06/10/2023

คลื่นลูกที่ 5 ของเทคโนโลยีมวลชน!

โดย พงษ์ ผาวิจิตร (ตีพิมพ์ในนิตยสาร Eworld ฉบับเดือน กรกฎาคม 2011)

เคยมีนักเขียนคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ คือ สิ่งที่ทำให้ความฝันของคาร์ล มาร์ก เจ้าพ่อทฤษฎีคอมมิวนิสต์กลายเป็นจริง เพราะสิ่งประดิษฐ์ใหม่ในสาขานี้ทำให้เกิดการกระจายอำนาจต่อรองให้กับมวลชนอย่างแท้จริง แถมยังเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับรัฐบาลกลางโดยไม่จำเป็นต้องมีกองทัพเหมือนในอดีต เช่น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางเมื่อเร็วๆ นี้ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันในหลายประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลายๆ ประเทศในระยะหลังนี้ก็เกิดจากเครื่องมือเหล่านี้มากกว่าจะเป็นผลงานของผู้นำคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวเหมือนอดีตที่ผ่านมา นับจากนี้ไป ผู้กำหนดประวัติศาสตร์ใหม่ของมนุษยชาติคือมวลชน ไม่ใช่เจ้าผู้ครองนครเพียงไม่กี่คน ดังที่เป็นมาในประวัติศาสตร์สี่ห้าพันปีก่อน

หากเรามองรวมๆ แค่เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศก็อาจจะได้ภาพเบลอๆ แต่ถ้ามองปลีกย่อยไปหน่อย ก็จะพบว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งมวลก่อให้เกิดคลื่น 4 ลูกในช่วงเวลาเพียง 30-40 ปีที่ผ่านมา คลื่นทั้งสี่ลูกคืออะไร?…แล้วทำไมผู้เขียนถึงอหังการ์ตั้งชื่อเรื่องว่า คลื่นลูกที่ 5….

คลื่นลูกที่หนึ่งคือการเกิดของคอมพิวเตอร์เมนเฟรมในช่วงทศตวรรษ 70-80 หรือประมาณ 30-40 ปีก่อน มันเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทุกหน่วยงานล้วนอยากเป็นเจ้าของหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม การกระจายอำนาจจากรัฐส่วนกลางสู่เอกชนเริ่มให้เห็นเมื่อบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ก็สามารถเป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ที่มีอำนาจประมวลผลมหาศาลนี้ได้

คลื่นลูกที่สอง เกิดจากชายสามคนคือ สตี๊ฟ จ๊อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ล บิล เกตเจ้าพ่อไมโครซอฟท์และนายมัวร์ ผู้ก่อตั้งอินเทล ก็ทำให้เกิดคลื่นลูกที่สอง คือไม่เพียงแต่ทำให้เอกชนเป็นเจ้าของอำนาจในการคำนวณประมวลผล แต่ทั้งสามคนก่อให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ปัจเจกชนคนธรรมดาก็เป็นเจ้าของอำนาจการประมวลผลได้ การมาถึงของคลื่นลูกที่สองนี้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 80-90 ที่ก่อให้เกิดสิ่งประดิษฐที่เรียกว่า “คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊”

คลื่นลูกที่สามคือเจ้า “โน้ตบุ๊ก” ที่พัฒนาต่อยอดจากคลื่นลูกที่สองในช่วงทศตวรรษ 90 ถึงปี 2000 คลื่นลูกที่สามให้กำลังการคำนวณไม่ต่างจากคลื่นลูกที่สองสักเท่าไร แต่ที่เพิ่มขึ้นมาคือ ให้อำนาจคนสามารถหิ้วพลังการประมวลผลไปกับตัวพร้อมๆ กับคลังเก็บข้อมูลขนาดใหญ่.. แค่สองคุณลักษณะที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาล ที่ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมหลายๆ อย่างในสังคม

คลื่นลูกที่สี่คือ “โทรศัพท์มือถือ” ที่เกี่ยวแขนสมรู้ร่วมคิดกับเจ้าแลปทอปเดินสายส่งอิทธิพลไปทั่วโลกในช่วงสิบปีที่ผ่าน แม้แต่ประเทศด้อยพัฒนาที่ไม่มีอำนาจในการลงทุนเทคโนโลยีระดับสูง อย่างประเทศในอัฟริกาที่ชาวเผ่าดั้งเดิมใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือในการเลี้ยงฝูงปศุสัตว์เร่ร่อนอาชีพเก่าแก่ที่สืบทอดกันมานับพันๆ ปี เรียกได้ว่าสิ่งที่เป็นโบราณสุดๆ สามารถเดินทางไปด้วยกันได้กับสิ่งที่ทันสมัยสุดๆ โดยไม่มีช่องว่างของสถานะ หรือชนชั้นมาขวางกั้น หากพิจารณาดูสิ่งประดิษฐ์ใหม่ในคลื่นลูกที่สี่ ก็จะพบว่าไม่ได้เป็นเครื่องจักรผลิตอะไรเพิ่มเติมได้ เพียงแต่ทำให้อำนาจการสื่อสารของมวลชนก้าวข้ามอุปสรรคด้านสถานที่เท่านั้น ฟังดูแล้วอาจจะไม่เห็นความมหัศจรรย์ใดๆ แต่หากพิจารณาดูสิ่งพิมพ์ที่ในทางกายภาพแล้วก็มีแต่กระดาษกับตัวหนังสือ ไม่มีอำนาจขั้นแรกในการยกรถ ทำให้ข้าวงอกเร็วขึ้น หรือผลิตเสื้อผ้าได้สวยขึ้น แต่มันก่อให้เกิดอำนาจในการเปลี่ยนแปลงขั้นที่สองที่มหาศาลกว่า ทรงพลังกว่า และกระจายเป็นวงกว้างกว่า กล่าวคือ ต้องมีคนอ่านแล้วถอดรหัสนำไปสู่การปฏิบัติที่สามารถทำให้เกิดพลังในการยกรถหลากหลายแบบ ทำให้เกิดการผลิตข้าวหลากหลายวิธีในหลากหลายพื้นที่ หรือทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์สิ่งทอได้จำนวนมหาศาล

แล้วคลื่นลูกที่ห้าคืออะไร… จากนี้ไปหลายคนกำลังจับตาถึงความเปลี่ยนแปลงมหาศาลที่กำลังจะเกิดขึ้นจากคลื่นลูกที่ห้านี้… มันคือลูกหลานของแลปทอปที่เรียกว่า แทบเล็ต อีกเช่นกัน หากมองในเชิงกายภาพแล้วไม่เห็นว่าจะมีอะไรน่าสนใจ ไม่เห็นว่ามันจะต่างอะไรจากเจ้าแลปทอป แถมมีกำลังการทำงานที่ด้อยกว่าด้วยซ้ำ หากมองเพียงเช่นนั้น ก็แสดงว่าเรายังขาดมิติในการมอง นักวิทยาศาสตร์เคยกล่าวไว้ว่ามนุษย์เรามียีนต์แตกต่างจากลิงที่ฉลาดที่สุดไม่ถึง 2% และนี่เองที่ทำให้มนุษย์เรามีภาษา มีวัฒนธรรม สร้างอารยธรรมได้จนทำให้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตสิ่งเดียวบนโลกนี้ที่ใช้ประโยชน์จากไฟได้ ประดิษฐ์ภาษาพูดที่แตกต่างกันได้ เจ้าแทบเล็ตนี้ก็เช่นกัน ตัวมันเองคงไม่มีพลังอำนาจไปสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้ แต่มันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อุตสาหกรรมแรกๆ ที่จะถูกกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ “การศึกษา” เอาแค่ว่า จำนวนคนใช้ที่จะไต่ระดับร้อยล้านภายในปีเดียว ก็สามารถทำให้สิ่งพิมพ์หายไปจากตลาดนับพันล้านรายการแล้ว ถึงตรงนี้ยังอาจจะเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่ามันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และคนๆ หนึ่งอย่างผู้เขียนก็ไม่มีความสามารถจะไปตอบแทนคนใช้นับพันล้านคนภายในเวลาหนึ่งปีได้ แต่จะขอฝากคำพูดหนึ่งของไอน์สไตน์ที่เคยกล่าวไว้ว่า..

……พลังงานของอะตอมสามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในจักรวาลได้ ยกเว้น ..จิตใจมนุษย์…

และแทบเล็ตคือสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงจิตใจมนุษย์ในการรับรู้ ตีความสิ่งต่างๆ ท่านลองจินตนาการดูว่า ในสภาพสังคมปัจจุบันนี้ที่ปัจจัยการผลิตทุกอย่างมีพร้อม ขาดเพียงอย่างเดียวคือจินตนาการในการใช้ปัจจัยการผลิตเหล่านั้น และถ้าแทบเล็ตคือประตูการปลดปล่อยพลังจินตนาการออกมา ท่านก็ลองคิดว่า โลกจะเปลี่ยนแปลงเร็วขนาดไหน?

Leave a Reply