นักปฏิวัติสังคมโลกผู้ทรงอิทธิพล
โดย พงษ์ ผาวิจิตร (ตีพิมพ์ในนิตยสาร Eworld ฉบับเดือน มกราคม 2011)
เหมา คาร์ลมาร์ค สตาลิน เช ฯลฯ นักปฏิวัติคนสำคัญของโลกยุคใหม่ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมตามแต่ประเทศที่คนเหล่านี้เกิด ยกเว้นเช ที่ไปมีอิทธิพลประเทศแถบอเมริกาใต้ แต่เมื่อเทียบกับนักปฏิวัติสังคมโลกคนใหม่นี้ที่มีอิทธิพลไปทุกหย่อมหญ้าภายในเวลาไม่ถึง 30ปีแถมเป็นนักปฏิวัติที่เข้าได้กับฝ่ายซ้ายจัดจนขวาจัด เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ไม่มีการแบ่งสี แบ่งพวกอย่างแท้จริง แต่ละฝ่ายต่างก็เรียกใช้บริการได้อย่างไม่เคอะเขิน และก็มีน้อยประเทศที่รัฐบาลกลางจะเข้ากีดกันจับกุม แตกต่างจากผู้นำการปฏิวัติสังคมอื่นๆ ที่มักจะถูกรัฐบาลกลางที่ครองอำนาจอยู่จับเข้าซังเต ไม่ว่าจะเป็นออง ซานซูจี หรือหลิว เซี่ยวโป ชาวจีนผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2010 ของจีน… เขาคือใคร???
เขาคือผู้ที่อยู่ในกระเป๋าของคนเกือบสี่พันล้านคนทั่วโลกขณะนี้ และมีหลายคนที่ถือพวกเขามากกว่าหนึ่งแล้ว นั่นคือ “โทรศัพท์มือถือ” สิ่งประดิษฐ์ราคาเครื่องละเกือบสองแสนบาทเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน บัดนี้ราคาค่าตัวตกลงไม่ถึงหนึ่งพันบาท นอกเหนือจากประโยชน์ใช้สอยที่แต่ละคนได้รับแตกต่างกันไป เขาผู้นี้ยังส่งผลกระเพื่อมในระดับสังคม ตั้งแต่นักการเงินการธนาคารที่ใช้ในการโยกย้ายขับเคลื่อนเงินตราไปทั่วโลกในชั่วพริบตา จนถึงชนเผ่าดั้งเดิมที่ยังมีการพัฒนาน้อยอย่างเผ่ามาไซในทวีปอัฟริกาที่ใช้เจ้าเครื่องนี้ในการทำการค้าขายฝูงปศุสัตว์ของตัวเอง หรือแม้แต่ใช้เป็น EWS (Early Warning System) ของชาวเผ่าที่อยู่ชนบทห่างไกล ที่รัฐบาลกลางยังไม่สามารถให้การดูแลได้ทั้งถนนหนทาง สาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งชาวบ้านห่างไกลในหลายๆ พื้นที่ของโลกได้ใช้เจ้าโทรศัพท์มือถือนี้ในการส่งข่าว ถามไถ่สุขภาพ ความเจ็บไข้ของญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกลจนไม่สามารถสัญจรไปมาหาสู่กันได้สะดวก และแม้แต่การต่อต้านรัฐบาลกลางที่เกิดขึ้นในอิหร่านเมื่อเร็วๆ นี้ (ในสมัยพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่านถูกนักบวชโคไมนีโค่นล้มด้วยเทปคัสเซท) และก็ไม่เว้นที่เป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลในช่วงพฤษภาคม 2553 ที่มีเหตุการณ์ไม่สงบในบ้านเรา และที่สำคัญ มันยังเป็นเครื่องมือในการขยายเครือข่ายค้ายาเสพติดของผู้ต้องขังในเรือนจำในประเทศนี้ ท่านก็ลองไปคิดดูก็แล้วกันว่า การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์นี้ บ่งบอกถึงสถานะอะไรของการปกครองในบ้านเมืองนี้??
นักสังคมวิทยาคนหนึ่งที่ไปทำการวิจัยในเอธิโอเปียได้พบกับปรากฏการณ์ที่ชวนฉงนตรงที่ชาวบ้านในท้องถิ่นกันดารไม่มีน้ำดื่มเพียงพอ ไม่มีแม้แต่ไฟฉายในกระเป๋าสำหรับส่องในยามค่ำคืน แต่ชาวบ้านเกือบทุกบ้านกลับพกเจ้าโทรศัพท์มือถือนี้ แถมมันยังทำหน้าที่ที่คนออกแบบไม่ได้คิดว่าไว้ก่อนคือ เป็นไฟฉายส่องทาง จนมีคนกล่าวว่ามันคือ “โคคาโคล่าของเทคโนโลยี” ในบางประเทศแถบอัฟริกาที่อัตราเงินเฟ้อสูง ทำให้แอร์ไทม์โทรศัพท์เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ใหม่ที่มีราคา คนถึงกับใช้อย่างประหยัด ผู้เขียนจำไม่ได้ว่าในประเทศไหน แต่คนในประเทศนั้นพัฒนาการส่งสัญญาณโทรศัพท์เป็นรหัสที่เป็นที่รู้กัน เช่น ถ้ายิงมาสองบี๊บ หมายถึงเจอกันที่หน้าร้าน ถ้าสามบี๊บให้รีบกลับไปที่จุดนัดพบด่วนหรือ ห้าบี๊บแสดงว่าเจอของต้องใจให้รีบแห่มาดูเป็นต้น
เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนอ่านบทความหนึ่งในนิตยสารนิวส์วีค เขาสรุปไว้ว่าเจ้าโทรศัพท์มือถือนี้ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมอย่างน้อย 5 เรื่อง ผู้เขียนเชื่อว่ามีมากกว่านี้แน่ ท่านลองคิดวิเคราะห์ดูเพิ่มเติมว่ามีอะไรบ้าง แต่สิ่งที่นิวส์วีคสรุปไว้มีดังนี้คือ
- เป็นเครื่องมือเปิดเผยความลับ– ปกติแล้วมนุษย์เราอยากรู้ความลับของคนอื่น ซึ่งหากเป็นบุคคลธรรมดา เราก็ไม่ควรไปรู้ แต่ถ้าเป็นสังคม เป็นสาธารณะที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของเรา เช่นความเป็นไปในเกาหลีเหนือที่ยังเป็นประเทศที่มีความลับชวนให้สนใจอีกมาก กลุ่มสิทธิมนุษยชนโลกจึงชักชวนให้ชาวเกาหลีเหนือแอบพกพาโทรศัพท์เข้าไปเพื่อจะได้รายงานความเป็นไปของประเทศนี้ให้กับโลกภายนอกได้รู้กัน ถึงแม้ว่าโทษของการพกพาโทรศัพท์โดยไม่ได้รับอนุญาตในเกาหลีเหนือมีโทษถึงตายได้ แต่คนก็ยังเสี่ยงที่อยากรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศแหล่งนี้
- ใช้เป็นเครื่องมือในการขยายประชาธิปไตย– แม้โลกจะก้าวเข้ามาในศตวรรษที่ 21 กว่า 10 ปีแล้ว แต่ก็มีหลายส่วนในโลกนี้ที่ยังไม่มีประชาธิปไตยเต็มใบเสียที ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แตกต่างกันไป แต่ประชาธิปไตยก็เป็นสิ่งที่กินไม่ได้ที่คนส่วนใหญ่แสวงหาและไขว่คว้าอยู่ การโค่นล้มมาร์คอสในฟิลิปปินส์ก็เกิดจากอิทธิพลของโทรศัพท์มือถือ และการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในเดือนพฤษภาคม 2535 ที่นำมาสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับที่เรียกได้ว่าดีที่สุดในปี 2540 ก็เกิดจากโทรศัพท์มือถือเหมือนกัน ครั้งหนึ่งโนเกียและซีเมนส์ เคยถูกกลุ่มรัฐสภายุโรปกล่าวหาว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการให้ท้ายกับประชาชนในการต่อต้านรัฐบาลกลาง อิทธิพลข้อนี้ของมันถือว่าเป็นคุณูปการอเนกอนันต์ เพราะมันเป็นเครื่องมือในการคานอำนาจของฝ่ายปกครองท้องถิ่นที่ใช้อำนาจในทางมิชอบ ผู้เขียนอยากให้มีการเปิดอบรมหลักสูตรการตรวจจับคอร์รัปชันด้วยโทรศัพท์มือถือจัง สังคมไทยโดยรวมจะพัฒนาได้เร็วขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
- ก่อให้เกิดช่องทางการค้าและระบบเศรษฐกิจใหม่ – ในประเทศที่ระบบธนาคารให้บริการไม่ครอบคลุม หรือการส่งเงินระหว่างประเทศมีต้นทุนสูง โทรศัพท์มือถือได้เข้ามาทำหน้าที่คนกลางนี้ เช่น การส่งเงินกลับประเทศของชาวฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งจำนวนเงินที่ส่งแต่ละครั้งไม่ได้มากพอที่ธนาคารจะให้ความสนใจอีกทั้งค่าธรรมเนียมที่คิดจากธนาคารก็สูงเกินไป ทำให้คนหันมาหาทางส่งเงินผ่านโทรศัพท์มือถือโดยมีนายหน้าประจำหมู่บ้านเป็นคนประสานให้ ในประเทศไทย คนที่พัฒนาระบบการโอนเงินผ่านมือถือเป็นนักศึกษาจบใหม่พม่าอพยพเข้ามาในประเทศไทยและหลังจากทำได้ไม่กี่ปีก็ได้ขายกิจการนี้ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ไป ทำเงินไปนับร้อยล้านบาท นอกจากนี้ เกษตรกรยังใช้มือถือในการหาตลาดสำหรับสินค้าเฉพาะด้านที่มีตลาดจำกัด ทำให้ต้นทุนในการหาและขายสูงไม่คุ้มค่ากับการขายในช่องทางปกติ เช่น บริการของ “รักบ้านเกิด” มีการส่ง SMS ถึงความต้องการสินค้าเกษตรแปลกๆ ที่หาจากตลาดปกติไม่ได้ จึงถือได้ว่า โทรศัพท์มือถือทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจซ้อนขึ้นมาและขยายตัวสูงขึ้นกว่าปกติ
- ใช้ในวงการสาธารณสุข- ในกลุ่มประเทศอัฟริกาที่การกระจายเวชภัณฑ์เป็นไปอย่างไม่ทั่วถึงและขาดแคลน มีใช้ระบบโทรศัพท์มือถือนี้ในการจัดสรรปันส่วนด้วยการดูจากจำนวน SMS ที่ถูกส่งเข้ามา แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะดูจากความเข้มข้นของความจำเป็นในการจัดสรรส่งเวชภัณฑ์ที่ขาดแคลนไปให้ตามลำดับความเร่งด่วน
- ใช้ในการก่อสงคราม กลุ่มตอลิบันในอัฟกานิสถานได้บังคับให้ปิดสัญญาณโทรศัพท์ในช่วงกลางคืน เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลใช้สัญญาณโทรศัพท์นี้เป็นตัวเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายกองกำลังผู้เขียนสงสัยว่า การที่กลุ่มนี้ไม่โจมตีเสาส่งโทรศัพท์มือถือเสียเลย ก็เพราะว่าพวกเขาก็ได้ประโยชน์จากการใช้เครือข่ายนี้เหมือนกัน และภาคใต้ของเราก็มีการใช้สัญญาณโทรศัพท์ในการจุดระเบิด ทำให้ต้นทุนในการก่อสงครามกับรัฐบาลกลางถูกลงเช่นกัน….