา.. ก่อนจบ อาจเชิญชวนให้ท่านได้ลองคิดเดากันเล่นๆ ว่า อะไรคือสิ่งที่สังคมมนุษย์ยังขาดและโหยหามากที่สุด .. ความเป็นอมตะนิรันดร์กาล หรือการแสวงหาทางจิตวิญญาณ หรือการได้หวลกลับไปสู่วิถีดั้งเดิม หรือการแสวงหาดินแดนใหม่ๆ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม หากท่านสามารถสร้างเครื่องมือเพื่อตอบสนองความโหยหาของคนกลุ่มใหญ่ได้ในราคาต่ำ ท่านก็จะกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลคนใหม่ของโลกไป ผู้ชายทั้งสี่ได้พิสูจน์ว่า การหาสาวกยุคใหม่ใช้เวลาที่สั้นกว่าศาสดาศาสนาต่างๆ ใช้ แต่ละศาสนาใช้เวลาร่วมพันปีในการก่อตั้งกระแสหลักของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่คนทั้งสี่ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็ส่งผลต่อเพื่อนมนษย์กับคนทั้งโลกที่มีสาวกนับพันล้านคนได้..

Leave a Reply