คำถามสำคัญสำหรับสังคมไทย
โดย พงษ์ ผาวิจิตร (ตีพิมพ์ในนิตยสาร Eworld ฉบับเดือน มีนาคม 2011)
ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า “..หากข้าพเจ้ามีเวลาหนึ่งชั่วโมงในการแก้ปัญหาสำคัญที่ความเป็นอยู่ของข้าพเจ้าขึ้นกับคำตอบของปัญหานั้น ข้าพเจ้าจะใช้เวลา 55 นาทีในการตั้งคำถามที่เหมาะสม แล้วใช้เวลาอีก 5 นาทีในการแก้คำถามที่ตั้งนั้น..
ในระบบการศึกษาของเยอรมันซึ่งถือว่าเป็นระบบการศึกษาที่ดีที่สุดระบบหนึ่งในโลก เขาจัดให้นักเรียนในระดับมัธยมปลายใช้เวลาราวสองปีในการตั้งคำถามกับระบบต่างๆ และสรรพสิ่งในโลก ตั้งคำถามไปทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องคุณภาพของอึ เทคโนโลยีทดแทนสิ่งที่มีอยู่ ระบบทุนนิยม พฤติกรรมของสัตว์ ฯลฯ สาระของการตั้งคำถามก็ไม่ได้ยึดติดกับว่าต้องหาคำตอบได้ทุกคำถาม บางคำถาม เราอาจต้องใช้เวลาตลอดชีวิตในการตอบ แต่อย่างน้อย ระบบการศึกษาอย่างนี้ ช่วยให้คนเรียนเห็นปัญหารอบด้าน และเข้าใจความเกี่ยวพันของสรรพสิ่ง มีความลุ่มลึกในสาเหตุของปัญหา สังคมไทยเอง ก็ได้พัฒนามาถึงจุดที่เราต้องกล้าที่จะตั้งคำถามหลักๆ กันแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาคำถามง่ายๆ เราก็สามารถหาคำตอบได้ เราต้องเริ่มตอนที่ยังมีมรดก มีทรัพยากรเหลืออยู่มากให้เราได้พัฒนาต่อไป ก่อนที่ทุกอย่างจะร่อยหรอเหมือนประเทศในอัฟริกา ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นแล้ว การมีปัญญาอาจจะไม่เพียงพอ เพราะไม่มีอะไรเหลือให้ได้ต่อยอดอีกแล้ว แต่สิ่งที่สังคมไทยต้องท้าทายก่อนคือ
- …ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่… ที่ไหนๆ ในโลกล้วนแต่บอกว่า ถ้าไม่เชื่อก็ต้องพิสูจน์ แต่ของเราเข้าทำนองว่าไม่เชื่อก็อย่าจับผิด แล้วเราก็มีความเชื่อตามมาว่า หากไม่ทัก ก็แสดงว่ายอมรับแล้ว
- …เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด.. แต่ระวังจะตกหลุมดำแทน
ถ้าหากประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่นๆ เราก็ต้องมีคำถามของเราเองที่ต้องตั้งเองและแก้ปัญหาเอง จะไปเที่ยวเรียนจากเมืองนอกเมืองนา เพียงเพื่อให้เขาบอกว่าเรามีปัญหาอะไร ก็เสียเวลาเปล่า เพราะหากเรื่องของเราเองยังไม่รู้ แล้วคนอื่นที่ไหนจะไปรู้ดีกว่าเรา.. บทความนี้จึงไม่มีอะไรมากไปกว่าที่จะเชิญชวนให้ผู้อ่านทุกๆ ท่านได้ลองตั้งคำถามกับสรรพสิ่งเกี่ยวกับตัวเอง ผู้เขียนเองเคยทดลองถามในชั้นเรียน ในวงสนทนาหลายๆ ครั้งแล้ว คนส่วนใหญ่ ล้วนบอกว่า เพิ่งรู้ว่าการตั้งคำถามนั้นยากกว่าการพยายามตอบแบบดำน้ำไปหลายเท่า บ่อยครั้งที่เวลานักเรียน นักศึกษาเห็นข้อสอบ มักจะบ่นว่ายาก แต่ครั้นเปลี่ยนใหม่ว่า ให้เป็นคนตั้งคำถามให้อาจารย์เป็นคนทำเอง ปรากฏกว่าส่วนใหญ่ก็ตั้งไม่ได้ ผู้เขียนเลยเสนอให้เริ่มดังนี้
- หาเวลาค่ำๆ วันหนึ่ง แล้วนั่งลงสัก 1 ชั่วโมง แล้วตั้งคำถามอะไรก็ได้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ พยายามให้ถึง 100 คำถาม..เคยทดสอบแล้ว ส่วนใหญ่มักจะมีคำถามวนไปวนมาคล้ายๆ ปัญหาก่อนๆ เมื่อตั้งไปแล้วสัก 20 คำถาม ดังนั้น จึงต้องพยายามให้ตั้งคำถามที่หลากหลาย
- ลองนั่งแบ่งกลุ่มปัญหาที่เราตั้งว่าเป็นกลุ่มไหนบ้าง..ผู้เขียนเคยสอนอยู่ชั้นหนึ่ง ปรากฏว่านักศึกษาตั้งคำถามเกี่ยวกับสินค้า/แฟชั่นเสียส่วนใหญ่ อย่างนี้ก็คงเดาได้ว่า เขา/เธอเตรียมที่จะใช้เงินมากกว่าเรียนไปเพื่อหาเงิน
- หาเวลาคิดคำนึงอีกสัก 1 สัปดาห์ …ว่าเรามีคำถามอะไรบ้างในด้านต่างๆ เช่น การงาน ..ครอบครัว.. เพื่อนฝูง… สังคม… และที่สำคัญ อื่นๆ ที่อาจคิดว่าไม่เกี่ยวกับเรา แต่ต้องไม่ลืมว่า เรากำลังอยู่ในยุค..เด็ดดอกไม้สะเทือนไปถึงดวงดาว.. เรื่องที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับเรา อาจจะมีผลกระทบมหาศาล อาทิเช่น เรานั่งรถเมล์ไปทำงานอยู่ดีๆ แล้วมีเด็กช่างกลยกพวกตีกันทำให้เราอยู่กลางวงล้อม เราจะทำอย่างไร?
..แล้วสังคมไทยโดยส่วนรวมในขณะนี้มีคำถามอะไรที่เราต้องช่วยกันหาคำตอบ..หลายๆ คำถามเป็นคำถามที่เราไม่กล้าคิดและไม่กล้าถาม แต่การที่เราไม่ถาม ก็ใช่ว่าปัญหาจะหมดไป เสมือนหนึ่งนกกระจอกเทศที่มีวิธีการหนีศัตรูโดยการซุกหัวในทราย เพียงเพื่อไม่เห็นศัตรูแล้วก็เชื่อว่า ไม่มีศัตรู หารู้ว่า การยืนก้นโด่งอย่างนั้น จะกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของศัตรูนักล่า โชคดีที่มันไปเกิดในออสเตรเลีย ดินแดนที่ไม่มีเจ้าป่าอย่างสิงห์โต หรือเสือ มิเช่นนั้น พวกเราคงไม่มีวันรู้ว่าบนโลกใบนี้มีนกชนิดนี้อยู่ แต่นกกระจอกเทศไม่ได้อยู่ในกระแสโลกาภิวัฒน์แบบสังคมมนุษย์ มันก็ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์ของมันได้อยู่ต่อไป แต่สำหรับสังคมไทยที่เลือกเข้าไปสู่โลกาภิวัฒน์ จะทำเยี่ยงนกกระจอกเทศไม่ได้ มิเช่นนั้น ประเทศไทยคงหายไปจากแผนที่โลก ซึ่งโอกาสเกิดคงน้อยมากๆ ยกเว้นเสียแต่จะเกิดแผ่นดินแยก โลกาวิบัติจนทำให้นานาประเทศหายไปพร้อมกัน แต่อย่างไรก็ตาม ก็อยากท้าทายด้วยคำถามบางคำถามที่เราคนในสังคมต้องกล้าถาม เพื่อจะได้หาคำตอบหลีกเลี่ยงผลกระทบของมันให้น้อยที่สุดเช่น…
- มีใคร ประเทศไหนที่จะรับผิดชอบ ช่วยประเทศไทยได้บ้าง?
- ประเทศไทยจะหายวุ่นวายทางการเมืองภายในสามปีข้างหน้าไหม แล้วจะมีกลุ่มสีอะไรอีกออกมาเคลื่อนไหว
- สังคมไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนถ่ายอะไรบ้าง ที่หลีกเลี่ยงยาก และผลกระทบของการเปลี่ยนถ่ายเหล่านั้นจะเกิดอะไรขึ้น สังคมไทยได้เตรียมการรับมือหรือยัง ขนาดน้ำท่วมโลกในสมัยโบราณ คนสมัยก่อนยังรู้จักสร้างเรือโนอาห์ แล้วเราทำอะไรกันบ้างหรือยัง
- ทำไมต่างชาติต้องมาลงทุนในไทยอย่างไม่หยุดหย่อน หากเรามีดีจริง ทำไมเราส่งเสริมการลงทุนมานับสิบปี ก่อนจีนเสียด้วยซ้ำ แล้วทำไมเราไม่ทำเอง ในเมื่อเรียนรู้จากต่างชาติมานับสิบปีแล้ว หรือ.. เราจะยอมรับว่า..เราฉลาดน้อยกว่าประเทศที่กำลังไล่เรามาติดๆ อย่างเวียดนาม..พม่า (หากเปิดประเทศเมื่อไร เชื่อว่าคงติดเทอร์โบทันที)
- เราเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก แล้วเราทำไมไม่เปิดสอนวิชาร่างรัฐธรรมนูญขาย หรือส่งออกรัฐธรรมนูญเวอร์ชันต่างๆ เป็นสินค้าออกเสียเลย
- โอเปคกุมกำลังการผลิตน้ำมันไม่ถึง 30 % ของโลก และไทยเราเองก็เป็นประเทศผู้ผลิต ข้าว ทุเรียน ยางพารา ไก่ ฯลฯ แต่ทำไมเรายังกำหนดราคาในตลาดโลกไม่ได้ หรือพ่อค้าคนกลางมีกำไรมากพอแล้ว เนื่องจากไปกดขี่เกษตรกรผู้ผลิต แต่ใจดีไปให้ส่วนลดกับคนซื้อมากไป?
- เราไม่เชื่อนักการเมือง แล้วทำไมเราถึงให้นักการเมืองที่เราไม่เชื่อมาปกครองเรา เส้นทางการเข้ามาของพวกเขา ก็พวกเราเป็นคนกำหนดทั้งสิ้น และเวลาในการกำหนดก็สั้นๆ แค่ 4 ปี แล้วเราทำไมถึงเริ่มต้นใหม่ไม่ได้สักทีในสังคมไทย
- หน่วยงาน องค์กรอะไรบ้างที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด และมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศของเราอย่างไรบ้าง
- รัฐบาลจะช่วยเราได้อย่างไร ขนาดรัฐบาลเองยังช่วยตัวเองไม่ได้เลย และเมื่อคนไทยไม่ยอมเสียภาษี รัฐบาลไปทอดแหเอาเงินจากไหนมาพัฒนาประเทศ?
- ทำไมบริษัทต้องรับประกันเสถียรภาพในการทำงานของเรา ก็เมื่อบริษัทอยู่ได้ด้วยเรา แล้วเสถียรภาพของบริษัทมาจากไหน?
- ประเทศไทยมีศักยภาพเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอาเชี่ยนและประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในระนาบการพัฒนาใกล้เคียงกับเราขนาดไหน เมื่อเทียบกับ เกาหลี ไต้หวัน อียิปต์ ตุรกี บราซิล ฯลฯ
- ถ้าเราจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อให้อยู่รอด เราต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง 10 อย่างแรก
- ฯลฯ
คำตอบของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน แต่หากเรารวมความคล้ายของคำตอบ เราก็จะได้ทิศทางของประเทศไทย แต่ถ้าเราไม่เริ่มถาม ก็ไม่มีทิศทางของประเทศอีกต่อไป ..นั่นอาจเป็นทางเลือกของประเทศชาติก็ได้ เขียนมาเพื่อหวังว่าจะได้จุดประกายให้คนไทยทั้งชาติได้เปิดตาดู แสงสว่างนั้นสาดส่องทั่วไทยอยู่แล้ว ขอเพียงเราไม่ปิดตา ก็มองเห็นทางเอง..