ปรากฏการณ์กลัวฝันเป็นจริง!
โดย พงษ์ ผาวิจิตร (ตีพิมพ์ในนิตยสาร Eworld ฉบับเดือน พฤษภาคม 2011)
คนเรามีความฝันมากมาย ทั้งฝันกลางคืนและกลางวัน เฉพาะกลางคืนก็เฉลี่ยถึง 36 ความฝัน/คืน หรือประมาณห้าฝันต่อชั่วโมง แต่จำได้จริงๆ เฉลี่ยไม่เกิน 4-6 ฝัน ถ้าใครสามารถผลิตเครื่องดักฝัน แล้วนำความฝันนั้นมาทำเป็นคลิปวิดีโอได้ เชื่อว่าคงต้องดังกว่า youtube เป็นไหนๆ และอาชีพคนขโมยฝันอย่าง Inception คงตกงาน
บ่อยครั้งที่เราอยากให้ฝันเราเป็นจริง แต่ก็มีหลายครั้งที่เราดีใจว่า ฝันของเราไม่เป็นจริง และท่านเชื่อหรือไม่ว่า ในชีวิตหนึ่งๆ ของเรา เรากลัวความฝันของเราเป็นจริงมากเกินไป เช่น เซลล์แมนไม่กล้าปิดการขาย คนอยากพูดภาษาอังกฤษเป็นไม่อยากเริ่มหัดเสียทีแบบผลัดวันประกันพรุ่ง คนอยากเป็นนายของตัวเองแต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ฯลฯ แต่ความฝันก็ยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราอยากมีชีวิตอยู่ เมื่อไรที่คนๆ หนึ่งหมดฝัน ก็หมายถึงวาระสุดท้ายของชีวิตใกล้เข้ามาแล้ว
..เรื่องที่หนึ่ง อาชีพลากน้ำแข็งจากขั้วโลกเหนือมาขายให้กับผู้มีอันจะกินในสมัยก่อนที่จะมีตู้เย็น เป็นธุรกิจหนึ่งที่จ้างงานจำนวนมากเพื่อลากน้ำแข็งจากขั้วโลกเหนือซึ่งใช้เวลาในการเดินทางเป็นแรมเดือน แถมต้องเผื่อละลายไปในระหว่างการลาก และเฉพาะคนมีอันจะกินเท่านั้นถึงมีปัญญาซื้อน้ำแข็งมาเก็บกินในฤดูร้อนได้ แต่แล้ววันหนึ่ง กระทาชายชาวเยอรมันคนหนึ่ง ก็ประดิษฐ์เครื่องทำน้ำแข็งสำเร็จ ทำให้ธุรกิจลากน้ำแข็งอันตธานไป ผู้คนกร่นด่า แต่หลังจากนั้น ก็ผุดอาชีพช่างทำตู้เหล็ก ช่างทำโฟม พัฒนาทำโรตารี่เพื่อผลิตตู้เย็น มีพนักงานขายอย่างซิงเกอร์มาหาเราที่บ้าน มีอุตสาหกรรมเงินผ่อนเพื่อช่วยให้คนซื้อตู้เย็นได้เร็วขึ้น มีบริษัทผลิตอาหารแช่แข็งที่ยิ่งใหญ่อย่างซีพีในทุกวันนี้ ก็เพราะอานิสงฆ์ของการแตกดับธุรกิจลากน้ำแข็งที่จำกัดเฉพาะคนรวย แต่ตู้เย็นทำให้คนจนก็มีสิทธิ์กินน้ำแข็ง แถมรักษาอาหารได้
เรื่องที่สอง.. เมื่อไม่กี่ปีก่อน เรายังเรียนหนังสือที่บอกว่ามีชาวนาเป็นสัดส่วนราวๆ 80% ของประเทศ แต่ทุกวันนี้ มีชาวนาไม่ถึง 10 % นั่นก็หมายความว่า ชาวนาตกงานแล้วกว่า 30 ล้านคน (คำนวณจากฐานประชากรแค่ 50 ล้านคนเท่านั้น) ก็ไม่เห็นมีใครออกมาโวยวาย แต่ข่าวว่าปีหน้าจะมีคนตกงานห้าแสนบ้าง หนึ่งล้านบ้าง เทียบกับชาวนาที่เคยตกงานแล้วถือว่าเป็นตัวเล็กจิ๊บจ๊อยมาก หากชาวนาไม่ตกงาน เราจะมีแรงงานมาเย็บเสื้อผ้า มาขับมอร์เตอร์ไซด์รับจ้าง ทำรองเท้า เป็นพนักงานห้าง
ในขณะนี้ .. ความฝันของหลายๆ อาชีพกำลังถูกท้าทายโดยไม่รู้ตัว.. เหมือนร้านยี้ปั๊วที่ถูกท้าทายโดยห้างแม็คโคร ร้านโชวห่วยถูกท้าทายโดยร้านสะดวกซื้อ.. และที่กำลังอยู่ในคิว (เหมือนบริการส่งโทรเลขที่ถึงกาลอวสานเมื่อโทรศัพท์และโทรสารมา) เช่น..
…อาชีพนักข่าว- หลายๆ แหล่งข่าวมักใช้บริการนักข่าวพลเมืองที่ไม่ต้องจ้าง แค่อยู่ในที่เกิดเหตุพร้อมโทรศัพท์เคลื่อนที่..และเมื่อพัฒนาถึงจุดหนึ่ง สำนักข่าวก็อาจจะต้องถูกลดบทบาทลง เมื่อระบบข่าวออนไลน์สามารถพัฒนาตนเองจนกลายเป็นระบบที่มีการตรวจสอบทานกันได้ เมื่อนั้นฐานันดรที่สี่ก็จะถูกท้าทายเหมือนฐานนันดรอื่นๆ ในสังคม
…ธุรกิจโรงพิมพ์- หลายๆ ประเทศในยุโรปเวลาไปเปิดบัญชีธนาคารไม่รับฝากเงินแล้ว คือต้องเปิดบัญชีด้วยบัตรเครดิต หากกระแสเงินอันเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจยังปฏิเสธกระดาษขนาดนี้ แล้วบทบาทของกระดาษจะเหลืออะไร ตลาดของสิ่งพิมพ์ที่รองลงมาคือ ข่าวสาร หนังสือ ฯลฯ ก็กำลังพาเหรดไปขึ้นจอแอลซีดีกันเป็นแถว นอกจากความคล่องตัวในการส่งที่ส่งถึงที่เมื่อต้องการแล้ว ยังไม่ต้องแบกน้ำหนัก ผู้เขียนเองตอนนี้หยุดอ่านหนังสือเล่มแล้ว เพราะขี้เกียจขนหนังสือหลายเล่ม เอาเครื่องคอมพิวเตอร์ไปเพียงหนึ่งเครื่อง ก็สามารถเลือกอ่านหนังสือได้เป็นร้อยๆ เล่ม
…รักษาความปลอดภัย –น้อยคนจะตั้งคำถามว่า การที่เราจ้าง รปภ. แล้วความปลอดภัยของเราจะดีขึ้นไหม? ไม่เชื่อท่านลองสังเกตและถามรปภ.ดูเถอะว่า เขาจะรับมือกับวิกฤตอย่างไร ผู้เขียนเคยลองถามรปภ. หลายๆ แห่งดู ส่วนใหญ่บอกตรงกันว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉิน พวกเขาที่เห็นก่อน ก็จะวิ่งหนีก่อน แล้วถ้าอย่างนั้น หน่วยงานจะเสียเงินจ้างรปภ.จุดละกว่าหมื่นบาททำไม สู้ไปซื้อกล้อง CCTV ตัวละไม่กี่พันบาท ลงทุนครั้งเดียวใช้ได้ตลอดกาลมิดีกว่าหรือ แถมสามารถเอาเป็นหลักฐานมัดตัวคนทำผิดได้ ต่างจากรปภ.หากถูกผู้มีอิทธิพลขู่หน่อย ก็ไม่กล้าให้การในศาลแล้ว
…มอร์เตอร์ไซด์รับจ้าง ครั้งหนึ่งคนทำอาชีพนี้ไปแย่งงานจากคนขับแท็กซี่ แต่เมื่อระบบขนส่งมวลชนครบขั้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า บวกกับรถอีโคทั้งหลายที่พากันวางตลาดเป็นดอกเห็ด อีกไม่นาน เราคงได้ใช้สกู๊ตเตอร์ให้เช่าจากปากซอยเข้าบ้านโดยไม่ต้องกังวลกับพฤติกรรมของมอร์เตอร์โซต์รับจ้างนอกแถว
….นักการตลาด- ทุกมหาวิทยลัยที่เปิดในประเทศนี้ ต้องมีคณะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพื่อสร้างบุคคลากรป้อนตลาด แต่เมื่อองค์กรต่างๆ มีปัญหากับคุณภาพคนไม่ตรงกับงาน ค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ธุรกิจไม่ได้โตเร็วอย่างแต่ก่อน ทุกแห่งจึงหันมาทำตลาดระบบอัตโนมัติผ่าน Call Center บ้าง ผ่านระบบ E-commerce บ้าง ทำให้ความต้องการพนักงานระดับปริญญาตรีมีน้อยลง แต่ผู้เขียนก็ยังไม่เห็นสถาบันการศึกษาปรับตัว จะอ้างว่ายังเป็นที่นิยมของตลาด ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะคนเรียนส่วนใหญ่ ไม่เคยรู้ว่าเรียนไปเพื่อทำอะไรอยู่แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันที่ต้องปรับตัวและออกมาชี้แจง จะปล่อยให้เกิดปัญหาก่อน ก็ถือว่าเป็นการทรยศต่อสังคมก็ได้
โลกล้วนวนเวียนเป็นวัฏจักร ครั้งหนึ่งอาชีพเกษตรกรในประเทศนี้ถือว่าด้อย เหมือนกับอาชีพเต้นกินรำกิน แต่อาชีพเต้นกินรำกินกลับเป็นอาชีพที่เฟื่องฟูในรอบหลายปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกัน ผู้เขียนเชื่อว่า เกษตรกรสมัยใหม่ที่มีแนวคิดน่าจะเป็นอาชีพที่มีอนาคตอีกอาชีพหนึ่งในเร็ววันนี้..
อน พฤษภาคม 2011)