06/05/2023

ประชากร 800 ล้าน-ประเทศเกิดใหม่ที่ยังเปิดรับสมาชิกไม่อั้น!..

โดย พงษ์ ผาวิจิตร (ตีพิมพ์ในนิตยสาร Eworld ฉบับเดือน มกราคม 2012)

จีนและอินเดียถือเป็นสองประเทศมหาอำนาจในด้านประชากร กล่าวคือแต่ละประเทศมีประชากรเกินหลัก 1,000 ล้านคน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่มีประชากรเกือบ 400 ล้านคน แต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่า.. มีประเทศเกิดใหม่ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติ เป็นประเทศที่ไม่มีกองกำลังติดอาวุธของตัวเองเช่นเดียวกับวาติกัน แต่กลับมีประชากรรวมกันกว่า 800 ล้านคน เป็นไปได้อย่างไรที่ประชากรขนาดนี้จะเป็นประเทศเกิดใหม่และยังไม่ได้รับการยอมรับจากยูเอ็น.. ประเทศนั้นชื่อ Facebook ที่ท่านผู้อ่านหลายคนก็เป็นสมาชิกภาพเช่นเดียวกับผู้เขียน มีหลายๆ ประเทศที่มีประชาชนเกินครึ่งเป็นสมาชิก Facebook ไปแล้ว เช่นที่อังกฤษ ครั้งหนึ่งคนเก่งๆ ของยุโรปและอังกฤษอพยพไปตั้งรกรากที่สหรัฐอเมริกา ทำให้ประเทศนี้กลายเป็นมหาอำนาจจนถึงทุกวันนี้ และถ้าคนเก่งๆ อพยพหรือแม้แต่คนที่ทำงานที่ Google, Apple ก็เป็นสมาชิกของ Facebook ท่านลองจินตนาการดูว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่ากลัวสำหรับบริษัทคู่แข่งขนาดไหน? เรียกว่า Facebook อาจได้ข้อมูลเชิงลึกของ Google และ Apple จากพนักงานที่หยิบยื่นข้อมูลให้โดยไม่รู้ตัว

ใช่แล้วครับ Facebook เป็นสถานที่นัดพบที่มีคนเข้าไปใช้บริการมากกว่า และถี่กว่า Google ด้วยซ้ำ ความต่างคือ Google เหมือนตลาด เหมือนฟุตบาทที่คนเดินผ่านไปผ่านมา จำนวนถึงแม้จะมากกว่าแต่ไม่ได้เป็นศูนย์รวมดังบ้านหรือประเทศ  ในขณะที่ Facebook เหมือนบ้าน เหมือนประเทศที่ผู้ที่เป็นสมาชิกฝากสิ่งของ เรื่องราวของตัวเองไว้มากมาก คนไม่มีอะไรทำก็แวะเข้ามาพัก มาดู มาดื่มน้ำ แล้วก็จรไปที่อื่น  แม้แต่องค์กรใหญ่ๆ ก็ยังมาสร้างจุดนัดพบใน Facebook ไม่เว้นแม้กระทั่ง Google เองก็มีหน้าเพจหลายๆ บริการกับเขาด้วย

อะไรคือความเด่นของประเทศนี้? ..ที่เห็นชัดเจนคือ “คุณภาพประชากร” คนที่มาสมัครเป็นสมาชิก facebook อย่างน้อยๆ ต้องมีการศึกษาในระดับหนึ่ง และต้องเป็นคนที่มีใจชอบการ “อ่าน” และ “เขียน”  มิเช่นนั้นก็คงไม่สามารถอ่านเรื่องราวของคนอื่นและเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเองได้ คนที่เข้ามาในประเทศนี้ล้วนมีความเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ “อยาก” ให้คนอื่นๆ รู้เรื่องราวของตัวเอง ทั้งงาน ความนึกคิด ความเคลื่อนไหวประจำวัน ดังนั้นจึงต้องสร้างเรื่องราวของตนเองให้น่าสนใจเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาเป็นเพื่อนให้ ในขณะเดียวกัน แต่ละคนก็มีสิทธิ์ในการคัดเลือกเพื่อนที่สมัครเข้ามาว่าจะรับเป็นเพื่อนหรือไม่

ความน่าพิศวงของ Facebook ที่อุบัติขึ้นเมื่อราว 7 ปีที่แล้ว ไม่ได้อยู่ที่จำนวนประชากรที่มากที่สุด แต่ Facebook ทำให้โลกได้เรียนรู้รูปแบบใหม่ของธุรกิจบนโลกไซเบอร์เพิ่มอีกแบบหนึ่ง กล่าวคือ สร้างองคาพยพให้คนเข้ามาเป็นสมาชิกก่อน แล้วจึงค่อยหาทางสร้างธุรกิจทีหลัง ซึ่งเรียกได้ว่าฉีกตำราธุรกิจทุกเล่มในโลก โดยเฉพาะความเชื่อเก่าๆ  ที่ว่า “ถ้าเราสร้างกับดักหนูที่ดีที่สุด ..ก็จะมีคนมาซื้อเอง” มาเป็นว่า.. “ถ้าเรามีกับดักหนูที่น่าสนใจที่สุดแล้ว หนูจะเข้ามาติดกับของเราเอง..” แล้วหนูเหล่านั้นจะเป็นผู้บอกเองว่า พวกเขาต้องการอะไร.. ซึ่งมากกว่าความเชื่อเดิมของธุรกิจบนโลกไซเบอร์ที่ใช้ยุทธวิธีเดียวกับการกระจายยาเสพติด กล่าวคือ ให้เสพฟรีก่อน เมื่อติดแล้วค่อยขาย อย่างน้อยๆ ความเชื่อเดิมนี้ ก็ยังมีสินค้า/บริการให้เลือกใช้ก่อน แต่ Facebook นี่สิ ไม่มีสินค้า/บริการใดๆ เลย แต่หากินกับพฤติกรรมดั้งเดิมของมนุษย์เป็นหลัก ซึ่งจนทุกวันนี้กลายเป็นว่า ด้วยหลักการง่ายๆ นี้ทำให้ Facebook ถือไพ่เหนือกว่า Google ที่ลงทุนในการสร้างสินค้า/บริการมากมายก่อน อย่างน้อย 3 เรื่องคือ หนึ่งสมาชิกที่เข้ามายัง Facebook มีสถิติเวลาการใช้ต่อครั้งมากกว่า กล่าวคือโดยเฉลี่ยครั้งละ 30 นาที สองทุกคนที่เข้ามาใช้บริการต้องแสดงตนมีกุญแจไขผ่านเข้ามา ทำให้การเก็บประวัติทำได้ง่ายและเที่ยงตรง รู้ว่าใครเป็นใคร และสามคือทุกอย่างของ Facebook สร้างบนพื้นฐานที่ทำให้คนเสพติดบริการของเขามากยิ่งๆ ขึ้น และมีความประทับใจดื่มด่ำกับสิ่งทีเราค้นหาและสร้างขึ้นเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของธุรกิจทุกชนิด หรือแม้แต่ศาสนาและความรัก ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานนี้

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ..ยิ่งเราเสพติด Facebook มากเท่าไร เขายิ่งรู้เรื่องของเรามากเท่านั้น ท่านลองจินตนาการดูซิว่า ในอนาคต Facebook จะมีค่ามากขนาดไหน เมื่อเขาสามารถรู้พฤติกรรมของคนบนโลก 1,000 ล้านคนอย่างละเอียดทุกจุดทุกเม็ด เรียกว่าดีกว่าพรรคการเมืองไหนๆ บริษัทไหนๆ อีกหน่อยเราคงได้เห็นพรรคประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยไปใช้บริการของ Facebook เพื่อเรียนรู้ว่าคนไทย 65 ล้านคนต้องการอะไร มีรสนิยมแต่ละด้านเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ใช้เป็นข้อมูลมากำหนดนโยบายพรรคให้โดนใจประชาชนมากกว่านโยบายประชานิยมในขนาดนี้ และนั่นหมายความว่า Facebook จะมีอิทธิพลต่อประเทศไทยมากกว่าสหรัฐอเมริการด้วยซ้ำ อย่างนี้จะไม่เรียกว่า Facebook เป็นซีไอเอใหม่ที่มีเอเย่นต์สายลับทำงานให้คือพวกเราที่เป็นสมาชิกทำงานให้ แถมไม่ต้องบีบบังคับให้ต้องสรุปรายงานให้ เพราะเราทำงานทุกวันและรายงานทุกวันให้กับ Facebook อยู่แล้ว ไม่เชื่อท่านลองเข้าไปค้นหาข้อมูลของนักการเมืองบางคนบน Facebook ดูซิ ได้เรื่องมากกว่าถามหน้าห้องเป็นไหนๆ แถมให้ข้อมูลเชิงลึกด้วย เรื่องบางเรื่องที่เจ้าตัวไม่ได้พูดหรือคิดไม่ถึงด้วยซ้ำ เราก็สามารถขุดได้จากคนใกล้ตัว อย่างเช่นสาธารณะรับรู้เรื่องของเสกโลโซจากอดีตภรรยา ซึ่งข้อมูลทำนองนี้เป็นข้อมูลเชิงลึก แถมเจ้าตัวก็คงไม่อยากไปฟ้องร้องคนใกล้ตัวกันเองไปทุกเรื่อง

ผู้บริหารของ Facebook เคยกล่าวไว้ว่า ด้วยความได้เปรียบที่มีอยู่ทำให้ Facebook ทำการโฆษณาที่แตกต่างจากยักษ์ใหญ่แห่งวงการโฆษณาอย่าง Google กล่าวคือ Facebook นำเสนอในสิ่งที่คนกำลังอยากได้ เพราะรู้ใจมากกว่าเจ้าตัวเสียอีก ในขณะที่ Google ทำไม่ต่างจากสื่ออื่นๆ เพียงแต่ทำได้มีประสิทธิภาพกว่า คือการสร้างความต้องการ ซึ่งสองสิ่งนี้ต่างกัน การให้อย่างคาดไม่ถึงย่อมมีความประทับใจและทัศนคติเชิงบวกมากกว่า ในขณะที่อีกอัน ถึงแม้ว่าเราจะซื้อไปแล้ว แต่อาจรู้สึกเจ็บใจในความใจอ่อนของตัวเองที่ซื้อเพราะความอยาก ท่านลองพิจารณาตัวเองดูซิ บ่อยครั้งที่เราซื้อของแล้วต้องมาผิดหวังในภายหลัง กับการที่เราได้รับของขวัญบางอย่างที่ถูกใจจากคนให้ที่แม้ว่าของนั้นจะไม่มีมูลค่ามากนัก แต่เราก็รู้สึกประทับใจกับของขวัญชิ้นถูกใจนั้นมากกว่า

เรื่องราวของ Facebook ยังมีประเด็นที่น่าคุยอีกมาก..เอาไว้จะค่อยๆ เล่าให้ฟังครับ

Leave a Reply